หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

การป้องกันเอชไอวีด้วย PrEP และ PEP ต่างกันอย่างไร

โดย นศภ.กมลชนก ไม้เรียง ภายใต้คำแนะนำของ รศ.ดร.ภญ.ปิยทิพย์ ขันตยาภรณ์ เผยแพร่ตั้งแต่ 6 สิงหาคม พ.ศ.2567 -- 2,254 views
 

การป้องกันเอชไอวี

แม้ว่าการแพร่ระบาดของเอชไอวีในประเทศไทยมีแนวโน้มที่ลดลง แต่ก็ยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นอยู่ โดยสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกันและการฉีดสารเสพติดที่ไม่ปลอดภัย (1) ดังนั้นการติดเชื้อเอชไอวียังคงเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อย อย่างไรก็ตามมียาที่มีประสิทธิภาพดีที่สามารถใช้ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้ในปัจจุบัน บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทุกท่านได้ทำความรู้จักกับ PrEP และ PEP ซึ่งเป็นสูตรยาที่แนะนำให้ใช้กันในวงกว้างในปัจจุบันว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร

PrEP คืออะไร

PrEP (เพร็พ) ย่อมาจาก Pre-Exposure Prophylaxis คือ การป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อเอชไอวี เป็นสูตรยาที่ใช้สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อเอชไอวี (2) ได้แก่

- มีคู่นอนหลายคนโดยไม่ป้องกัน

- มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัยกับผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี หรือผู้ที่ไม่ทราบผลการติดเชื้อเอชไอวี

- ทำงานให้บริการทางเพศ

- มีความสัมพันธ์แบบชายรักชาย

- ใช้สารเสพติดด้วยวิธีฉีดและใช้เข็มร่วมกับผู้อื่น

- มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองใน ซิฟิลิส เป็นต้น ภายใน 6 เดือนที่ผ่านมา

งานวิจัยพบว่า PrEP มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันเอชไอวี กล่าวคือช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ จากการมีเพศสัมพันธ์ได้ประมาณ 99% และในกลุ่มผู้ใช้สารเสพติดด้วยวิธีฉีดพบว่า PrEP ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้ออย่างน้อย 74% เมื่อใช้ตามคำสั่งแพทย์อย่างถูกต้อง (2)

PEP คืออะไร

PEP (เป็ป) ย่อมาจาก Post-Exposure Prophylaxis คือ การใช้ยาต้านไวรัสหลังจากเหตุการณ์ที่มีความเสี่ยงสูงในการสัมผัสเชื้อเอสไอวี (3) ซึ่งผู้ที่มีความเสี่ยงแบ่งเป็นสองกรณี (4) คือ

- บุคลากรทางการแพทย์หลังสัมผัสจากการทำงาน (occupational PEP, oPEP) เช่น ถูกเข็มฉีดยาตำ หรือมีดบาด สัมผัสเยื่อบุหรือเลือดของคนไข้

- หลังสัมผัสเชื้อที่ไม่ใช่จากการทำงาน (non-occupational PEP, nPEP) เช่น การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันด้วยถุงยางอนามัย การถูกล่วงละเมิดทางเพศ การใช้สารเสพติดชนิดฉีดโดยใช้เข็มร่วมกับผู้อื่น มีบาดแผลและสัมผัสกับสารคัดหลั่ง

PEP มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อแต่ไม่ได้ผล 100% ยิ่งเริ่มใช้ PEP เร็วยิ่งสามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวีได้มากกว่า 80% โดยประสิทธิภาพจะขึ้นอยู่กับความสม่ำเสมอในการรับประทาน ทั้งนี้ควรใช้ PEP ในสถานการณ์ฉุกเฉินเท่านั้น ไม่ใช้โดยมุ่งหมายเพื่อแทนที่การใช้วิธีป้องกันอื่น ๆ เป็นประจำ เช่น การใช้ถุงยางอนามัยอย่างสม่ำเสมอและเหมาะสมในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ หรือการป้องกันก่อนสัมผัส (PrEP) และกรณีคิดว่าเพิ่งสัมผัสเชื้อ ให้แจ้งแพทย์ประจำห้องฉุกเฉินทันที (3)

สูตรและวิธีการรับประทาน PrEP และ PEP

PrEP (4,5) ประเทศไทยแนะนำสูตรยา PrEP ชนิดรับประทาน โดยแพทย์จะพิจารณาเลือกระหว่างการรับประทานทุกวันและรับประทานเฉพาะช่วงตามคำแนะนำดังตาราง

รูปแบบ PrEP

รับประทานทุกวัน (Daily)

รับประทานเฉพาะช่วง (On-Demand)

