Programmed cell death protein-1 หรือ programmed death protein-1 (PD-1) เป็นโปรตีนอยู่ที่เซลล์เมมเบรนของเซลล์หลายชนิดรวมทั้ง T cell ทำหน้าที่เป็น immune checkpoint ชนิด inhibitory checkpoint ขัดขวางการปลุกฤทธิ์และการทำหน้าที่ของ T cell จับได้กับลิแกนด์ 2 ชนิด คือ programmed death ligand-1 (PD-L1) และ programmed death ligand-2 (PD-L2) มีบทบาทสำคัญในการลดการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน ยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้ง inhibitory checkpoint (ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันกลับมาทำหน้าที่ได้) ไม่ว่าจะออกฤทธิ์ต่อ PD-1 หรือ PD-L1 จึงมีบทบาทในการรักษาโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ ปัจจุบันมียาในกลุ่ม monoclonal antibodies หลายชนิดที่นำมาใช้แล้ว มีทั้งชนิดที่ออกฤทธิ์ต่อ PD-1 เช่น pembrolizumab, nivolumab และชนิดที่ออกฤทธิ์ต่อ PD-L1 เช่น atezolizumab, avelumab, durvalumab และเมื่อเร็ว ๆนี้มียาใหม่ที่ออกฤทธิ์ต่อ PD-1 คือ dostarlimab (ชื่ออื่น: dostarlimab gxly การเรียกชื่อยาที่มีอักษร 4 ตัวต่อท้ายชื่อหลัก ดูข้อมูลในเรื่อง
ชื่อยายุคใหม่...บอกข้อมูลเบื้องต้นได้ (ตอนที่ 2)) ได้รับอนุมัติแบบเร่งด่วนในบางประเทศให้ใช้รักษาโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกในผู้ใหญ่รายที่มี mismatch repair-deficiency ที่โรคกลับมาเป็นอีกหรือลุกลามแม้ได้รับการรักษาด้วย platinum-containing regimen ยานี้เป็น humanized IgG4 monoclonal antibody ผลิตในรูปยาน้ำใสหรือออกเหลือบ ไม่มีสีหรือสีออกเหลือง สำหรับให้เข้าหลอดเลือดดำ บรรจุในขวดยาฉีดสำหรับการให้ครั้งเดียว มีตัวยา 500 มิลลิกรัมในปริมาตร 10 มิลลิลิตร ใช้ในขนาดครั้งละ 500 มิลลิกรัม ทุก 3 สัปดาห์ จำนวน 4 ครั้ง ต่อจากนั้นให้ครั้งละ 1,000 มิลลิกรัม ทุก 6 สัปดาห์ ใช้เวลาหยดยาเข้าหลอดเลือดดำแต่ละครั้ง 30 นาที
มีการศึกษาทางคลินิกที่สนับสนุนประสิทธิภาพของ dostarlimab เป็น multicenter, multicohort, open-label study ในผู้ป่วยโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกจำนวน 71 คน ที่มี mismatch repair-deficiency ที่โรคกลับมาเป็นอีกหรือลุกลามแม้ได้รับการรักษาด้วย platinum-containing regimen ผู้ป่วยเหล่านี้ไม่เคยได้รับ PD-1/PD-L1–blocking antibodies หรือยา immune checkpoint inhibitor ชนิดอื่น และไม่ได้รับการรักษาด้วย systemic immunosuppressants ภายในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ให้ยา dostarlimab ขนาด 500 มิลลิกรัม ทุก 3 สัปดาห์ จำนวน 4 ครั้ง ต่อจากนั้นให้ขนาด 1,000 มิลลิกรัม ทุก 6 สัปดาห์ ให้ยาไปจนกว่าจะควบคุมโรคไม่ได้ (โรคลุกลาม) หรือจนกว่าจะทนต่ออาการพิษจากยาไม่ได้ ประเมินผลด้วย overall response rate (ORR) และ duration of response (DOR) ผลการศึกษาพบว่ามี ORR 42.3% (complete response 12.7% และ partial response 29.6%) ส่วน DOR ≥6 เดือนมี 93.3% ผลไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อย (≥20%) ได้แก่ อ่อนล้า/อาการอ่อนแรง คลื่นไส้ ท้องเดิน โลหิตจาง และท้องผูก
อ้างอิงจาก:
(1) Jemperli (dostarlimab-gxly) injection, for intravenous use. Highlights of prescribing information. Reference ID: 4783636, revised: 04/2021. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2021/761174s000lbl.pdf; (2) Green AK, Feinberg J, Makker V. A review of immune checkpoint blockade therapy in endometrial cancer. Am Soc Clin Oncol Educ Book 2020;40:1-7.