หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Romosozumab (sclerostin inhibitor)…ยาใหม่ที่ใช้รักษาโรคกระดูกพรุน

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือน พฤษภาคม ปี 2562 -- อ่านแล้ว 10,656 ครั้ง
 
Sclerostin เป็น glycoprotein ที่ส่วนใหญ่สร้างขึ้นโดยเซลล์กระดูก (osteocyte) มีฤทธิ์ต้านการสร้างกระดูกโดยการยับยั้ง Wnt signaling (canonical Wnt/β-catenin signaling pathway) ซึ่ง Wnt signaling มีบทบาทสำคัญต่อการเจริญของเซลล์ osteoblast (ดูข้อมูลเพิ่มเติมในข่าวยาเรื่อง “Sclerostin และ Dkk-1…เป้าหมายในการออกฤทธิ์ของยารักษาโรคกระดูกพรุน” ได้ที่ https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/news_week_full.php?id=1507) romosozumab (ชื่ออื่น: romosozumab-aqqg) เป็น humanized IgG2 monoclonal antibody ออกฤทธิ์ยับยั้ง sclerostin จึงให้ผลในการเสริมสร้างกระดูก (anabolic effect) ออกวางจำหน่ายเมื่อไม่นานมานี้ ใช้รักษาโรคกระดูกพรุนในสตรีหลังหมดประจำเดือนที่เสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหัก ผลิตในรูปยาน้ำ บรรจุในกระบอกฉีดยาพร้อมใช้สำหรับให้ครั้งเดียว (single-dose prefilled syringe) มีตัวยา 105 มิลลิกรัม/1.17 มิลลิลิตร ใช้ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ขนาดที่แนะนำคือ 210 มิลลิกรัม (2 เข็ม) ฉีดเดือนละ 1 ครั้ง ใช้ยานานสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน การใช้นานกว่านี้ให้ผลในการเสริมสร้างกระดูกลดลง ผู้ที่ต้องรักษาโรคกระดูกพรุนต่อไปอีก ให้ใช้ยาในกลุ่มต้านการสลายกระดูก (antiresorptive drugs)

การที่ยานี้ได้รับข้อบ่งใช้สำหรับรักษาโรคกระดูกพรุน เนื่องจากมีการศึกษาทางคลินิกระยะที่ 3 มาสนับสนุนจำนวน 2 การศึกษา ซึ่งเป็น randomized, double-blind trial ใน Study 1 เปรียบเทียบกับยาหลอก โดยศึกษาในสตรีหลังหมดประจำเดือนที่เป็นโรคกระดูกพรุน 7,180 คน อายุ 55-90 ปี ให้ romosozumab (n=3,589) ขนาด 210 มิลลิกรัม ฉีดเข้าใต้ผิวหนังเดือนละ 1 ครั้งเทียบกับยาหลอก (n=3,591) ผู้ป่วยทุกคนได้รับแคลเซียมและวิตามินดีเสริมทุกวันในขนาด 500-1,000 มิลลิกรัมและ 600-800 ยูนิต ตามลำดับ ให้ยาหรือยาหลอกนาน 12 เดือน จากนั้นผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มได้รับ denosumab (เป็นยาต้านการสลายกระดูก) ต่ออีกเป็นเวลา 12 เดือน ประเมินผลโดยดูการลดอุบัติการณ์ของกระดูกสันหลังหักที่เกิดขึ้นใหม่ ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มที่ได้รับ romosozumab ให้ผลดีกว่ากลุ่มยาหลอก ไม่ว่าจะเป็นผลที่ 12 เดือนหรือที่ 24 เดือน นอกจากนี้ความหนาแน่นแร่ธาตุในกระดูก (bone mineral density หรือ BMD) ตรงกระดูกสันหลังส่วนเอว กระดูกสะโพก และกระดูกคอสะโพกในกลุ่มที่ได้รับ romosozumab เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มยาหลอกที่ 12 เดือน และยังคงเพิ่มต่อเนื่องตลอดช่วง 24 เดือน

ส่วน Study 2 เปรียบเทียบกับ alendronate โดยศึกษาในสตรีหลังหมดประจำเดือนที่เป็นโรคกระดูกพรุนและมีประวัติของการเกิดกระดูกหักจำนวน 4,093 คน อายุ 55-90 ปี ให้ romosozumab (n=2,046) เช่นเดียวกับที่กล่าวข้างต้น เทียบกับการให้ alendronate (เป็นยาต้านการสลายกระดูก) ขนาด 70 มิลลิกรัม รับประทานสัปดาห์ละ 1 ครั้ง (n=2,047) ผู้ป่วยทุกคนได้รับแคลเซียมและวิตามินดีเสริมทุกวันในขนาด 500-1,000 มิลลิกรัมและ 600-800 ยูนิต ตามลำดับ ภายหลังให้ยานาน 12 เดือน ผู้ป่วยในกลุ่ม romosozumab เปลี่ยนมาใช้ alendronate ต่ออีกเป็นเวลา 12 เดือน ประเมินผลโดยดูการลดลงของกระดูกหักที่มีอาการทางคลินิกซึ่งเกิดตำแหน่งอื่นที่ไม่ใช่กระดูกสันหลัง (non-vertebral fracture) ตลอดช่วง 12 เดือน และการลดอุบัติการณ์ของกระดูกสันหลังหักที่เกิดขึ้นใหม่ที่ 24 เดือน ผลการศึกษาพบว่าการให้ romosozumab นาน 12 เดือน แล้วตามด้วย alendronate ต่ออีก 12 เดือนให้ผลดีกว่าการใช้ alendronate เพียงอย่างเดียวโดยตลอด นอกจากนี้ความหนาแน่นแร่ธาตุในกระดูกตรงกระดูกสันหลังส่วนเอว กระดูกสะโพก และกระดูกคอสะโพกในกลุ่มที่ได้รับ romosozumab เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่ม alendronate ไม่ว่าจะเป็นที่ 12 เดือนหรือที่ 24 เดือน ส่วนอาการไม่พึงประสงค์ของ romosozumab ที่อาจพบ เช่น ปวดข้อ ปวดศีรษะ ยานี้อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือด (myocardial infarction), stroke และการเสียชีวิตเหตุจากหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular death) จึงไม่ควรใช้กับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติเหล่านี้

อ้างอิงจาก:

(1) Evenity (romosozumab-aqqg). Highlights of prescribing information. Reference ID: 4416809, revised: 4/2019. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2019/761062s000lbl.pdf; (2) Holdsworth G, Roberts SJ, Ke HZ. Novel actions of sclerostin on bone. J Mol Endocrinol 2019;62:R167-85; (3) Markham A. Romosozumab: first global approval. Drugs 2019;79:471-6.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
sclerostin glycoprotein เซลล์กระดูก osteocyte Wnt signaling canonical Wnt/β-catenin signalling pathway Dkk-1 romosozumab romosozumab-aqqg humanized IgG2 monoclonal antibody การเสริมสร้างกระดูก anabolic effect โรคกระดูกพรุน single-do
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้