หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

วัคซีนโควิด-19…การพัฒนาสู่รูปแบบที่ไม่ใช้เข็มฉีดยา

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 2 เดือน กุมภาพันธ์ ปี 2564 -- อ่านแล้ว 3,817 ครั้ง
 
การพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันโควิด-19 ยังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง ขณะนี้มีวัคซีนโควิด-19 ออกใช้แล้วหลายผลิตภัณฑ์ วัคซีนเหล่านั้นไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุมัติทะเบียนอย่างสมบูรณ์ (full authorization) หรือผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุมัติให้ใช้กรณีฉุกเฉิน (emergency use authorization) ล้วนเป็นชนิดฉีดผ่านเข็มฉีดยา (ดูข้อมูลเพิ่มเติมเรื่อง วัคซีนโควิด-19 ชนิดที่นำมาใช้แล้ว) ในการฉีดวัคซีนผ่านเข็มทำให้เจ็บปวดบริเวณที่ฉีดซึ่งหลายคนไม่ชอบหรือมีความกลัวเข็มฉีดยา ยิ่งต้องมีการฉีดกระตุ้นในครั้งที่สองจะเพิ่มความไม่สะดวกที่ต้องเดินทางมาสถานพยาบาลอีก ทำให้บางคนมารับวัคซีนในครั้งที่สองไม่ตรงตามกำหนดหรือไม่มาเลย การฉีดวัคซีนผ่านเข็มฉีดยายังเสี่ยงต่อการติดเชื้อขณะฉีดและการเกิดอุบัติเหตุจากเข็มฉีดยา นอกจากนี้การเร่งรีบพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 ทำให้การพัฒนาตำรับมีข้อจำกัด อาจมีความคงตัวไม่ดีจึงต้องแช่แข็ง จึงมีความยุ่งยากในการขนส่งและเสียค่าใช้จ่ายมาก อีกทั้งบางหน่วยงานขาดความพร้อมในการจัดเก็บวัคซีน

จากข้อจำกัดบางอย่างของวัคซีนโควิด-19 ชนิดฉีดผ่านเข็มดังกล่าวข้างต้น จึงมีการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 สู่รูปแบบที่ไม่ใช้เข็มฉีดยา ซึ่งเทคโนโลยีการให้ยารวมถึงวัคซีนแบบไม่ใช้เข็มฉีดยาได้มีการพัฒนามานานและนำออกมาใช้แล้ว ในกรณีวัคซีนโควิด-19 ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาสู่รูปแบบไม่ใช้เข็มฉีดยา เช่น วัคซีนชนิดฉีดแบบไร้เข็ม วัคซีนชนิดให้ทางจมูก วัคซีนชนิดกิน วัคซีนชนิดแผ่นติดผิวหนัง ซึ่งวิธีการให้วัคซีนเหล่านี้ไม่ทำให้เจ็บ จึงคาดว่าจะเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในผู้ที่กลัวเข็มฉีดยา การให้วัคซีนในรูปแบบที่กล่าวมา (ยกเว้นชนิดฉีดแบบไร้เข็ม) สามารถเรียนรู้และให้วัคซีนได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องอาศัยบุคลากรสาธารณสุข จึงเพิ่มความสะดวก ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปสถานพยาบาล ช่วยให้การกระตุ้นภูมิคุ้มกันในการรับวัคซีนครั้งที่สองเป็นไปได้มากขึ้น ทำให้โครงการป้องกันโรคระบาดประสบความสำเร็จสูง ในการให้วัคซีนรูปแบบที่ไม่ใช้เข็มฉีดยาอาจนำมาใช้โดยสมบูรณ์ คือให้ครั้งแรกและให้ครั้งที่สองเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (กรณีที่ต้องกระตุ้นภูมิคุ้มกัน) หรือนำมาใช้เฉพาะการให้ครั้งที่สองเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันภายหลังได้รับวัคซีนครั้งแรกโดยการฉีดผ่านเข็มมาแล้ว วัคซีนที่นำมาพัฒนาเป็นรูปแบบที่ไม่ใช้เข็มฉีดยามีทั้งวัคซีนชนิดใหม่และวัคซีนที่นำมาใช้แล้ว คาดว่าวัคซีนโควิด-19 รูปแบบที่ไม่ใช้เข็มฉีดยานี้อาจมีบทบาทมากภายหลังพ้นการระบาดครั้งใหญ่ไปแล้ว

การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 สู่รูปแบบที่ไม่ใช้เข็มฉีดยา กรณีที่เป็น วัคซีนชนิดฉีดแบบไร้เข็ม (ให้แบบ needle-free jet injection) ตัวอย่างเช่น DIOS-CoVax เป็นวัคซีนชนิดดีเอ็นเอ, COVIGEN เป็นวัคซีนชนิดดีเอ็นเอ, Pfizer COVID-19 vaccine เป็นวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ; วัคซีนชนิดให้ทางจมูก เช่น AdCOVID เป็นวัคซีนชนิดที่มีอะดีโนไวรัสเป็นพาหะ (adenoviral vector vaccine), COVI-VAC เป็นวัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ (live attenuated vaccine); วัคซีนชนิดกิน เช่น VXA-CoV2-1 เป็นวัคซีนชนิดที่มีอะดีโนไวรัสเป็นพาหะ, bacTRL-Spike เป็นวัคซีนชนิดดีเอ็นเอ, OraPro-COVID-19 เป็นวัคซีนชนิดที่มีอะดีโนไวรัสเป็นพาหะ; วัคซีนชนิดสูดทางปาก (orally inhaled vaccine) เช่น ChAdOx1 nCov-19 เป็นวัคซีนชนิดที่มีอะดีโนไวรัสเป็นพาหะ, Imperial’s saRNA vaccine เป็นวัคซีนชนิดอาร์เอ็นเอ (saRNA หรือ self-amplifying RNA); วัคซีนชนิดแผ่นติดผิวหนัง เช่น PittCoVacc เป็นวัคซีนชนิดซับยูนิต (S1 subunit vaccine), Vaxxas’ Nanopatch vaccine ซึ่งอยู่ระหว่างวางแผนในการพัฒนา

อ้างอิงจาก:

(1) Wang J, Peng Y, Xu H, Cui Z, Williams RO III. The COVID-19 vaccine race: challenges and opportunities in vaccine formulation. AAPS PharmSciTech 2020. doi: 10.1208/s12249-020-01744-7; (2) Frederiksen LSF, Zhang Y, Foged C, Thakur A. The long road toward COVID-19 herd immunity: vaccine platform technologies and mass immunization strategies. Front Immunol 2020. doi:10.3389/fimmu.2020.01817; (3) Cennimo DJ, Bergman SJ. COVID-19 vaccines, updated: January 29, 2021. https://emedicine.medscape.com/article/2500139-overview; (4) Apostolopoulos V, Husaric M, de Courten MA. COVID-19 vaccine may come without a needle, the latest vaccine to protect without jabbing. https://theconversation.com/a-covid-19-vaccine-may-come-without-a-needle-the-latest-vaccine-to-protect-without-jabbing-146564.
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้