กลุ่มที่ใช้ได้

ทุกกลุ่ม

มีความสัมพันธ์แบบชายรักชาย

สูตรยา

แพทย์พิจารณาเลือกให้สูตรใดสูตรหนึ่งระหว่าง

- Tenofovir disoproxil fumarate + Emtricitabine หรือ Lamivudine

- Tenofovir alafenamide + Emtricitabine

Tenofovir disoproxil fumarate + Emtricitabine

วิธีรับประทาน

รับประทานยาแบบ 1-1-1-... คือรับประทานยาวันละ 1 เม็ด ทุกวันเป็นเวลา 7 วัน ก่อนมีเพศสัมพันธ์จากนั้นรับประทานยาวันละ 1 เม็ด ทุกวันเป็นเวลา 7 วัน นับจากที่มีเพศสัมพันธ์ครั้งสุดท้าย

รับประทานยาแบบ 2-1-1 คือ รับประทานยา 2 เม็ดพร้อมกัน ก่อนมีเพศสัมพันธ์ 2-24 ชั่วโมง และหลังมีเพศสัมพันธ์ รับประทานยาวันละ 1 เม็ด เป็นเวลา 2 วันหลังมีเพศสัมพันธ์

ข้อมูลเพิ่มเติม

กรณีลืมรับประทานยา ให้รับประทานทันทีที่นึกได้ ถ้าลืมจนใกล้ถึงเวลารับประทานเม็ดต่อไป (<6 ชั่วโมง) ให้ข้ามเม็ดที่ลืมไป แล้วรับประทานตามกำหนดการปกติ ไม่ต้องรับประทานชดเชยเป็น 2 เท่า

หากมีเพศสัมพันธ์ติดต่อกันหรือใกล้เคียงกันหลายวัน ให้รับประทานยาวันละ 1 เม็ดติดต่อกันทุกวันจนถึง 2 วัน หลังมีเพศสัมพันธ์ครั้งสุดท้าย

PEP (4) การใช้ PEP เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ควรใช้้ยาโดยเร็วที่สุดหลังสัมผัส (ภายใน 1-2 ชั่วโมง) และอย่างช้าที่สุดไม่เกิน 72 ชั่วโมง หลังสัมผัส โดยต้องรับประทาน PEP ทุกวันจนครบเป็นเวลา 4 สัปดาห์ หรือ 28 วัน และควรอยู่ภายใต้การติดตามดูแลของแพทย์ หากเริ่ม PEP หลังจากสัมผัสเชื้อมากกว่า 72 ชั่วโมง จากการวิจัยพบว่า PEP มักจะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อ HIV ได้ แต่ทั้งนี้ขึ้นกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการพิจารณาให้ยา PEP เป็นราย ๆ ไป โดยมียาให้เลือกใช้ดังตาราง

สูตร PEP

แพทย์พิจารณาเลือกให้สูตรใดสูตรหนึ่งระหว่าง

- Tenofovir disoproxil fumarate* + Emtricitabine หรือ Lamivudine

- Tenofovir alafenamide + Emtricitabine

วันละครั้ง

+

Dolutegravir วันละครั้ง (สูตรแนะนำ)

+

ยาต่อไปนี้หนึ่งชนิด วันละครั้ง (สูตรทางเลือก)

- Rilpivirine

- Atazanavir + ritonavir

- Darunavir + ritonavir

- Bictegravir

*กรณีไตมีปัญหาแทน tenofovir disoproxil fumarate ในสูตรด้วย zidovudine ทุก 12 ชั่วโมง

PrEP กับ PEP หาซื้อได้ที่ไหน?

ทั้ง PrEP และ PEP ไม่มีจำหน่ายที่ร้านขายยา ไม่สามารถหาซื้อมารับประทานเองได้ เนื่องจากก่อนการรับประทานยาจะต้องได้รับการตรวจร่างกายที่สถานพยาบาล และยาจะถูกสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น เพื่อเลือกสูตรยาให้เหมาะสมกับผู้ใช้ยามากที่สุด

ก่อนใช้ต้องตรวจร่างกายอะไรบ้าง?

การตรวจร่างกายประกอบไปด้วย การตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี การทำงานของไต การตั้งครรภ์ การมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น เช่น ซิฟิลิส หนองใน หนองในเทียม เป็นต้น การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และซี ก่อนเริ่มการใช้ PrEP กับ PEP

วิธีการปฏิบัติตัวระหว่างใช้ PrEP หรือ PEP

ถึงแม้ว่าการใช้ PrEP หรือ PEP จะช่วยลดการติดเชื้อเอชไอวีได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ควรใช้ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันโรคทางเพศสัมพันธ์อื่นอีกมากมาย ซึ่ง PrEP หรือ PEP ไม่สามารถป้องกันได้ และการรับประทานยาต้องเป็นไปตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ตรงเวลาไม่หยุดยาหรือเพิ่มลดขนาดยาเอง นอกจากนี้แล้วหลังจากใช้ยาแล้วควรพบแพทย์ตามนัดเพื่อตรวจร่างกาย และตรวจหาเชื้อเอชไอวีทุก 3 เดือน

