หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ยาลดน้ำหนักรุ่นใหม่...ปลอดภัยหรือไม่

โดย นศภ.พรรณภัค ศรีกุศลานุกูล ภายใต้คำแนะนำของ ผศ.ดร.ภก. สุรศักดิ์ วิชัยโย เผยแพร่ตั้งแต่ 4 กันยายน พ.ศ.2567 -- 1,703 views
 

โรคอ้วน (obesity) เป็นภาวะที่มีปริมาณไขมันเพิ่มขึ้นในร่างกายทุกส่วน ร่วมกับน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐานจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โรคอ้วนมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น ความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น นอกจากนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคข้อเสื่อมอีกด้วย การวินิจฉัยโรคอ้วนมักใช้ค่าดัชนีมวลกาย หรือเรียกง่าย ๆ ว่า “บีเอ็มไอ (BMI=body mass index)” เป็นตัวบ่งชี้ โดย BMI สามารถคำนวณจาก น้ำหนักตัว [กิโลกรัม] หารด้วย ส่วนสูง [เมตร] ยกกำลังสอง โดยหาก BMI มีค่าตั้งแต่ 25 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไปจัดว่าเป็นโรคอ้วน[1]

การรักษาโรคอ้วนในปัจจุบันแนะนำให้ควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และปรับพฤติกรรม ส่วนการใช้ยาลดน้ำหนักจะแนะนำในผู้ที่มีค่าฺ BMI ตั้งแต่ 30 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไป หรือผู้ที่มีค่า BMI ตั้งแต่ 27 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไปที่มีโรคเรื้อรังร่วมด้วย[2] บทความนี้จะนำเสนอปัญหาที่พบจากการใช้ยาลดน้ำหนักรุ่นเก่า ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยารุ่นใหม่ รวมทั้งแนวทางเบื้องต้นในการลดน้ำหนักอย่างถูกวิธี

ปัญหาจากยาลดน้ำหนักรุ่นเก่า

แม้ว่ายาลดน้ำหนักรุ่นเก่าหลายชนิดจะช่วยลดน้ำหนักตัวได้ดี แต่พบว่ายาเหล่านี้มีข้อจำกัดทางด้านความปลอดภัย เช่น sibutramine ที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือโรคหลอดเลือดสมอง และ rimonabant ที่เพิ่มความเสี่ยงเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าและภาวะวิตกกังวล ทำให้ยาทั้งสองชนิดนี้ถูกถอนทะเบียนยา (ถูกระงับการใช้) ส่วนยารักษาโรคอ้วนที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เช่น phentermine แนะนำให้ใช้เพียงระยะสั้น เนื่องจากพบผลข้างเคียงต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดเช่นกัน ขณะที่ orlistat แม้จะไม่ค่อยพบผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย แต่ยานี้ช่วยลดน้ำหนักได้ไม่มากนัก อีกทั้งผู้ป่วยบางคนไม่อยากใช้ยานี้เพราะกังวลเกี่ยวกับการมีน้ำมันปนมากับอุจจาระจนไม่สามารถควบคุมการถ่ายอุจจาระได้ (กลั้นอุจจาระไม่อยู่)[3]

รู้จักยาลดน้ำหนักรุ่นใหม่

ปัจจุบันมีการพัฒนายาลดน้ำหนักรุ่นใหม่เพื่อลดข้อจำกัดด้านความปลอดภัยของยารุ่นเก่าและส่งเสริมให้ผู้ป่วยควบคุมน้ำหนักตัวได้ดีขึ้น ยาเหล่านี้มีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนในร่างกายที่เรียกว่า “อินครีติน (incretin)” ยากลุ่มนี้เชื่อว่าออกฤทธิ์ลดน้ำหนักตัวด้วย 2 กลไกหลัก (รูปภาพ) คือ ยับยั้งการ ทำงานของเซลล์ประสาทใน สมองส่วนที่ควบคุมความหิว เป็นผลให้ลดความอยากอาหาร และยาสามารถชะลอการบีบตัวของกระเพาะอาหาร ทำให้อาหารอยู่ในกระเพาะอาหารนานขึ้น จนรู้สึกอิ่มเร็วขึ้น จากกลไกข้างต้นยาในกลุ่มนี้จึงช่วยควบคุมปริมาณ อาหารที่รับประทาน แล้วทำให้น้ำหนักตัวลดลง[4]

รูปภาพ: กลไกการช่วยลดน้ำหนักตัวของยาที่มีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนอินครีติน

ยาลดน้ำหนักรุ่นใหม่ที่มีใช้ในปัจจุบัน ได้แก่ liraglutide, semaglutide และ tirzepatide ซึ่งเป็นยารักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 แต่พบว่าสามารถลดน้ำหนักตัวได้ดี จึงมีการนำมาศึกษาเพิ่มเติมจนได้รับการอนุมัติให้ใช้ในผู้ป่วยโรคอ้วน (ตาราง) การศึกษาในผู้ป่วยโรคอ้วนพบว่า liraglutide, semaglutide และ tirzepatide สามารถลดน้ำหนักตัวได้ประมาณ 7, 10 และ 15 กิโลกรัม ตามลำดับ ภายในระยะเวลา 6 เดือน ถึง 1 ปี[5-8] ซึ่งวิธีการใช้ยาเหล่านี้ คือ ฉีดเข้าใต้ผิวหนังวันละครั้ง จึงมักถูกเรียกว่า “ปากกาลดน้ำหนัก” เนื่องจากเข็มฉีดยามีลักษณะคล้ายปากกา

