ยาในกลุ่ม statins เป็นยาลดไขมันในเลือด ออกฤทธิ์ยับยั้ง hydroxy-methylglutaryl-coenzyme A reductase (HMG-CoA reductase) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ตับทำหน้าที่สังเคราะห์ cholesterol ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น atorvastatin, fluvastatin, lovastatin, pitavastatin, pravastatin, rosuvastatin, simvastatin ยาเหล่านี้มีบทบาทมากในการป้องกันโรคหัวใจเหตุจากหลอดเลือดแดงแข็ง (atherosclerotic cardiovascular disease) ในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ผลไม่พึงประสงค์ของยาที่ทำให้เกิดอาการผิดปกติต่อกล้ามเนื้อ (myopathy) นั้นเป็นที่ทราบกันมานานและมีรายงานออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีอาการปวดกล้ามเนื้อ กดเจ็บ ไม่มีแรง และอาจรุนแรงถึงขั้นเกิดภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย (rhabdomyolysis) การเกิดภาวะกล้ามเนื้อลายสลายพบมากขึ้นหากใช้ร่วมกับยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ที่ใช้เปลี่ยนแปลง statins เช่น พวก CYP3A4 inhibitors (ตัวอย่างเช่น clarithromycin, erythromycin, fluconazole, ketoconazole, voriconazole, atazanavir, lopinavir, ritonavir) หากใช้ร่วมกับ atorvastatin หรือ simvastatin จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลเสียต่อกล้ามเนื้อ อย่างไรก็ตามแม้ว่าการใช้ statins อาจเสี่ยงต่อการเกิดผลไม่พึงประสงค์ต่อกล้ามเนื้อดังกล่าวข้างต้นแต่พบได้น้อย และเมื่อคำนึงถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้ยาแล้วยังถือว่า statins มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงนั้น
เมื่อเกิดภาวะกล้ามเนื้อลายสลายจะมีการปลดปล่อยอิเล็กโทรไลต์และโปรตีนต่าง ๆ รวมถึงเอนไซม์ aspartate transaminase (AST), alanine transaminase (ALT) และ creatine kinase (CK) ออกจาก sarcoplasm อาจพบโปรตีนจากกล้ามเนื้อในปัสสาวะ (myoglobinuria) และเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปัสสาวะสีเข้ม (หากเกิด myoglobinuria) ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการพบ CK สูงกว่าค่าปกติอย่างมาก ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้หากเกิดภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ ได้แก่ ไตวายเฉียบพลัน ภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง ภาวะความดันในช่องปิดของกล้ามเนื้อสูงขึ้น (compartment syndrome) และหัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยทั่วไปความผิดปกติที่เกิดกับกล้ามเนื้อเริ่มเกิดประมาณ 1 เดือนหลังเริ่มใช้ยาหรือหลังปรับขนาดยาเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อเร็ว ๆ นี้มีรายงานถึงการเกิดภาวะกล้ามเนื้อลายสลายชนิดเกิดช้า (delayed rhabdomyolysis) ในผู้หญิงสูงวัยที่ใช้ simvastatin (ไม่ระบุขนาดยา) มานานถึง 9 ปี แล้วเกิดอาการปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง และพบรอยจ้ำเลือด (ecchymosis) ที่แขนและขาจากการหกล้ม (เนื่องจากกล้ามเนื้ออ่อนแรง) ผลทางห้องปฏิบัติการพบค่าเอนไซม์เหล่านี้สูงขึ้น ได้แก่ CK (12,896 U/L), AST (420 U/L) และ ALT (95 U/L) ไม่พบภาวะไตวายเฉียบพลัน ให้การรักษาโดยทำให้ร่างกายได้รับน้ำอย่างเพียงพอ (rehydration) และแก้ไขสมดุลอิเล็กโทรไลต์เพื่อลดการเกิดภาวะแทรกซ้อน พร้อมทั้งหยุดใช้ simvastatin (และ antidepressants ซึ่งมีทั้ง sertraline, bupropion และ aripiprazole ยาเหล่านี้ผู้ป่วยได้ใช้มานาน 6 เดือน แต่เชื่อว่าการเกิดความผิดปกติต่อกล้ามเนื้อไม่ได้เกิดจากยาเหล่านี้) หลังจากหยุดยาค่า CK กลับสู่ baseline ใน 2 สัปดาห์
อ้างอิงจาก:
(1) Sharma U. Statin-induced delayed rhabdomyolysis. BMJ Case Rep 2019. doi: 10.1136/bcr-2019-231125; (2) Tournadre A. Statins, myalgia, and rhabdomyolysis. Joint Bone Spine 2019. doi: 10.1016/j.jbspin.2019.01.018; (3) Newman CB, Preiss D, Tobert JA, Jacobson TA, Page RL 2nd, Goldstein LB, et al. Statin safety and associated adverse events: a scientific statement from the American Heart Association. Arterioscler Thromb Vasc Biol 2019; 39:e38-e81.
คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
statins
ยาลดไขมันในเลือด
hydroxy-methylglutaryl-coenzyme A reductase
HMG-CoA reductase
atorvastatin
fluvastatin
lovastatin
pitavastatin
pravastatin
rosuvastatin
simvastatin
โรคหัวใจเหตุจากหลอดเลือดแดงแข็ง
atherosclerotic cardiovascular di