ยากลุ่ม beta blocker อาจไม่มีประโยชน์ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจที่มีอาการคงที่ (stable coronary artery disease)
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือน ตุลาคม ปี 2555 -- อ่านแล้ว 8,754 ครั้ง
ในปัจจุบัน beta-blocker เป็นกลุ่มยาที่มักจะมีการสั่งจ่ายให้กับผู้ป่วยหลังจากเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเพื่อลดการทำงานของหัวใจ ทำให้เป็นที่สงสัยว่า beta-blocker จะมีประโยชน์กับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจที่มีอาการคงที่หรือไม่ นายแพทย์ Sripal Bangalore จากมหาวิทยาลัย New York และคณะ ได้ทำการศึกษา Reduction of Atherothrombosis for Continued Health (REACH) เป็น cohort study เพื่อดูประโยชน์ของการใช้ยากลุ่ม beta-blocker กับการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคของหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองในผู้ป่วย 3 กลุ่ม คือ (1) ผู้ที่มีประวัติกล้ามเนื้อหัวใจตาย (2) ผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจโคโรนารีแต่ไม่มีประวัติกล้ามเนื้อหัวใจตาย และ(3) ผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจโคโรนารี ประมาณ 25,000 ราย โดยติดตามผู้ป่วยเป็นระยะเวลา 44 เดือน (ค่ามัธยฐาน) ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยทั้งสามกลุ่มมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ การเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายที่ไม่ถึงแก่ชีวิต (nonfatal MI) และ โรคหลอดเลือดสมองที่ไม่ถึงแก่ชีวิต (nonfatal stroke) ไม่แตกต่างกันระหว่างกลุ่มที่ใช้และไม่ใช้ยากลุ่ม bata-blocker แต่ผู้ป่วยกลุ่มที่ 2 ที่ใช้ beta blocker มีอัตราการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจากภาวะหลอดเลือดอุดตัน (atherothrombotic events) มากกว่า ในขณะที่ผู้ป่วยกลุ่มที่ 3 ที่ใช้ beta-blocker ก็มีอุบัติการณ์การเกิด cardiovascular events (CV) และมีการเข้าโรงพยาบาลมากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ใช้ยา (14.2% vs 12.1%; HR 1.18, p=0.02 และ 22.01% vs 20.17%; OR 1.14, p=0.04 ตามลำดับ) อย่างไรก็ตาม เฉพาะผู้ป่วยที่มีกล้ามเนื้อหัวใจตายไม่เกิน 1 ปี พบว่าการใช้ beta-blocker ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะฉุกเฉินทางหัวใจได้อย่างมีนัยสำคัญ จากการศึกษานี้สรุปว่า การใช้ยากลุ่ม beta blockers ในผู้ป่วยที่มีโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายมานานแล้ว ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจโคโรนารีแต่ยังไม่มีกล้ามเนื้อหัวใจตาย และ ผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจโคโรนารี อาจไม่ให้ประโยชน์ในการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจหรือโรคหลอดเลือดทางสมอง