ตาราง: ข้อมูลยาลดน้ำหนักรุ่นใหม่

ชื่อยา

ข้อบ่งใช้

วิธีใช้ยา

Liraglutide (SAXENDA®)[9]

ลดน้ำหนักเสริมจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในผู้ที่มี BMI ตั้งแต่ 30 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไป

หรือ

ผู้ที่มี BMI ตั้งแต่ 27 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไปที่มีโรคเรื้อรังร่วมด้วย

  • ฉีดยาเข้าชั้นใต้ผิวหนัง ด้วยขนาดยาเริ่มต้น 0.6 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 1 สัปดาห์
  • จากนั้นเพิ่มขนาดยาจนถึงขนาดยาเป้าหมายที่ 3 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง

Semaglutide (WEGOVY®)[10]

ลดน้ำหนักส่วนเกินในระยะยาวในผู้ป่วยโรคอ้วน หรือมีภาวะน้ำหนักเกินที่มีโรคเรื้อรังร่วมด้วย

  • ฉีดยาเข้าชั้นใต้ผิวหนังด้วยขนาดยาเริ่มต้น 0.25 มิลลิกรัม สัปดาห์ละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 4 สัปดาห์
  • จากนั้นเพิ่มขนาดยาทุก 4 สัปดาห์ จนถึงขนาดยาเป้าหมายที่ 1.7 หรือ 2.4 มิลลิกรัม สัปดาห์ละ 1 ครั้ง

Tirzepatide (ZEPBOUND®)[11]

ลดน้ำหนักเสริมจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในผู้ที่มี BMI ตั้งแต่ 30 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไป

หรือ

ผู้ที่มี BMI ตั้งแต่ 27 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไปที่มีโรคเรื้อรังร่วมด้วย

  • ฉีดยาเข้าชั้นใต้ผิวหนังด้วยขนาดยาเริ่มต้น 2.5 มิลลิกรัม สัปดาห์ละ 1 ครั้ง
  • หลังจากใช้ขนาดเดิมแล้ว 4 สัปดาห์ สามารถเพิ่มขนาดยาขึ้นอีกครั้งละ 2.5 มิลลิกรัม จนได้ขนาดยาเป้าหมายคือ 5, 10 หรือ 15 มิลลิกรัม สัปดาห์ละ 1 ครั้ง

ผลข้างเคียงและข้อควรระวังในการใช้ยาลดน้ำหนักรุ่นใหม่

แม้ว่ายากลุ่มนี้จะสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 แต่ในผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดปกติ ยาจะลดระดับน้ำตาลไม่มาก[12] จึงมีโอกาสน้อยที่ผู้ป่วยจะได้รับอันตรายจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำขณะใช้ยา

ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยจากยากลุ่มนี้ ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก ท้องเสีย ปวดท้อง ไม่สบายท้อง หรือมีอาการบวมแดงบริเวณที่ฉีดยา ส่วนผลข้างเคียงที่พบได้น้อยมากแต่ควรเฝ้าระวัง ได้แก่ ภาวะซึมเศร้า ความคิดอยากทำร้ายตนเอง ภาวะตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน ภาวะไตวายเฉียบพลัน อีกทั้งยังพบว่ายากลุ่มนี้สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งต่อมไทรอยด์ จึงมีข้อห้ามใช้ในผู้ที่เป็นโรคมะเร็งไทรอยด์หรือมีประวัติครอบครัวเป็นโรคดังกล่าว[9-11] อย่างไรก็ตามแพทย์ผู้ทำการรักษาจะคอยติดตามและเฝ้าระวังอาการข้างเคียงต่าง ๆ ที่อาจเกิดกับผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ แต่หากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติและกังวลใจว่าอาจเกิดจากยา สามารถสอบถามข้อมูลเบื้องต้นจากแพทย์หรือเภสัชกรในร้านยาใกล้บ้าน เพื่อให้ได้รับคำแนะนำในการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง

การปฏิบัติตัวเพื่อลดน้ำหนักอย่างถูกวิธีและยั่งยืน

ในการรักษาโรคอ้วนแนะนำให้ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการออกกำลังกายเป็นอันดับแรก เนื่องจากเป็นวิธีการลดน้ำหนักที่ปลอดภัยที่สุด ดีต่อสุขภาพ และให้ผลยั่งยืน[2]

คำแนะนำการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เช่น

- วางแผนการรับประทานอาหารต่อวันให้ได้รับพลังงานไม่มากกว่าความต้องการของร่างกาย

- ควบคุมปริมาณและสัดส่วนอาหารในแต่ละมื้อ โดยจัดสัดส่วนอาหารต่อมื้อเป็น “2:1:1” คือ ผัก 2 ส่วน ต่อ โปรตีน 1 ส่วน ต่อ ข้าวหรือแป้ง 1 ส่วน[13]

