Pitolisant...H3 antihistamine สำหรับรักษาโรคลมหลับ (narcolepsy)
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 2 เดือน ธันวาคม ปี 2562 -- อ่านแล้ว 3,854 ครั้ง
โรคลมหลับ (narcolepsy) เป็นความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนชนิดที่มีอาการง่วงนอนมาก ควบคุมไม่ได้จนฟุบหลับ เกิดขึ้นเวลากลางวัน เกิดได้ในทุกสถานการณ์แม้ขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ บางครั้งอาจมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงมากอย่างฉับพลัน ทำให้มือตก คอตก เป็นเวลาระยะสั้น ๆ โดยยังรู้ตัว (cataplexy) ความผิดปกติดังกล่าวเป็นอันตรายมากต่อตนเองและผู้อื่นหากเกิดขึ้นขณะปฏิบัติงานที่ต้องใช้ความระมัดระวัง เช่น ขับรถหรือทำงานที่เสี่ยงอันตราย โรคลมหลับอาจแบ่งเป็น 2 แบบ (บางแหล่งข้อมูลอาจแบ่งต่างออกไป) แบบที่ 1 เกิด cataplexy ได้และระดับ orexin (หรือ hypocretin) ลดลง ซึ่ง orexin เป็น neuropeptide กระตุ้นความตื่นตัวและความอยากอาหาร ส่วนแบบที่ 2 ไม่พบ cataplexy และระดับ orexin ในสมองไม่ลดลง มียาหลายอย่างที่นำมาใช้รักษาโรคลมหลับ เช่น methylphenidate, modafinil, methamphetamine, amphetamine, sodium oxybate เมื่อไม่กี่ปีมานี้มียาใหม่ที่ออกฤทธิ์ต่อตัวรับของฮีสตามีนออกวางจำหน่ายในสหภาพยุโรป คือ pitolisant และเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้รับอนุมัติให้จำหน่ายได้ในประเทศสหรัฐอเมริกา ยานี้นอกจากแย่งฮีสตามีนจับกับตัวรับชนิด H3 ทำให้ฮีสตามีนออกฤทธิ์ไม่ได้ (แสดงฤทธิ์เป็น H3 receptor antagonist) เมื่อยาจับที่ตัวรับดังกล่าวยังแสดงผลตรงกันข้ามกับฮีสตามีนอีกด้วย (แสดงฤทธิ์เป็น “ตัวทำการกลับ” หรือ “inverse agonist”) ถือว่า pitolisant เป็นยาชนิดแรกในกลุ่ม H3 receptor antagonists/inverse agonists
ตัวรับชนิด H3 พบมากในสมอง ทำหน้าที่ควบคุมการหลั่งฮีสตามีนแบบ negative feedback และยังอาจยับยั้งการสร้างฮีสตามีนในเซลล์ประสาทด้วย ตัวรับนี้จึงทำหน้าที่เป็น inhibitory autoreceptor ฮีสตามีนที่หลั่งในสมองเมื่อจับกับตัวรับชนิด H1 จะกระตุ้นการหลั่ง excitatory neurotransmitters เช่น glutamate, acetylcholine ทำให้ตื่นตัว ด้วยเหตุนี้ยาที่เป็น H3 antagonists ซึ่งเพิ่มปริมาณฮีสตามีนในสมองจึงเพิ่มสารสื่อประสาทเหล่านี้ในสมองด้วย นอกจากนี้เชื่อว่าตัวรับชนิด H3 อาจควบคุมการหลั่งสารสื่อประสาทชนิดอื่น เช่น serotonin, norepinephrine, dopamine จากเซลล์ประสาทในทำนองเดียวกันด้วย ด้วยเหตุนี้ยาที่เป็น H3 antagonists จึงเพิ่มปริมาณเพิ่มสารสื่อประสาทเหล่านี้ในสมองได้เช่นกัน สารเหล่านี้กระตุ้นสมองทำให้ตื่นตัว pitolisant มีข้อบ่งใช้สำหรับรักษาโรคลมหลับในผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นโรคลมหลับที่มีหรือไม่มี cataplexy ผลิตในรูปยาเม็ด ความแรง 4.45 และ 17.8 มิลลิกรัม ขนาดที่แนะนำคือรับประทานครั้งละ 17.8-35.6 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง เมื่อตื่นนอน โดยสัปดาห์แรกเริ่มด้วยครั้งละ 8.9 มิลลิกรัม สัปดาห์ที่ 2 เพิ่มเป็นครั้งละ 17.8 มิลลิกรัม และตั้งแต่สัปดาห์ที่ 3 อาจเพิ่มถึงขนาดสูงสุดที่แนะนำคือครั้งละ 35.6 มิลลิกรัม อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจพบ เช่น นอนไม่หลับ คลื่นไส้ วิตกกังวล ขณะนี้มีการศึกษามากมายเกี่ยวกับ pitolisant และยาอื่นในกลุ่ม H3 receptor antagonists/inverse agonists เพื่อใช้กับโรคอัลไซเมอร์, โรคไมเกรน, โรคทางจิตเวช, anorexia nervosa, multiple sclerosis เป็นต้น
อ้างอิงจาก:
(1) de Biase S, Gigli GL, Valente M. Important decisions in choosing the pharmacotherapy for narcoleptics. Expert Opin Pharmacother 2019;20:483-6; (2) Lehert P, Falissard B. Multiple treatment comparison in narcolepsy: a network meta-analysis. Sleep 2018. doi:10.1093/sleep/zsy185; (3) Ghamari N, Zarei O, Arias-Montaño JA, Reiner D, Dastmalchi S, Stark H, et al. Histamine H3 receptor antagonists/inverse agonists: Where do they go? Pharmacol Ther 2019;200:69-84; (4) Wakix (pitolisant) tablets. Highlights of prescribing information. Reference ID: 4477577, revised: 08/2019. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2019/211150s000lbl.pdf