ผลข้างเคียงจากการใช้ PrEP และ PEP

ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ในการใช้ PrEP และ PEP เช่น คลื่นไส้ ท้องอืด ท้องเสีย ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดท้อง นอนไม่หลับ ซึมเศร้า เป็นต้น ผลข้างเคียงเหล่านี้มักจะหายไปในช่วงเดือนแรกหลังจากเริ่มรับประทานยา ส่วนใหญ่ไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรง (5) ในส่วนของอาการข้างเคียงรุนแรงที่พบได้ คือ ความผิดปกติของไต ซึ่งผู้ที่ได้รับยาจะได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับอาการที่บ่งชี้ถึงความผิดปกติของไตวายฉับพลัน ซึ่งอาการนี้ส่วนใหญ่พบในคนอายุมากกว่า 40 ปี หรือมีการทำงานของไตบกพร่องอยู่แล้ว โดยพบได้ประมาณ 0.5% และจะกลับสู่สภาวะเดิมได้หลังจากหยุดรับประทานยา (5)

สรุป

ความแตกต่างของ PrEP และ PEP ในประเด็นต่าง ๆ สรุปได้ดังตารางต่อไปนี้

สูตรยา

PrEP

PEP

ข้อบ่งใช้

ป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อเอชไอวี

ป้องกันหลังการสัมผัสเชื้อเอชไอวี

เริ่มตอนไหน ?

รับประทานก่อนสัมผัสเชื้อ 7 วัน

รับประทานภายใน 72 ชั่วโมง

หลังสัมผัสเชื้อ

หยุดเมื่อไหร่ ?

หยุดยาหลังสัมผัสเชื้อมาแล้ว 7 วัน

และอยู่ภายใต้การพิจารณาของแพทย์

รับประทานให้ครบ 28 วัน

ใครบ้างที่ควรรับประทาน ?

- มีคู่นอนหลายคนโดยไม่ป้องกัน

- มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัยกับผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี หรือผู้ที่ไม่ทราบผลการติดเชื้อเอชไอวี

- ทำงานให้บริการทางเพศ

- มีความสัมพันธ์แบบชายรักชาย

- ใช้สารเสพติดด้วยวิธีฉีดและใช้เข็มร่วมกับผู้อื่น

- มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองใน ซิฟิลิส เป็นต้น ภายใน 6 เดือนที่ผ่านมา

- บุคลากรทางการแพทย์หลังสัมผัสจากการทำงาน เช่น ถูกเข็มฉีดยาตำ หรือมีดบาด สัมผัสเยื่อบุหรือเลือดของคนไข้

- หลังสัมผัสเชื้อที่ไม่ใช่จากการทำงาน เช่น การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันด้วยถุงยางอนามัย การถูกล่วงละเมิดทางเพศ การใช้สารเสพติดชนิดฉีดโดยใช้เข็มร่วมกับผู้อื่น มีบาดแผลและสัมผัสกับสารคัดหลั่ง

ก่อนเริ่มใช้ยา

- ไปพบแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยงและพิจารณาให้ยา

- มีการตรวจร่างกายก่อนใช้ยา ต้องไม่พบเชื้อเอชไอวี

- ไม่ตั้งครรภ์

หลังเริ่มใช้ยา

- ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์

- รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด

- มาพบแพทย์ตามนัดเพื่อตรวจร่างกาย และอาการไม่พึงประสงค์จากยา

- ตรวจหาเชื้อเอชไอวีทุก 3 เดือน

เอกสารอ้างอิง

  1. กรมควบคุมโรค กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กระทรวงสาธารณสุข. สถานการณ์เอชไอวีประเทศไทย ปี 2565.
  2. Pre-exposure prophylaxis (PrEP) [Internet]. Nih.gov. [cited 2024 May 13]. Available from: https://hivinfo.nih.gov/understanding-hiv/fact-sheets/pre-exposure-prophylaxis-prep.
  3. Post-exposure prophylaxis (PEP) [Internet]. Nih.gov. [cited 2024 May 13]. Available from: https://hivinfo.nih.gov/understanding-hiv/fact-sheets/post-exposure-prophylaxis-pep.
  4. Ruxrungtham K, Chokephaibulkit K, Chetchotisakd P, Chariyalertsak S, Kiertburanakul S, Putacharoen O, et al. Thailand National Guidelines on HIV/AIDS Treatment and Prevention 2021/2022. Nonthaburi: Division of AIDS and STIs, Department of Disease Control; 2022.
  5. Division of AIDS and Sexual Transmitted Diseases. Department of Disease Control. Thailand National Guidelines for Pre-Exposure Prophylaxis (PrEP) 2021.
    Edition 2. Nonthaburi: Department of Disease Control (TH); 2021.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
PrEP PEP HIV ป้องกัน เอชไอวี
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.5 น้ำตาลตกจากยาเบาหวาน (Hypoglycemia from anti-diabetics)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้