Lemborexant..orexin receptor antagonist ชนิดใหม่สำหรับรักษาภาวะนอนไม่หลับ
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน มกราคม ปี 2563 -- อ่านแล้ว 17,446 ครั้ง
ปัจจุบันมียาหลายกลุ่มที่ใช้รักษาภาวะนอนไม่หลับ (insomnia) เช่น gamma-aminobutyric acid type A (GABA-A) receptor modulators, histamine receptor antagonists, melatonin receptor agonists ยาเหล่านี้มีอาการไม่พึงประสงค์หลายอย่าง เช่น ง่วงนอนช่วงกลางวัน รบกวนกระบวนการทางสติปัญญาหรือเชาวน์ปัญญา (cognitive function) สับสน เวียนศีรษะ การเคลื่อนไหวของร่างกายผิดปกติ การติดยา เป็นต้น จึงมีการคิดค้นยาชนิดใหม่อย่างต่อเนื่อง จากการที่พบว่า orexins (มีทั้ง orexin A หรือ hypocretin-1 และ orexin B หรือ hypocretin-2 สารนี้เป็น neuropeptides หลั่งจาก orexin neurons ซึ่งส่วนใหญ่พบที่ไฮโปทาลามัส) มีบทบาทในการควบคุมรอบการหลับ-การตื่น โดยกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัว ดังนั้นการยับยั้งที่ตัวรับของ orexins (orexin receptor antagonists) จึงกดการตื่นตัวและทำให้หลับ ยาตัวแรกในกลุ่มนี้ที่ใช้รักษาภาวะนอนไม่หลับ คือ suvorexant ยานี้ออกฤทธิ์เป็นแบบ dual orexin receptor antagonist คือจับกับตัวรับได้ทั้ง orexin 1 receptor (OX1R หรือ HCRTR1) ซึ่งเป็นตัวรับของ orexin A หรือ hypocretin-1 และ orexin 2 receptor (OX2R หรือ HCRTR2) ซึ่งเป็นตัวรับของ orexin B หรือ hypocretin-2 (ดูข้อมูลเพิ่มเติม เรื่อง “Suvorexant...orexin receptor antagonist รักษาภาวะนอนไม่หลับ” ได้ที่ https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/news_week_full.php?id=1247) และเมื่อเร็ว ๆ นี้มียาใหม่ในกลุ่มนี้ออกวางจำหน่าย คือ lemborexant
Lemborexant ออกฤทธิ์เป็นแบบ dual orexin receptor antagonist เช่นเดียวกับ suvorexant ค่าการยับยั้ง (half maximal inhibitory concentration; IC50) ที่ตัวรับทั้งสองคือ OX1R และ OX2R เท่ากับ 6.1 nM และ 2.6 nM ตามลำดับ ยาถูกเปลี่ยนสภาพได้เมแทบอไลต์ตัวหลักที่มีฤทธิ์เช่นเดียวกัน โดยมีค่า IC50 ที่ตัวรับทั้งสองเท่ากับ 4.2 nM และ 2.9 nM ตามลำดับ ยาดังกล่าวผลิตในรูปเป็นยาเม็ดความแรง 5 และ 10 มิลลิกรัม ใช้รักษาภาวะนอนไม่หลับในผู้ใหญ่รายที่หลับยากและ/หรือตื่นบ่อย เนื่องจากยาช่วยให้หลับได้ง่ายและหลับตลอดช่วงกลางคืน ขนาดยาที่แนะนำคือ 5 มิลลิกรัม รับประทานทันทีก่อนเข้านอนและต้องมีเวลานอนเพียงพอไม่น้อยกว่า 7 ชั่วโมง รับประทานไม่เกินคืนละ 1 เม็ด หากขนาดดังกล่าวให้ผลไม่เพียงพอและผู้ป่วยทนต่ออาการข้างเคียงได้ดี สามารถเพิ่มขนาดยาเป็น 10 มิลลิกรัมซึ่งเป็นขนาดยาสูงสุด อาการไม่พึงประสงค์ที่พบ เช่น ง่วงซึม (ซึ่งพบบ่อย) ปวดศรีษะ
อ้างอิงจาก:
(1) Herring WJ, Roth T, Krystal AD, Michelson D. Orexin receptor antagonists for the treatment of insomnia and potential treatment of other neuropsychiatric indications. J Sleep Res 2019. doi:10.1111/jsr.12782; (2) Rosenberg R, Murphy P, Zammit G, Mayleben D, Kumar D, Dhadda S, et al. Comparison of lemborexant with placebo and zolpidem tartrate extended release for the treatment of older adults with insomnia disorder: a phase 3 randomized clinical trial. JAMA Netw Open 2019. doi:10.1001/jamanetworkopen.2019.18254; (3) Dayvigotm (lemborexant) tablets. Highlights of prescribing information. Reference ID: 4538172, revised: 12/2019. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2019/212028s000lbl.pdf