การใช้ corticosteroids ในผู้ป่วยที่เข้าโรงพยาบาลด้วยอาการหอบหืดเฉียบพลัน
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือน พฤศจิกายน ปี 2548 -- อ่านแล้ว 13,753 ครั้ง
การรักษาอาการหอบหืดเฉียบพลันมักจะใช้ corticosteroids อยู่เสมอ เนื่องจากมีรายงานว่า corticosteroids ทำให้ปอดทำหน้าที่ได้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และลดการเข้ารักษาตัวในห้องฉุกเฉินรวมทั้งลดอัตราการกลับเข้าห้องฉุกเฉินได้อีกด้วย ในปัจจุบันมีการแนะนำให้ใช้ corticosteroids ชนิดรับประทานในการรักษาอาการหอบหืดเฉียบพลัน แต่คำแนะนำดังกล่าวยังมีข้อมูลสนับสนุนไม่เพียงพอ งานวิจัยนี้ผู้วิจัยจึงได้เปรียบเทียบการใช้ corticosteroids ชนิดรับประทานกับชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำในการรักษาอาการหอบหืดเฉียบพลัน โดยใช้ขนาดยาที่ใกล้เคียงกับที่ใช้จริงทางคลินิก เพื่อสนับสนุนคำแนะนำข้างต้น
การศีกษาแบบ randomized, double dummy, double blind, parallel trial ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 1996 ถึงมิถุนายน 1999 ในผู้ป่วยที่เข้าโรงพยาบาลด้วยอาการหอบหืดเฉียบพลันจำนวน 47 คน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ฉีด hydrocortisone ขนาด 100 มิลลิกรัมเข้าหลอดเลือดดำทุก 6 ชั่วโมง จำนวน 23 คน และกลุ่มที่รับประทาน prednisolone ขนาด 100 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง จำนวน 24 คน ผู้ป่วยทุกคนใช้ยาขยายหลอดลมและ corticosteroids ชนิดสูดพ่นได้ตลอดการศึกษา เมื่อจบการศึกษา ผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มเปลี่ยนไปใช้ prednisolone ขนาด 50 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 2 วันแล้วค่อยๆ ลดขนาดยาลงทุก 2 วันจนหยุดยา prednisolone กรณีที่ถือว่าเป็น treatment failure คือ ผู้ป่วยต้องใส่ท่อช่วยหายใจ, เข้ารับการรักษาในห้องฉุกเฉิน, ต้องใช้ยาขนาดเริ่มต้นสูงกว่าที่ใช้ในการวิจัยนี้ การประเมินผลจะใช้ค่า PEF (peak expiratory flow) โดยวัดค่า PEFใน 72 ชั่วโมงแรกของการรักษา รวมทั้งบันทึกระยะเวลาที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล วิเคราะห์ข้อมูลแบบ intention to treat พบว่าเมื่อครบ 72 ชั่วโมงแรก กลุ่มที่รับประทาน prednisolone มีค่า PEF ดีขึ้นจาก 6117% เป็น 95±26% ( P < 0.0001) และกลุ่มที่ฉีด hydrocortisone มีค่า PEF ดีขึ้นจาก 69±13% เป็น 102±22% ( P < 0.0001) เช่นกัน และหลังจากให้ยาเป็นเวลา 24, 48 และ 72 ชั่วโมง ผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มมีค่า PEF ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้ระยะเวลาที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลของทั้ง 2 กลุ่มก็ใกล้เคียงกันอีกด้วย (3.7±0.8 และ 3.4±0.9 วัน ในผู้ป่วยที่รับประทาน prednisolone และ กลุ่มที่ฉีด hydrocortisone ตามลำดับ)
ดังนั้นการใช้ corticosteroids ชนิดรับประทานถือว่ามีประสิทธิภาพดีเทียบเท่ากับการใช้ corticosteroids ชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำในการรักษาผู้ป่วยที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยอาการหอบหืดเฉียบพลัน