อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อทั้งจากการยกของหนัก ออกกำลังกาย นั่งท่าเดิมนาน ๆ เป็นอาการที่พบได้บ่อยและเป็นปัญหาเรื้อรังของหลาย ๆ คนในสังคมปัจจุบันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยทำงาน ทำให้ยานวดแก้ปวดเป็นยาที่นิยมมากเป็นอันดับต้น ๆ เมื่อมีอาการปวดตึงกล้ามเนื้อ ยานวดแก้ปวดที่วางขายในท้องตลาด สามารถแบ่งเป็น 2 สูตรหลัก คือ ยานวดสูตรร้อน และยานวดสูตรเย็น ซึ่งสาระสำคัญที่ใช้ และสัดส่วนปริมาณสารสำคัญที่ใช้แตกต่างกัน โดยเฉพาะยานวดสูตรร้อนที่ปัจจุบันมีหลากหลายสูตรตำรับให้เลือกใช้ ได้แก่ สูตรน้ำมันระกำ สูตรพริก แต่หลายคนยังไม่ทราบว่ายานวดสูตรร้อนที่ถึงแม้จะให้ความรู้สึกร้อนเหมือนกัน แต่แท้จริงแล้วใช้ในอาการปวดที่แตกต่างกัน รวมถึงยานวดสูตรร้อนบางชนิดที่ผู้คนมักเข้าใจผิดว่าต้องถูนวดร่วมด้วยถึงจะอาการดีขึ้น ดังนั้นบทความนี้จะมาไขข้อสงสัยว่ายานวดสูตรร้อนสูตรไหนควรใช้ตอนไหนกันแน่ เพื่อแก้ต้นตอของอาการปวดได้อย่างถูกจุด
อาการปวดเป็นความรู้สึกส่วนบุคคล โดยอาการปวดอาจทำให้เกิดความทุกข์ทรมานร่วมกับการบาดเจ็บ และอาจส่งผลทั้งทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ โดยหากแบ่งอาการปวดภายนอกตามความผิดปกติที่เกิดขึ้น สามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิด ดังนี้
1. อาการปวดจากกล้ามเนื้อบาดเจ็บ อักเสบ หรือถูกทำลาย ซึ่งในทางการแพทย์เรียกอาการปวดแบบนี้ว่า อาการปวดแบบโซมาติก (somatic pain) มักเป็นอาการที่สามารถบอกตำแหน่งปวดได้ชัดเจน เช่น ข้อเข่า และอาการปวดสัมพันธ์กับการขยับบริเวณที่ปวด สาเหตุอาการปวด เช่น การออกกำลังกาย การนั่งหรือยืนทำงานนาน ๆ การนั่งผิดท่า การบาดเจ็บทั้งจากการหกล้ม ยกของหนัก ตัวอย่างคำอธิบายอาการปวด เช่น ปวดฝืด ๆ หนัก ๆ ปวดตุ๊บ ๆ แน่น ๆ ตึง ๆ ปวดบีบ ๆ หนึบ ๆ ตื้อ ๆ ปวดเหมือนถูกแทง ปวดเหมือนถูกมีดบาด ปวดเหมือนถูกแทะ เป็นต้น
2. อาการปวดจากระบบประสาททำงานผิดปกติ (neuropathic pain) เป็นความปวดที่เกิดจากระบบประสาททำงานผิดปกติ เช่น ปวดซ่า ๆ ชา ๆ ตามปลายมือ ปลายเท้า ปวดจี๊ด ๆ เหมือนเข็มตำ ปวดแปล๊บเหมือนไฟช็อต ปวดไหม้แสบร้อน เป็นต้น สาเหตุของอาการปวด เช่น ปวดจากเบาหวาน (diabetic neuropathy) ปวดจากมะเร็ง (cancer pain) ปวดจากงูสวัด (post-herpetic neuralgia) เป็นต้น
หากแบ่งตามตัวยาสำคัญที่พบได้ในยานวดสูตรร้อน สามารถแบ่งได้เป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มตัวยาสำคัญที่ให้ความรู้สึกร้อน ได้แก่ น้ำมันระกำ แคปไซซิน และกลุ่มตัวยาสำคัญอื่นที่ผสมอยู่ ได้แก่ เมนทอล การบูร ยาบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เป็นต้น โดยข้อควรรู้เกี่ยวกับสารเหล่านี้มีรายละเอียดดังนี้
น้ำมันระกำ (methyl salicylate)3-7 หรือบางครั้งอาจรู้จักในชื่อ น้ำมันเขียว หรือน้ำมันวินเทอร์กรีน (wintergreen oil) มักนำมาเป็นส่วนผสมของ ครีม ขี้ผึ้ง น้ำมันทาถูนวด สำหรับบรรเทาอาการปวดต่าง ๆ ที่ไม่รุนแรง เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปวดหลัง ปวดเกร็งตามร่างกาย และข้อต่อในบริเวณที่อยู่ใกล้กับผิวหนัง เช่น นิ้วมือ หัวเข่า หรือข้อศอก และมักใช้ได้ผลดีกับอาการปวดชนิดเฉียบพลันที่ไม่รุนแรง ความเข้มข้นที่ใช้ในยานวดมักอยู่ในช่วง 10-60% โดยอาจอยู่ในรูปแบบของยาเดี่ยวหรืออยู่ในรูปแบบของยาผสมร่วมกับสารสำคัญอื่น ๆ เช่น เมนทอลและการบูร ซึ่งสารทั้งคู่ช่วยเสริมฤทธิ์ในการเป็นสารแก้ระคาย ช่วยให้เกิดอาการชาอ่อน ๆ และช่วยให้มีกลิ่นหอม ทำให้น่าใช้มากยิ่งขึ้น
กลไกการออกฤทธิ์ เกิดจากตัวยามีฤทธิ์เป็นสารแก้ระคาย (counterirritant) ที่มีฤทธิ์ร้อน ซึ่งเมื่อทาบริเวณผิวหนังแล้วจะทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคืองหรือเกิดการอักเสบเล็กน้อย ทำให้ผิวหนังร้อนแดง ส่งผลให้เส้นเลือดบริเวณผิวหนังขยายตัวทำให้เกิดความรู้สึกอุ่นถึงร้อนขณะทา แต่ฤทธิ์ลดปวดนั้นเป็นผลจากการที่สัญญาณความปวดจากบริเวณที่บาดเจ็บถูกยับยั้ง ทำให้ส่งสัญญาณความปวดไปถึงสมองได้น้อยลง จึงมีความรู้สึกปวดลดลง
วิธีการบริหารยา คือ ใช้ “ทา ถู นวด” บริเวณที่ปวด 2-3 ครั้ง/วัน สามารถใช้นวดเพื่อช่วยผ่อนคลายได้
อาการไม่พึงประสงค์ เช่น แสบ ร้อนบริเวณที่นวด หรืออาจเกิดอาการแพ้ยา เช่น ผื่นคัน บวมตามใบหน้า ลำคอ และริมฝีปาก เป็นต้น
แคปไซซิน (capsaicin)6-10 เป็นสารสำคัญที่สกัดได้จากพืชตระกูลพริก และพบมากบริเวณรกพริก โดยความพิเศษของแคปไซซิน คือ สามารถลดอาการปวดจากกล้ามเนื้อบาดเจ็บและอาการปวดจากระบบประสาททำงานผิดปกติได้ ความเข้มข้นของแคปไซซินที่ใช้ลดอาการปวดจะอยู่ในช่วง 0.025-0.075% โดยที่แคปไซซินขนาด 0.025% ตามบัญชียาหลักแห่งชาติมีข้อบ่งใช้บรรเทาอาการปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ เช่น บาดเจ็บจากการเล่นกีฬา นอกจากนี้แคปไซซินยังสามารถใช้รักษาอาการปวดจากปลายประสาท โดยเวชปฏิบัติในภาวะปวดเหตุพยาธิสภาพประสาทปี พ.ศ. 2563 แนะนำให้ใช้แคปไซซินขนาด 0.075% ในการรักษาอาการปวดจากปลายประสาท แต่มีรายงานการศึกษาว่าการแคปไซซินในขนาดต่ำ คือ 0.025% ก็สามารถใช้รักษาอาการปวดจากปลายประสาทได้ โดยจะต้องใช้ต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย 4 สัปดาห์ จึงจะเห็นผลการรักษา แล้วค่อย ๆ ปรับเพิ่มขนาดยาหากอาการยังไม่ดีขึ้น ทั้งนี้บางผลิตภัณฑ์อาจเป็นตำรับผสมของน้ำมันระกำและแคปไซซิน แต่มีปริมาณแคปไซซินไม่ถึง 0.025% ซึ่งใช้บรรเทาอาการปวดจากการอักเสบกล้ามเนื้อได้ เนื่องจากมีส่วนผสมของน้ำมันระกำในการช่วยแก้ปวด แต่ไม่สามารถลดอาการปวดจากปลายประสาทได้ เนื่องจากความเข้มข้นของแคปไซซินไม่เพียงพอ
