หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ชื่อยายุคใหม่...บอกข้อมูลเบื้องต้นได้ (ตอนที่ 1)

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน มกราคม ปี 2562 -- อ่านแล้ว 7,603 ครั้ง
 
การคิดค้นยาใหม่ออกสู่ท้องตลาดดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง มีทั้งชนิดที่เป็นยาเคมีสังเคราะห์ (synthetic chemical drugs) และยาชีววัตถุ (biologic drugs) นำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ในการรักษาโรคต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง การที่ยามีความแตกต่างกันทั้งด้านโครงสร้าง ต้นกำเนิดหรือแหล่งที่มา กลไกการออกฤทธิ์ ตลอดจนเซลล์หรือเนื้อเยื่อเป้าหมายที่ไปออกฤทธิ์ จึงมีการจัดระบบการเรียกชื่อยาเพื่อบ่งบอกถึงความแตกต่างที่กล่าวมา ดังตัวอย่างข้างล่างนี้ (สำหรับการเรียกชื่อยาต้านไวรัสตับอักเสบซีกลุ่ม direct-acting antivirals ดูได้ที่ https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/news_week_full.php?id=1493)

 คำลงท้ายยาเคมีสังเคราะห์บอกถึงเป้าหมายที่ยาไปออกฤทธิ์ (กลไกการออกฤทธิ์) เช่น “-nib” เป็นยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้ง tyrosine kinase (tyrosine kinase inhibitors) ตัวอย่างยา เช่น imatinib, sunitinib, tofacitinib; “-limus” เป็นยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้ง mammalian target of rapamycin (mTOR inhibitors) ตัวอย่างยา เช่น evolimus, sirolimus, temsirolimus; “-lisib” เป็นยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้ง phosphatidylinositol 3-kinase (PI3K inhibitors) ตัวอย่างยา เช่น idelalisib, copanlisib, duvelisib

 คำลงท้ายยาชีววัตถุบอกถึงชนิดหรือประเภทของยา เช่น “-mab” เป็นยาโมโนโคลนอลแอนติบอดี (monoclonal antibodies) ตัวอย่างยา เช่น adalimumab, bevacizumab, rituximab; “-cept” เป็นยากลุ่มโปรตีนเชื่อมต่อ (variant fusion proteins) ตัวอย่างยา เช่น abatacept, alefacept, etanercept

 คำข้างหน้า “mab” บอกถึงชนิดของโมโนโคลนอลแอนติบอดีตามแหล่งที่มา เช่น -u- หมายถึง human (variable domain มี human identity มากกว่า 90% ซึ่งตัวเลขนี้ยังไม่มีการกำหนดที่ชัดเจน) ตัวอย่างยา เช่น adalimumab, denosumab; -zu- หมายถึง humanized (variable domain มี human identity ≥85% แต่ไม่ถึง 90%) ตัวอย่างยา เช่น tocilizumab, vedolizumab; -xi- หมายถึง chimeric (variable domain มี human identity น้อยกว่า 85%) ตัวอย่างยา เช่น infliximab, rituximab; -xizu- หมายถึง chimeric-humanized (มี single-chain variable fragment อันหนึ่งเป็นแบบ “chimeric” และอีกอันหนึ่งเป็นแบบ “humanized”) ตัวอย่างยา เช่น pasotuxizumab (ยังอยู่ในการศึกษาเพื่อใช้รักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก)

 คำข้างหน้า (ถัดขึ้นมา) ของยาโมโนโคลนอลแอนติบอดี บอกถึงเซลล์หรือเนื้อเยื่อที่เป็นเป้าหมายของยา เช่น -ba- (bacteria) ตัวอย่างยา เช่น tefibazumab (ยังอยู่ในการศึกษาเพื่อใช้รักษาการติดเชื้อ Staphylococcus aureus); -li- (สารหรือเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันและการอักเสบ ซึ่ง “li(m)” หมายถึง lymphocyte) ตัวอย่างยา เช่น adalimumab (ออกฤทธิ์จับจำเพาะกับ tumor necrosis factor-alpha หรือ TNF-α), daclizumab (ออกฤทธิ์จับจำเพาะกับ Tac subunit หรือ CD25 ของ IL-2 receptor บน T cells); -ci- (circulatory system) ตัวอย่างยา เช่น bevacizumab (ออกฤทธิ์จับจำเพาะกับ vascular endothelial growth factor); -tu- (tumors/neoplastic diseases) ตัวอย่างยา เช่น trastuzumab (ใช้รักษาโรคมะเร็งเต้านม), ofatumumab (ใช้รักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว); -vi- (virus) ตัวอย่างยา เช่น palivizumab (ใช้ป้องกันการติดเชื้อ respiratory syncytial virus ในเด็ก); -ne- (nerve, nervous system) ตัวอย่างยา เช่น tanezumab (ยังอยู่ในการศึกษา เป็นยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้ง nerve growth factor เพื่อใช้ลดอาการปวด); -so-/-os- (bone) ตัวอย่างยา เช่น romosozumab (ใช้รักษาโรคกระดูกพรุน), blosozumab (ยังอยู่ในการศึกษาเพื่อใช้รักษาโรคกระดูกพรุน)

ระบบการเรียกชื่อดังกล่าวข้างต้นอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ เพื่อการปรับให้สอดคล้องกับวิทยาการด้านต่างๆ ที่ก้าวหน้าไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านกรรมวิธีการผลิตยาและองค์ความรู้ใหม่ด้านอื่นๆ

อ้างอิงจาก:

(1) Guidance on the use of international nonproprietary names (INNs) for pharmaceutical substances. Geneva: World Health Organization; 2017. FINAL_WHO_PHARM_S_NOM_1570_web.pdf; (2) International nonproprietary names for pharmaceutical substances (INN). WHO Drug Information 2018;32(3):425-508.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
ยาเคมีสังเคราะห์ synthetic chemical drugs ยาชีววัตถุ biologic drugs tyrosine kinase inhibitors imatinib sunitinib tofacitinib mammalian target of rapamycin mTOR inhibitors evolimus sirolimus temsirolimus phosphatidylinositol 3-kinase PI
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.4 ยาอันตรายควบคุม (Controlled dangerous drugs)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้