หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ยาพ่นจมูกแก้ปวดไมเกรน

โดย นศภ. วริษฐา วิชาธิคุณ ภายใต้คำแนะนำของ รศ.ดร.ภญ.มัลลิกา ชมนาวัง เผยแพร่ตั้งแต่ 20 กันยายน พ.ศ.2567 -- 944 views
 

โรคปวดศีรษะไมเกรน (migraine headaches) เป็นโรคเรื้อรังทางระบบประสาท ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันจนนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ลดลง พบว่าในประเทศไทยมีความชุกของผู้ป่วยโรคปวดศีรษะไมเกรนอยู่ที่ 29.1% โดยพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และพบมากในช่วงอายุ 30-39 ปี สำหรับสาเหตุการเกิดโรคยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดแต่คาดว่าอาจเกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมองหรือภาวะไวต่อการรับความรู้สึกเจ็บปวดของระบบประสาท โดยปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรนมีมากมายขึ้นกับแต่ละบุคคล เช่น ความเครียด การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในช่วงที่มีประจำเดือน อากาศเปลี่ยนแปลง การนอนหลับที่มากหรือน้อยเกินไป[1-5]

ไมเกรนมีอาการอย่างไร[1]

ผู้ป่วยโรคปวดศีรษะไมเกรนมักจะมีอาการปวดศีรษะข้างเดียว ปวดแบบตุบ ๆ หรือปวดตามชีพจร มีระยะเวลาปวดแต่ละครั้ง 4-72 ชั่วโมงเมื่อไม่ได้รับการรักษา และอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย รวมถึงมักจะปวดมากขึ้นเมื่ออยู่ในที่แสงจ้า (photophobia) หรือมีเสียงดัง (phonophobia) ทั้งนี้ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องมีอาการดังกล่าวครบทุกอาการ

การรักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนด้วยยา[1,2,6]

ผู้ป่วยควรได้รับยาแก้ปวดไมเกรนให้เร็วที่สุดเมื่อมีอาการปวดเพื่อให้หายจากอาการปวดศีรษะภายใน 2 ชั่วโมง และไม่กลับมาเป็นซ้ำอีกใน 24 ชั่วโมง รวมถึงสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งยาแก้ปวดไมเกรนแบ่งเป็น 2 ประเภท โดยอาจเริ่มต้นเลือกใช้จากความรุนแรงในการปวดศีรษะหรือผลข้างเคียงจากยา ได้แก่

1. ยาแก้ปวดทั่วไป ใช้ในกรณีปวดศีรษะเล็กน้อยหรือปานกลาง ยังสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ ได้แก่ paracetamol และยากลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (non-steroidal anti-inflammatory drugs; NSAIDs เช่น diclofenac potassium, ibuprofen, naproxen เป็นต้น

2. ยาแก้ปวดเฉพาะไมเกรน ใช้กรณีปวดศีรษะปานกลางหรือมากจนไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ หรือกรณีไม่ตอบสนองหรือมีผลข้างเคียงจากยาแก้ปวดทั่วไป เช่น ergotamine/caffeine และยากลุ่มทริปแทน (triptans) เช่น sumatriptan และ zolmitriptan รวมถึงยาพ่นจมูก zavegepant

ยาพ่นจมูกแก้ปวดไมเกรน[6-17]

ข้อมูลจากการสำรวจพบว่ามีผู้ป่วยไมเกรนกลุ่มที่มีอาการคลื่นไส้และอาเจียนอย่างรุนแรงจนทำให้การรับประทานยาแก้ปวดไมเกรนไม่ให้ประสิทธิภาพจากยาอย่างเต็มที่ เนื่องจากผู้ป่วยอาเจียนยาออกมาจนเกือบหมด นำมาสู่การพิจารณาพัฒนายาแก้ปวดไมเกรนในรูปแบบยาพ่นจมูก (nasal spray) ซึ่งในปัจจุบันมีจำหน่ายด้วยตัวยาหลายชนิด เช่น dihydroergotamine mesylate, ยากลุ่ม triptans และ zavegepant ซึ่งมีข้อควรระวังหรือข้อห้ามใช้ที่แตกต่างกันดังรายละเอียดในตารางที่ 1 โดยคาดว่าอาจมียาเหล่านี้จำหน่ายในประเทศไทยเร็ว ๆ นี้

