หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

แนวความคิดใหม่ในการประเมิน วินิจฉัย และรักษาโรคท้องเสียเฉียบพลันเนื่องจากการติดเชื้อ

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน พฤศจิกายน ปี 2548 -- อ่านแล้ว 36,008 ครั้ง
 
โรคท้องเสียเฉียบพลัน มีอาการที่สำคัญคือ ถ่ายมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน หรือมีการถ่ายอุจจาระอย่างน้อยวันละ 200 กรัม อาการมักคงอยู่นานประมาณ 14 วัน โรคท้องเสียเฉียบพลันนี้เป็นโรคที่ก่อให้เกิดความเจ็บป่วยรวมทั้งการตายของคนทั้งโลก สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอาการท้องเสียเฉียบพลัน มักมาจากการติดเชื้อไม่ว่าจะเป็นแบคทีเรีย ไวรัส หรือ โปรโตซัว ส่วนสาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดโรคท้องเสียเฉียบพลันได้อีก คือ functional bowel disease หรือ inflammatory bowel disease ผู้ป่วยที่ควรได้รับการวินิจฉัยโรคท้องเสียเฉียบพลันว่ามาจากสาเหตุใด ได้แก่ ผู้ป่วยอาการหนัก (ถ่ายปริมาณมาก สูญเสียน้ำ ปวดท้องรุนแรง หรือมีอาการมามากกว่า 3 วัน) ผู้ที่อุจจาระเป็นเลือดหรือมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เป็นไข้ ผู้ที่เพิ่งเดินทางกับมาจากสถานที่ที่มีความเสี่ยงสูง รวมทั้งผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง วิธีการที่ใช้ตรวจวินิจฉัยได้แก่ fecal lactoferrin และ real time PCR

การรักษาโรคท้องเสียเฉียบพลัน ประกอบด้วย

1. การให้น้ำและสารอาหารอย่างเพียงพอ ผงเกลือแร่ถือได้ว่ามีความสำคัญต่อการรักษามาเป็นเวลานาน และผู้ป่วยควรได้รับสารอาหารในช่วงที่มีอาการท้องเสียอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ร่างกายได้รับน้ำและอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการ

2. zinc และ probiotic zinc ช่วยลดอาการแทรกซ้อนและลดการตายจากอาการท้องเสียได้ ส่วน probiotic ซึ่งเป็นแบคทีเรียในลำไส้เล็กจะช่วยลดระยะเวลาของการเกิดท้องเสีย probiotic นี้จะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันที่เหมาะสมต่อเยื่อเมือก ทั้งยังป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารด้วย และอาจจะเป็นประโยชน์สำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่อาการท้องเสียเฉียบพลันในเด็กเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดท้องเสียอย่างต่อเนื่องซึ่งจะนำไปสู่การขาดสารอาหารอีกด้วย

3. ยาป้องกันอาการท้องเสีย ยาที่ถือว่าปลอดภัยและมีประสิทธิผลดีในการรักษาโรคท้องเสียเฉียบพลันที่เกิดจากการติดเชื้อคือ bismuth subsalicylate และในอนาคตยา racecadotril อาจจะใช้เป็นยาที่ใช้รักษาท้องเสียในเด็ก

- bismuth subsalicylate จะจับกับ enterotoxin ทำให้เกิดผลโดยตรงต่อการต้านแบคทีเรีย และช่วยกระตุ้นการดูดกลับของน้ำและโซเดียมภายในลำไส้

- racecadotril เป็น enkephalinase inhibitor ที่สังเคราะห์ขึ้น ช่วยต้านอาการท้องเสียโดยยับยั้งการหลั่ง endogenous opioid peptide และปฏิกิริยาที่เกิดผ่าน opioid receptor นี้ยังทำให้มีผล anti-secretory ได้ด้วย

4. ยาปฏิชีวนะ ยาที่ใช้รักษาอาการท้องเสียก่อนได้รับผลวินิจฉัยว่าเกิดจากเชื้อใด คือ ciprofloxacin, trimethoprim/sulfomethoxazole หรือ erythromycin จนกระทั่งได้รับผลวินิจฉัยแล้วจึงจะใช้ยาที่จำเพาะกับเชื้อก่อโรคนั้น

นอกจากการรักษาที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีการพัฒนาและปรับปรุงวัคซีนหลายชนิด เพื่อให้มีผลจำเพาะกับเชื้อก่อโรคท้องเสียเฉียบพลัน เช่น วัคซีนเพื่อกำจัดเชื้อ Salmonella typhi, Cholera, Rotavirus, Campylobacter และ Shigella เป็นต้น

ปัจจัยที่ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโรคท้องเสียเฉียบพลัน คือ การเปลี่ยนแปลงสุขลักษณะของตัวบุคคลและสิ่งแวดล้อมให้สะอาด ไม่ว่าการใช้น้ำ การประกอบอาหาร หรือแม้แต่สุขาภิบาลต้องถูกสุขลักษณะเสมอ



 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.3 ยาชุด Non-prescribed polypharmacy

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้