หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Sclerostin และ Dkk-1…เป้าหมายในการออกฤทธิ์ของยารักษาโรคกระดูกพรุน

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือน เมษายน ปี 2562 -- อ่านแล้ว 5,519 ครั้ง
 

ปัจจุบันมียาหลายชนิดที่นำมาใช้รักษาโรคกระดูกพรุน มีทั้งยาต้านการสลายกระดูก (antiresorptive drugs) และยาเสริมสร้างกระดูก (anabolic drugs) ยาที่มีฤทธิ์ต้านการสลายกระดูก เช่น เอสโตรเจน, ยาในกลุ่ม bisphosphonates (ตัวอย่างยา ได้แก่ alendronate, ibandronate, risedronate, zoledronate), ยาในกลุ่ม selective estrogen receptor modulators หรือ SERMs (ตัวอย่างยา ได้แก่ raloxifene), ยาที่ยับยั้งการเจริญของเซลล์ osteoclast ได้แก่ denosumab ส่วนยาที่มีฤทธิ์เสริมสร้างกระดูก เช่น ยาในกลุ่ม parathyroid hormone (PTH) และ parathyroid hormone-related protein (PTHrP) analogs ตัวอย่างยา ได้แก่ teriparatide, abaloparatide แม้จะมียาหลายชนิดดังกล่าวแต่การคิดค้นยาใหม่ที่มีกลไกการออกฤทธิ์ต่างไปจากยาเดิมยังมีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงยาใหม่ที่ออกฤทธิ์ต่อโปรตีน sclerostin และ Dickkopf-related protein 1 (Dkk-1)

Sclerostin ส่วนใหญ่สร้างโดยเซลล์กระดูก (osteocyte) ในขณะที่ Dkk-1 ส่วนใหญ่สร้างโดยเซลล์ osteoblast และ mesenchymal stem cell การสร้างและการสลายกระดูกเกิดขึ้นต่อเนื่องเพื่อการปรับรูปกระดูก (bone remodeling) และการรักษาสมดุลของกระดูก โดยมีเซลล์ osteoblast ทำหน้าที่สร้างกระดูกใหม่ ส่วนเซลล์ osteoclast ทำหน้าที่สลายกระดูกเก่า กระบวนการปรับรูปกระดูกมีความซับซ้อนมาก (ดูรูป) กล่าวคือ เซลล์ osteoblast สร้าง OPG, RANKL และ Dkk-1 (ความหมายของคำย่อต่างๆ ดูที่รูป) ส่วนเซลล์ osteocyte สร้าง sclerostin และ RANKL การจับกันระหว่าง RANKL กับ RANK (ซึ่งพบได้ที่เซลล์ osteoclast) จะชักนำการสร้างเซลล์ osteoclast ที่เจริญเต็มวัยและพร้อมในการทำหน้าที่สลายกระดูก แต่ OPG สามารถจับกับ RANKL ได้ ทำให้ RANKL ไม่สามารถจับกับ RANK จึงเป็นการยับยั้งการเจริญของเซลล์ osteoclast ส่วน Wnt signaling (canonical Wnt/β-catenin signaling pathway) มีบทบาทสำคัญต่อการเจริญของเซลล์ osteoblast ซึ่ง sclerostin และ Dkk-1 สามารถยับยั้ง Wnt signaling ได้ จึงขัดขวางการเจริญของเซลล์ osteoblast ด้วยเหตุนี้การยับยั้ง sclerostin และ Dkk-1 จึงเป้าหมายในการออกฤทธิ์ของยารักษาโรคกระดูกพรุนและโรคอื่นที่มีการสลายกระดูก ยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้ง sclerostin ชนิดที่มีการศึกษากันมาก ได้แก่ romosozumab และ blosozumab ยาทั้งสองชนิดนี้เป็น humanized monoclonal antibody ขณะนี้ชนิดแรกมีจำหน่ายแล้วในข้อบ่งใช้สำหรับรักษาโรคกระดูกพรุน ส่วนยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้ง Dkk-1 ที่มีการศึกษากันมาก ได้แก่ BHQ880 ยานี้เป็น humanized monoclonal antibody เช่นเดียวกัน

อ้างอิงจาก:

(1) Holdsworth G, Roberts SJ, Ke HZ. Novel actions of sclerostin on bone. J Mol Endocrinol 2019;62:R167-R185; (2) Chang B, Quan Q, Li Y, Qiu H, Peng J, Gu Y. Treatment of osteoporosis, with a focus on 2 monoclonal antibodies. Med Sci Monit 2018;24:8758-66; (3) Fasipe OJ, Ibiyemi OB, Adelosoye AA, Idowu AA. Recent advances and current trend in the pharmacotherapy of postmenopausal osteoporosis. J Health Res Rev 2018;5:13-21.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
โรคกระดูกพรุน ยาต้านการสลายกระดูก antiresorptive drugs ยาเสริมสร้างกระดูก anabolic drugs เอสโตรเจน bisphosphonates alendronate ibandronate risedronate zoledronate selective estrogen receptor modulators SERMs raloxifene denosumab parath
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้