Gepants…ยากลุ่มใหม่สำหรับรักษาโรคไมเกรน
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือน มกราคม ปี 2563 -- อ่านแล้ว 6,512 ครั้ง
โรคไมเกรน (migraine) เป็นโรคทางระบบประสาทที่มีความซับซ้อน มีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงร่วมกับอาการอื่น อาการปวดศีรษะมักเกิดข้างเดียว ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด มีสมมุติฐานหรือแนวคิดมากมายที่นำมาอธิบายถึงสาเหตุและอาการของโรคนี้ รวมถึงการเกิดภาวะการขยายตัวของหลอดเลือดแดงในกะโหลก (cranial arterial vasodilatation) และการอักเสบที่เกิดจากประสาท (neurogenic inflammation) ยาที่นำมาใช้รักษาและ/หรือป้องกันโรคไมเกรนจึงมีหลายกลุ่มซึ่งมีการออกฤทธิ์ที่ต่างกัน เช่น ยาบรรเทาปวดที่ใช้ทั่วไป (analgesics), ergot alkaloids, beta blockers, anticonvulsants (antiepileptic drugs), tricyclic antidepressants, calcium-channel blockers, nonsteroidal anti-inflammtory drugs (NSAIDs), triptans นอกจากนี้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีข้อมูลสนับสนุนบทบาทของ calcitonin gene-related peptide (CGRP) ที่เกี่ยวข้องกับพยาธิสรีรภาพของโรคไมเกรน สารดังกล่าวมีฤทธิ์แรงในการขยายหลอดเลือดและเป็นสารก่อการอักเสบ เชื่อว่า CGRP เกี่ยวข้องกับการกระตุ้นและการส่งสัญญานความเจ็บปวดภายใน trigeminovascular pathways โดยทำงานร่วมกับ neuromediators อื่น ๆ
แม้ว่ายาในกลุ่ม triptans (ออกฤทธิ์จับกับตัวรับ 5-HT1B และ 5-HT1D เช่น sumatriptan, eletriptan, rizatriptan) จะเป็นยาที่มีบทบาทสำคัญและมีประสิทธิภาพมากในการรักษาโรคไมเกรนเฉียบพลัน แต่ยาในกลุ่มนี้ล้วนทำให้หลอดเลือดหดตัว จึงห้ามใช้กับผู้ที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคความดันโลหิตสูงที่คุมอาการไม่ได้ จากข้อมูลเกี่ยวกับบทบาทของ CGRP ในโรคไมเกรน จึงมีการพัฒนายาที่ขัดขวางการออกฤทธิ์ของสารนี้ ซึ่งยาที่ออกฤทธิ์ดังกล่าวไม่ทำให้หลอดเลือดหดตัว ยาที่ประสบความสำเร็จอย่างมากและวางจำหน่ายแล้วเป็นยาชีววัตถุในกลุ่ม monoclonal antibodies ซึ่งมีทั้งชนิดที่ออกฤทธิ์จับโดยตรงกับ CGRP เช่น fremanezumab, galcanezumab และชนิดที่ออกฤทธิ์จับกับตัวรับของ CGRP เช่น erenumab ส่วนยาเคมีสังเคราะห์ที่ออกฤทธิ์เป็น CGRP receptor antagonists (อาจเรียกเป็น “targeted CGRP small molecule antagonists” เมื่อเทียบกับ “anti-CGRP monoclonal antibodies” ซึ่งมีโมเลกุลขนาดใหญ่) แม้จะเริ่มมีการพัฒนามาก่อนยาชีววัตถุ อีกทั้งยารุ่นแรก (first-generation CGRP receptor antagonists หรือ first-generation gepants) เช่น telcagepant, olcegepant มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคไมเกรนและบางชนิดยังให้ผลในการป้องกันได้อีกด้วย แต่ยาเหล่านั้นมีปัญหาด้านเภสัชจลนศาสตร์และด้านความเป็นพิษ จึงไม่มียาใดออกวางจำหน่าย สำหรับยารุ่นที่ 2 (second-generation CGRP receptor antagonists หรือ second-generation gepants) มีหลายชนิด เช่น atogepant, rimegepant, ubrogepant และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ubrogepant ได้รับอนุมติให้วางจำหน่ายแล้วในบางประเทศในข้อบ่งใช้สำหรับรักษาโรคไมเกรนเฉียบพลัน ไม่ว่าจะมีอาการนำ/อาการเตือน (aura) เกิดขึ้นหรือไม่มีก็ตาม ยานี้ผลิตในรูปยาเม็ด ความแรง 50 และ 100 มิลลิกรัม ขนาดที่แนะนำคือ รับประทานครั้งละ 50 หรือ 100 มิลลิกรัม ขึ้นกับอาการ และหากจำเป็นต้องรับประทานอีกครั้งต้องห่างจากครั้งแรกไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง ทั้งนี้ขนาดยาสูงสุดในช่วง 24 ชั่วโมง คือไม่เกิน 200 มิลลิกรัม อาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อย ได้แก่ คลื่นไส้และง่วงนอน
อ้างอิงจาก:
(1) Do TP, Guo S, Ashina M. Therapeutic novelties in migraine: new drugs, new hope? J Headache Pain 2019. doi:10.1186/s10194-019-0974-3; (2) Dodick DW, Lipton RB, Ailani J, Lu K, Finnegan M, Trugman JM, et al. Ubrogepant for the treatment of migraine. N Engl J Med 2019;381:2230-41; (3) Ubrelvy (ubrogepant) tablets. Highlights of prescribing information. Reference ID: 4538691, revised: 12/2019. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2019/211765s000lbl.pdf