ตารางที่ 1 ตัวอย่างยาแก้ปวดศีรษะไมเกรนรูปแบบพ่นจมูกและข้อควรระวัง

ตัวยาสำคัญ
(ตัวอย่างยี่ห้อยา)

ข้อควรระวังหรือข้อห้ามใช้

Dihydroergotamine

(Diergo®, Migranal®, Trudhesa®)

- มักทำให้คลื่นไส้ ควรพิจารณาให้ยาต้านอาเจียนร่วมด้วย

- หากใช้ ≥10 วัน/เดือน อาจทำให้เกิดโรคปวดศีีรษะจากการใช้ยาแก้ปวดมากเกินไป (medication overuse headache)

- ห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคหัวใจขาด (ischemic heart disease) หรือหลอดเลือดหัวใจตีบ (coronary artery vasospasm)

- ห้ามใช้ในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้ (uncontrolled hypertension) โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ (peripheral arterial diseases) หรือผู้ที่มีภาวะตับหรือไตบกพร่องอย่างรุนแรง (severe renal or hepatic impairment)

Sumatriptan

(Imitrex®, Tosymra®, Onzetra Xsail®)

- หากใช้ ≥10 วัน/เดือน อาจทำให้เกิดโรคปวดศีีรษะจากการใช้ยาแก้ปวดมากเกินไป

- ห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดหรือหลอดเลือดหัวใจตีบ

- ห้ามใช้ในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้หรือโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ

Zolmitriptan

(Zomig®)

- หากใช้ ≥10 วัน/เดือน อาจทำให้เกิดโรคปวดศีีรษะจากการใช้ยาแก้ปวดมากเกินไป

- ห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดหรือหลอดเลือดหัวใจตีบ

- ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่ควบคุมความดันโลหิตสูงไม่ได้หรือโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ

- ไม่แนะนำในผู้ที่มีภาวะตับบกพร่องปานกลางหรือรุนแรง (moderate to severe hepatic impairment)

Zavegepant

(Zavzpret®)

หลีกเลี่ยงการใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะตับผิดปกติอย่างรุนแรง (severe hepatic impairment)

ยาพ่นจมูกทำงานอย่างไร[18]

ยารักษาอาการปวดไมเกรนรูปแบบพ่นจมูกสามารถดูดซึมผ่านทางเยื่อบุจมูกและเข้าสู่สมองโดยตรง ทำให้ไม่ถูกทำลายที่บริเวณทางเดินอาหาร มีผลช่วยเพิ่มการดูดซึมและเกิดการออกฤทธิ์ได้รวดเร็ว โดยพบว่ายาพ่นจมูกรักษาอาการปวดไมเกรนบางตัวสามารถบรรเทาอาการปวดได้ภายใน 15 นาทีหลังได้รับยา

ใครบ้างที่เหมาะกับรูปแบบยาพ่นจมูก[2]

  • ผู้ป่วยโรคไมเกรนที่ต้องการฤทธิ์แก้ปวดเร็วกว่ายารับประทาน
  • ผู้ป่วยโรคไมเกรนที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนรุนแรง
  • ผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อยารักษาอาการปวดศีรษะชนิดรับประทาน
  • ผู้ป่วยที่มีปัญหาในการกลืนยาเม็ด

วิธีการใช้ยาพ่นจมูก[14-19]

สำหรับวิธีการใช้ควรปฏิบัติตามคำแนะนำหรือเอกสารกำกับของแต่ละยี่ห้อหรือแต่ละบริษัท โดยทั่วไปแล้วควรกำจัดน้ำมูกหรือล้างจมูกก่อนใช้ยา สอดหัวพ่นเข้ารูจมูกพร้อมกับปิดรูจมูกอีกข้างหนึ่ง จากนั้นกดพ่นยาพร้อมกับสูดหายใจเข้าช้า ๆ โดยให้ศีรษะตั้งตรงอยู่เสมอ เนื่องจากหากสูดหายใจอย่างรุนแรงและเอนศีรษะไปด้านหลังจะทำให้ยาไหลลงสู่ลำคอกลับกลายเป็นการรับประทานยา ซึ่งจะสูญเสียข้อดีในการออกฤทธิ์เร็วของรูปแบบยาพ่นจมูก