“แคปไซซิน กับ สารสกัดพริก ได้จากพริกเหมือนกัน แต่สารสำคัญไม่เหมือนกัน !!” แคปไซซิน เป็นสารสำคัญในการออกฤทธิ์ ซึ่งสกัดมาจากผลพริกแห้ง แต่ในบางผลิตภัณฑ์อาจระบุเป็น “สารสกัดพริก” ที่อาจจะมีสารอื่น ๆ นอกเหนือจากแคปไซซินรวมอยู่ จึงไม่ได้บ่งบอกถึงปริมาณของแคปไซซินที่แท้จริง ทำให้อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการรักษาได้ ดังนั้นในการเลือกใช้ต้องอ่านฉลากยาเพื่อดูว่าสารสำคัญที่ใช้เป็นแคปไซซินหรือเป็นสารสกัดพริก และหากเป็นแคปไซซินควรดูด้วยว่าความเข้มข้นเท่าไหร่ โดยรูปแบบแคปไซซินที่มีใช้ เช่น ไฮโดรเจล เจลลี่ สเปรย์ และแผ่นแปะ
กลไกการออกฤทธิ์ เกิดจากตัวยามีฤทธิ์เป็นสารแก้ระคายที่มีฤทธิ์ร้อน ทำให้ช่วงแรกของการทาจะรู้สึกแสบ ร้อน จากการที่หลอดเลือดบริเวณผิวหนังขยายตัว ซึ่งกลไกนี้คล้ายคลึงกับกลไกของน้ำมันระกำ แต่ความแตกต่าง คือ เมื่อทาแคปไซซินซ้ำ ๆ ที่ผิวหนัง หลาย ๆ วัน จะทำให้เซลล์ประสาทรับความรู้สึกปวดไม่ตอบสนอง (desensitization) ต่อสิ่งกระตุ้น โดยการไปลดสารสื่อประสาทที่นำความปวดและเพิ่มระดับเริ่มตอบสนอง (threshold) ทำให้อาการปวดลดลงและความรู้สึกร้อนน้อยกว่าการทาในช่วงแรก ดังนั้นหลักการลดความปวดของแคปไซซิน เกิดจากการที่ใช้แคปไซซินต่อเนื่องกันหลาย ๆ สัปดาห์ จนทำให้เกิดการไม่ตอบสนองของตัวรับความรู้สึกปวด จึงช่วยระงับปวดที่เกิดจากการอักเสบกล้ามเนื้อ และปวดจากปลายประสาทได้
วิธีการบริหารยา คือ ใช้ “ทา” บริเวณที่ปวดเป็นฟิล์มบาง ๆ โดย “ไม่ต้องถูนวด” 2-3 ครั้ง/วัน และควรทาต่อเนื่องจนกว่าอาการจะดีขึ้น สามารถทาติดต่อกันได้นานเป็นเดือน
อาการไม่พึงประสงค์ เช่น ผิวหนังแดง ปวด แสบ ร้อน คันบริเวณที่ทา
เมนทอล (menthol)3-5 หรือที่รู้จักในชื่อ เกล็ดสะระแหน่ เป็นสารที่สกัดได้จากพืชบางชนิด เช่น สะระแหน่ไทยหรือสะระแหน่ฝรั่ง มักใช้เป็นส่วนประกอบทั้งในยานวดสูตรเย็นและยานวดสูตรร้อน เนื่องจากตัวยาเป็นสารแก้ระคายที่มีฤทธิ์เย็น เมื่อทาบริเวณผิวหนังแล้วตัวยาจะไปขยายหลอดเลือดบริเวณผิวหนัง และไปกระตุ้นเส้นประสาทที่รับรู้ความเย็น ทำให้เกิดความรู้สึกเย็นและระงับอาการปวดได้ นอกจากนี้ เมนทอลยังมีฤทธิ์เป็นยาชาอย่างอ่อน ช่วยให้สดชื่น คลายเครียด ผ่อนคลายจากความเหนื่อยล้า จึงมักพบเป็นสูตรยาผสมอยู่ในยานวดสูตรร้อนควบคู่กับน้ำมันระกำ ความเข้มข้นของเมนทอลที่ใช้ในยานวดจะอยู่ในช่วง 1.2-16% โดยถ้าหากเป็นยานวดสูตรร้อน จะใช้ความเข้มข้นที่ต่ำกว่ายานวดสูตรเย็น เพราะต้องการฤทธิ์ร้อนของน้ำมันระกำเป็นหลัก
การบูร (camphor)3,4 มีลักษณะเป็นเกล็ดสีขาว มีกลิ่นหอม นิยมนำมาใช้ทำเป็นยาดม บรรเทาอาการคัดจมูก มีฤทธิ์กระตุ้นประสาท ทำให้รู้สึกสดชื่น รวมถึงช่วยบรรเทาอาการปวดและลดการอักเสบได้ด้วย เนื่องจากตัวยาเป็นสารแก้ระคายที่มีฤทธิ์เย็น เมื่อทาบริเวณผิวหนังแล้วตัวยาจะไปขยายหลอดเลือดบริเวณผิวหนังและทำให้รู้สึกเย็น จึงลดอาการปวดได้คล้ายคลึงกับเมนทอล ความเข้มข้นที่ใช้เป็นยาทาแก้ปวดอยู่ในช่วง 3-11% ในยานวดสูตรเย็น แต่ในยานวดสูตรร้อนที่มีน้ำมันระกำเป็นส่วนประกอบหลัก มักใช้การบูรความเข้มข้นต่ำกว่า 3% วัตถุประสงค์เพื่อช่วยเป็นสารแต่งกลิ่น กลิ่นหอมของการบูรช่วยให้สดชื่น ผ่อนคลายจากความเหนื่อยล้าได้
ยาบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (non-steroidal anti-inflammatory drug, NSAIDs)6 ในบางผลิตภัณฑ์อาจมีการผสมยาบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์เข้าไปด้วย เพื่อช่วยในการลดอาการปวด อักเสบ และช่วยเสริมฤทธิ์แก้ปวดกับตัวยาสำคัญอื่น ๆ เช่น น้ำมันระกำ แคปไซซิน ทำให้ลดอาการปวดได้เร็วขึ้น และเพิ่มความสะดวกในการใช้ โดยตัวยาที่นิยมใช้ผสม เช่น ไดโคลฟีแนค (diclofenac) ไพร็อคซิแคม (piroxicam) ไดเอทิลลามีนซาลิไซเลท (diethylamine salicylate) เป็นต้น
ยานวดสูตรร้อนทั้งสูตรที่มีน้ำมันระกำ หรือสูตรพริก ถึงแม้จะเป็นสารในกลุ่มสารแก้ระคายที่ทำให้รู้สึกร้อนเหมือนกัน แต่มีกลไกการออกฤทธิ์และประโยชน์ต่ออาการปวดไม่เหมือนกัน รวมถึงวิธีการบริหารยาก็แตกต่างกันอีกด้วย โดยหากเป็นการปวดจากเส้นประสาทดังที่กล่าวไว้ข้างต้น การใช้ยานวดที่มีสารสำคัญเป็น แคปไซซินเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษา แต่ทั้งนี้การใช้แคปไซซินไม่ได้เห็นผลการรักษาแบบทันทีทันใด จะต้องใช้ต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย 4 สัปดาห์จึงจะเห็นผลการรักษา รวมถึงวิธีการบริหารยา คือ ให้ “ทา” บริเวณที่ปวดโดย “ไม่ต้องถูนวด” เพราะตัวยาเป็นสารสำคัญที่ได้จากพริก การถูนวดซ้ำ ๆ จะทำให้แสบร้อนได้ ซึ่งแตกต่างกับยานวดสูตรน้ำมันระกำที่สามารถถูนวดระหว่างการใช้ได้
แต่ถ้าหากมีอาการปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ เช่น บาดเจ็บจากการเล่นกีฬา จากการยกของหนัก สามารถเลือกใช้ได้ทั้งยานวดที่มีส่วนผสมของน้ำมันระกำและยานวดที่มีส่วนผสมของแคปไซซิน หรือหากอาการยังไม่ดีขึ้น สามารถเลือกใช้คู่กันหรือใช้สูตรผสมที่มีทั้งน้ำมันระกำและแคปไซซิน เพื่อเสริมฤทธิ์บรรเทาอาการปวดให้ได้ผลดีมากยิ่งขึ้น
ยานวดที่ฉลากยาระบุว่าสามารถใช้บรรเทาอาการปวด ไม่ได้ใช้กับการปวดทุกชนิด หากปวดต่างกัน การเลือกใช้ยานวดในการรักษาก็แตกต่างกัน ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัญกับความถูกต้องในการเลือกใช้ยานวด โดยเฉพาะยานวดสูตรร้อน ที่ให้ความรู้สึกร้อนเหมือนกัน จนทำให้ประชาชนมักเข้าใจผิดว่าใช้บรรเทาอาการปวดได้คล้าย ๆ กัน แต่แท้จริงแล้วกลไกการออกฤทธิ์ รวมถึงผลการรักษาไม่เหมือนกัน ทั้งนี้การเลือกใช้ยานวดเพื่อบรรเทาอาการปวด สามารถปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อช่วยให้ใช้ยาได้อย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพและปลอดภัย