หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Sodium-hydrogen exchanger…เป้าหมายในการออกฤทธิ์ของยารักษาภาวะท้องผูกและภาวะฟอสเฟตในเลือดสูง

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน ตุลาคม ปี 2562 -- อ่านแล้ว 4,228 ครั้ง
 

ที่เซลล์เมมเบรนของเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้มีการควบคุมสมดุลน้ำและอิเล็กโทรไลต์ผ่านหลายช่องทาง ซึ่งรวมถึงช่องทางที่อาศัย sodium-hydrogen (Na+/H+) exchanger (ชื่ออื่น: sodium-proton exchanger, sodium-hydrogen antiporter) ที่ช่วยนำ Na+ จากลูเมน (lumen) ในลำไส้เข้าสู่ภายในเซลล์โดยแลกเปลี่ยนกับ H+ จึงเป็นการช่วยดูดซึมโซเดียม (และน้ำ) จากลำไส้เข้าสู่ร่างกาย (ดูรูป A) ยายับยั้ง sodium-hydrogen exchanger จะลดการดูดซึมโซเดียม ทำให้มีโซเดียมสะสมอยู่ภายในลูเมนและมีการขับน้ำตามออกมาเพื่อปรับ ionic gradient จึงช่วยลดภาวะท้องผูก

นอกจากนี้ภายในลำไส้คน การดูดซึมฟอสเฟตแบบ passive paracellular absorption โดยผ่าน tight junction บริเวณเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้ (ดูรูป B) มีบทบาทสำคัญต่อระดับฟอสเฟตในเลือด แม้ในสัตว์ทดลองจะพบว่าการดูดซึมฟอสเฟตแบบ active transcellular absorption ผ่าน sodium-dependent phosphate transport protein 2b (NaPi2b) transporter จะเป็นกลไกหลักในการดูดซึมฟอสเฟตจากลำไส้ แต่ปัจจุบันยังไม่มียาใดที่ออกฤทธิ์เกี่ยวข้องกับตัวขนส่งชนิดนี้ที่จะนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ในขณะที่พบว่ายายับยั้ง sodium-hydrogen exchanger isoform 3 (NHE3) ทำให้มี H+ สะสมอยู่ภายในเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้ เป็นการเพิ่ม transepithelial resistance (ดูรูป B) ส่งผลให้ฟอสเฟตผ่าน tight junction ลดลง จึงลดการดูดซึมฟอสเฟตเข้าสู่ร่างกาย ส่งผลดีต่อผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังซึ่งมีภาวะฟอสเฟตในเลือดสูง

จากบทบาทของ sodium-hydrogen exchanger ที่เกี่ยวข้องกับนำโซเดียมจากลูเมนในลำไส้เข้าสู่ภายในเซลล์โดยแลกเปลี่ยนกับไฮโดรเจน อีกทั้งเชื่อว่าโปรตีนชนิดนี้มีบทบาทในการควบคุมการดูดซึมฟอสเฟตแบบ passive paracellular absorption ดังกล่าวข้างต้น ยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้ง sodium-hydrogen exchanger จึงน่าจะมีบทบาทในการรักษาภาวะท้องผูกและภาวะฟอสเฟตในเลือดสูงในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง นอกจากนี้การที่โซเดียมถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารลดลงยังเป็นผลดีต่อผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังด้วย เมื่อเร็ว ๆ นี้มียายับยั้ง sodium-hydrogen exchanger isoform 3 ออกวางจำหน่ายแล้วในบางประเทศ คือ tenapanor มีข้อบ่งใช้สำหรับรักษาโรคลำไส้ทำงานแปรปรวนชนิดท้องผูกเด่น (constipation-predominant irritable bowel syndrome) ผลิตในรูปยาเม็ด ความแรง 50 มิลลิกรัม ขนาดที่ใช้ คือ รับประทานครั้งละ 50 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ยานี้ถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารได้น้อย อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจพบ เช่น ท้องเดิน ท้องอืด ท้องเฟ้อ เวียนศีรษะ ในอนาคตคาดว่ายานี้อาจนำมาใช้รักษาภาวะฟอสเฟตในเลือดสูงในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ตลอดจนนำมาใช้ลดความดันโลหิตร่วมกับยาอื่น

อ้างอิงจาก:

(1) Visconti L, Cernaro V, Calimeri S, Lacquaniti A, De Gregorio F, Ricciardi CA, et al. The myth of water and salt: from aquaretics to tenapanor. J Ren Nutr 2018;28:73-82; (2) Koliani-Pace J, Lacy BE. Update on the management of chronic constipation. Curr Treat Options Gastroenterol 2017;15:126-34; (3) Saurette M, Alexande RT. Intestinal phosphate absorption: the paracellular pathway predominates? Exp Biol Med 2019;244:646-54; (4) Ibsrela (tenapanor) tablets. Highlights of prescribing information. Reference ID: 4490626, revised: 09/2019. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2019/211801s000lbl.pdf

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
sodium-proton exchanger sodium-hydrogen antiporter sodium-hydrogen exchanger ภาวะท้องผูก passive paracellular absorption active transcellular absorption sodium-dependent phosphate transport protein 2b NaPi2b sodium-hydrogen exchanger isoform
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.5 น้ำตาลตกจากยาเบาหวาน (Hypoglycemia from anti-diabetics)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้