สรุป

ยาพ่นจมูกอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการบรรเทาอาการปวดของผู้ป่วยโรคไมเกรน และคาดว่าจะเป็นรูปแบบยาที่นิยมใช้มากขึ้นในอนาคตเนื่องจากออกฤทธิ์ได้เร็ว และมีความสะดวกในการใช้ยา

เอกสารอ้างอิง

  1. ชมรมศึกษาโรคปวดศีรษะภายใต้สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย. แนวทางเวชปฏิบัติิการวินิจฉัยและการรักษาปวดศีรษะไมเกรน [อินเทอร์เน็ต]. 2565 [เข้าถึงเมื่อ 12 กรกฎาคม 2567]. เข้าถึงได้จาก: http://neurothai.org/media/news_file/495-CPG-migraine-2565-20230104074752.pdf.
  2. Ailani J, Burch RC, Robbins MS, et al. The American headache society consensus statement: update on integrating new migraine treatments into clinical practice. Headache. 2021 Jul;61(7):1021-39.
  3. Vongvaivanich K. Migraine headaches: acute treatment in Thailand. Bangk Med J. 2011 Sep 20; 2:95.
  4. Supronsinchai W, James SR, Srikiatkhachorn A. Pathogenesis of migraine. J Med Health Sci. 2014 Oct 1;21(2):25-31.
  5. Pescador Ruschel MA, Jesus OD. Migraine headache [Internet]. 2023 [cited 22 Jul 67]. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK560787/.
  6. Silberstein SD. Migraine symptoms: Results of a survey of self-reported migraineurs. Headache. 1995 Jul; 35(7):387-96.
  7. Leroux E, Buchanan A, Lombard L, Loo LS, Bridge D, Rousseau B, et al. Evaluation of patients with insufficient efficacy and/or tolerability to triptans for the acute treatment of migraine: a systematic literature review. Adv Ther. 2020 Dec; 37:4765-96.
  8. Mayans L, Walling A. Acute migraine headache: treatment strategies. Am Fam Physician. 2018 Feb 15;97(4):243-51.
  9. Micromedex. Ketorolac [Internet]. 2024 [cited 14 Jul 24]. Available from: https://www-micromedexsolutions-com.
  10. Micromedex. Dihydroergotamine [Internet]. 2024 [cited 14 Jul 24]. Available from: https://www-micromedexsolutions-com.
  11. Micromedex. Sumatriptan [Internet]. 2024 [cited 14 Jul 24]. Available from: https://www-micromedexsolutions-com.
  12. Micromedex. Zolmitriptan [Internet]. 2024 [cited 14 Jul 24]. Available from: https://www-micromedexsolutions-com.
  13. Micromedex. Zavegepant [Internet]. 2024 [cited 14 Jul 24]. Available from: https://www-micromedexsolutions-com.
  14. Mipharm. TRUDHESA (prescribing information) [Internet]. 2021 [cited 14 Jul 24]. Available from: https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2021/213436s000lbl.pdf.
  15. GlaxoSmithKline. IMITREX (prescribing information) [Internet]. 2017 [cited 14 Jul 24]. Available from: https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2017/ 020626s027lbl.pdf.
  16. Impax Specialty Pharma. ZOMIG® (prescribing information) [Internet]. 2018 [cited 14 Jul 24]. Available from: https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2018/ 020768s023,021231s014,021450s010lbl.pdf.
  17. Pfizer. ZAVZPRET [Internet]. 2023 [cited 14 Jul 24]. Available from: https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2023/216386s000lbl.pdf.
  18. Martin V, Hoekman J, Aurora SK, Shrewsbury SB. Nasal delivery of acute medications for migraine: the upper versus lower nasal space. J Clin Med. 2021 Jun 2;10(11):2468.
  19. Tepper DE. Nasal sprays for the treatment of migraine. Headache. 2013 Mar 1; 53(3):577-8.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
ไมเกรน ยาพ่นจมูก
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.5 น้ำตาลตกจากยาเบาหวาน (Hypoglycemia from anti-diabetics)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้