- เลือกรับประทานอาหารประเภทที่ใช้น้ำมันน้อย เช่น การต้มหรือการนึ่ง และเลือกอาหารที่มีสารอาหารครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป

คำแนะนำสำหรับการออกกำลังกาย เช่น

- ให้ออกกำลังกายวันละ 30-60 นาที อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์

- เพิ่มการขยับร่างกายในชีวิตประจำวัน เช่น ใช้การเดินขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟต์หรือบันไดเลื่อน หรือทำงานบ้านต่าง ๆ ด้วยตนเอง

บทสรุป

จากข้อมูลในปัจจุบันจะเห็นได้ว่ายาลดน้ำหนักรุ่นใหม่ค่อนข้างมีความปลอดภัยและส่งเสริมให้ผู้ป่วยควบคุมน้ำหนักตัวได้อย่างสม่ำเสมอมากกว่ายารุ่นเก่า แต่ยายังคงมีผลข้างเคียงที่ควรระวัง และยาเหล่านี้จะใช้เฉพาะในผู้ป่วยโรคอ้วนภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น อย่างไรก็ตามการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการออกกำลังกายเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติเป็นอันดับแรกเพื่อช่วยลดน้ำหนักตัว อีกทั้งวิธีนี้ยังช่วยให้มีสุขภาพดีอย่างยั่งยืนอีกด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. สถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์กรมการแพทย์กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางเวชปฏิบัติการป้องกันและดูแลรักษาโรคอ้วน [อินเทอร์เน็ต]. 2553 [เข้าถึงเมื่อ 17 มิถุนายน 2567]. เข้าถึงได้จาก: http://www.imrta.dms.moph.go.th/imrta/images/pdf_cpg/2553/53-4.pdf.
  2. Yumuk V, Tsigos C, Fried M, et al. Obesity Management Task Force of the European Association for the Study of Obesity. European Guidelines for Obesity Management in Adults. Obes Facts. 2015 Dec 5; 8(6):402-24.
  3. Papamargaritis D, le Roux CW, Holst JJ, Davies MJ. New therapies for obesity. Cardiovasc Res. 2024 Feb 17; 119(18):2825-2842.
  4. Wang JY, Wang QW, Yang XY, et al. GLP-1 receptor agonists for the treatment of obesity: Role as a promising approach. Front Endocrinol (Lausanne). 2023 Feb 1; 14:1085799.
  5. Jeong D, Priefer R. Anti-obesity weight loss medications: Short-term and long-term use. Life Sci. 2022 Oct 1; 306:120825.
  6. Rubino DM, Greenway FL, Khalid U, et al. Effect of Weekly Subcutaneous Semaglutide vs Daily Liraglutide on Body Weight in Adults with Overweight or Obesity Without Diabetes: The STEP 8 Randomized Clinical Trial. JAMA. 2022 Jan 11; 327(2):138-150.
  7. Azuri J, Hammerman A, Aboalhasan E, et al. Tirzepatide versus semaglutide for weight loss in patients with type 2 diabetes mellitus: A value for money analysis. Diabetes Obes Metab. 2023 Apr; 25(4):961-964.
  8. Rodriguez PJ, Goodwin Cartwright BM, Gratzl S, et al. Semaglutide vs Tirzepatide for Weight Loss in Adults with Overweight or Obesity. JAMA Intern Med. 2024 Jul 8:e242525.
  9. Food and drug administration. SAXENDA(R) injection [internet]. 2014 [cited 2024 Jun 26]. Available from: https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2023/206321s016lbl.pdf.
  10. Food and drug administration. WEGOVY(R) injection [internet]. 2017 [cited 2024 Jun 26]. Available from: https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2024/215256s011lbl.pdf.
  11. Food and drug administration. ZEPBOUND(R) injection [internet]. 2023 [cited 2024 Jun 26]. Available from: https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2023/217806s000lbl.pdf.
  12. Danowitz M, De Leon DD. The Role of GLP-1 Signaling in Hypoglycemia due to Hyperinsulinism. Front Endocrinol (Lausanne). 2022 Mar 24; 13:863184.
  13. พัชญา บุญชยาอนันต์, ยงเกษม วรเศรษฐการกิจ, บรรณาธิการ. คู่มือแนวทางการดูแลผู้ที่น้ำหนักเกินและอ้วน เครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย [อินเทอร์เน็ต]. 2558 [เข้าถึงเมื่อ 17 มิถุนายน 2567]. เข้าถึงได้จาก: https://dol.thaihealth.or.th/resourcecenter/sites/default/files/ documents/ khuumuueaenwthaangkaarldnamhnak.pdf?download.
  14. Abdi Beshir S, Ahmed Elnour A, Soorya A, et al. A narrative review of approved and emerging anti-obesity medications. Saudi Pharm J. 2023 Oct; 31(10):101757.


คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
ยาลดน้ำหนักรุ่นใหม่ โรคอ้วน การลดน้ำหนัก
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้