ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพิ่มมากขึ้น หลายคนอาจเป็นโรคซึมเศร้าโดยที่ตนเองไม่รู้ตัวทำให้ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมหรือได้รับการรักษาช้ากว่าที่ควรจะเป็น นอกจากนี้มีหลายองค์ประกอบที่ส่งผลทำให้โรคซึมเศร้ารักษาได้ยาก จึงพบผู้ป่วยที่ล้มเหลวในการรักษาจนทำให้อาการแย่ลงและเกิดการฆ่าตัวตาย จากข้อมูลของระบบคลังข้อมูลสุขภาพ (Health Data Center) กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2567 ได้รายงานสถิติการป่วยเป็นโรคซึมเศร้าพบว่ามีประชากรในประเทศไทยที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าประมาณ 1.3 ล้านคน[1] และจากข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังป้องกันการฆ่าตัวตาย โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ สถิติการฆ่าตัวตายนับตั้งแต่ตุลาคม พ.ศ. 2565 ถึงกันยายน พ.ศ. 2566 พบคนไทยเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายกว่า 5 พันคน[2] เพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้าที่พบคนไทยเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายอยู่ที่ประมาณ 4,600 คน[3] ดังนั้นการทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาการรักษาโรคซึมเศร้า รวมทั้งการใช้ยาอย่างถูกต้อง จึงมีความสำคัญเพื่อช่วยให้ประสบความสำเร็จในการรักษาโรคนี้
โรคซึมเศร้าคืออะไร
โรคซึมเศร้า คือ ความผิดปกติทางอารมณ์ที่แสดงออกในลักษณะต่าง ๆ ได้แก่ อารมณ์เศร้า การขาดแรงจูงใจในสิ่งที่ตนเองชอบ การขาดพลังงาน มีความรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ หรือมีสมาธิจดจ่อน้อยลง เป็นต้น[4] โรคซึมเศร้ามีส่วนลดคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและนำไปสู่การฆ่าตัวตายในที่สุด โรคซึมเศร้าพบได้ในทุกเพศทุกวัย โดยผู้ใหญ่จะมีอัตราการป่วยและการฆ่าตัวตายสูงกว่าวัยอื่น ซึ่งอาจเกิดมาจากหลายสาเหตุ ได้แก่ ปัญหาการทำงาน เศรษฐกิจ ความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด เป็นต้น[5]
การรักษาโรคซึมเศร้ามีอะไรบ้าง
การรักษาโรคซึมเศร้ามีทั้งวิธีการใช้ยาและไม่ใช้ยา โดยยาที่ใช้รักษาโรคซึมเศร้าสามารถแบ่งได้เป็นหลายกลุ่มย่อย ซึ่งแต่ละกลุ่มอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงสำคัญที่แตกต่างกัน ดังตัวอย่างในตารางที่ 1[6]
ตารางที่ 1 ตัวอย่างยารักษาโรคซึมเศร้าที่ใช้ในประเทศไทย[6-10]
กลุ่มยารักษาโรคซึมเศร้า
|
ตัวอย่างยา
|
ผลข้างเคียงสำคัญที่อาจพบ
|
Tricyclic antidepressants (TCAs)
|
Amitriptyline, Clomipramine, Doxepin, Imipramine, Nortriptyline
|
ปากแห้ง ปัสสาวะขัด ท้องผูก ความดันโลหิตลดลงเฉียบพลันขณะเปลี่ยนท่าทาง หัวใจเต้นผิดจังหวะ ชัก พิษต่อตับ
|
Selective serotonin reuptake inhibitors (SSRIs)
|
Citalopram, Escitalopram, Fluoxetine, Fluvoxamine, Sertraline
|
ปวดศีรษะ สมรรถภาพทางเพศหย่อนลง เลือดออกง่าย หัวใจเต้นผิดจังหวะ
|
Serotonin norepinephrine reuptake inhibitors (SNRIs)
|
Desvenlafaxine, Duloxetine, Venlafaxine
|
ปวดศีรษะ เหงื่อออกมาก ความดันโลหิตสูง เลือดออกง่าย กระดูกเสื่อม
|
Noradrenaline and specific serotonergic antidepressants (NASSAs)
|
Mirtazapine
|
ง่วงซึม น้ำหนักเพิ่ม ท้องผูก คลอเรสเตอรอลในเลือดสูง ไขกระดูกเสื่อม
|
Serotonin antagonists and reuptake inhibitors (SARIs)
|
Trazodone
|
ง่วงซึม ปวดศีรษะ ปากแห้ง ความดันโลหิตลดลงเฉียบพลันขณะเปลี่ยนท่าทาง องคชาตแข็งค้าง หัวใจเต้นผิดจังหวะ
|
Norepinephrine dopamine reuptake inhibitors (NDRI)
|
Bupropion
|
นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ น้ำหนักลดท้องผูก ปากแห้ง คลื่นไส้อาเจียน มือสั่น มองเห็นภาพไม่ชัด หัวใจเต้นเร็ว คอหอยอักเสบ ชัก
|
สำหรับการรักษาที่ไม่ใช้ยา สามารถแบ่งออกเป็นหลายวิธี ได้แก่
-
จิตบำบัด (psychotherapy) เช่น การบำบัดโดยรำลึกความทรงจำที่ดี (reminiscence therapy) การบำบัดโดยการอาศัยสติ (mindfulness-based cognitive therapy) หรือดนตรีบำบัด (music therapy)
-
การกระตุ้นสมองโดยไม่ผ่าตัด (non-invasive brain stimulation therapy) เช่น การรักษาด้วยไฟฟ้าชนิดให้ยานำสลบร่วม (modified electroconvulsive therapy) การกระตุ้นโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (repetitive transcranial magnetic stimulation)[11]
ทำไมการรักษาโรคซึมเศร้าจึงยากกว่าที่คิด
แม้ว่าในปัจจุบันความรู้เกี่ยวกับการวินิจฉัยโรคซึมเศร้าและยาที่ใช้รักษาจะก้าวหน้าไปมาก แต่กลับพบผู้ป่วยจำนวนมากที่ไม่ตอบสนองต่อยา เรียกภาวะนี้ว่าโรคซึมเศร้าที่ดื้อต่อการรักษา ผู้ป่วยเหล่านี้จะประสบปัญหาในการเข้าสังคม มีสุขภาพกายที่แย่ลง และมีความพยายามฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เมื่อการรักษาโรคซึมเศร้าล้มเหลว ทำให้ต้องเริ่มการรักษาใหม่[12] ซึ่งมีการศึกษาพบว่าหากต้องรักษาโรคซึมเศร้าซ้ำหลายครั้ง โอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการรักษาจะลดลงเรื่อย ๆ เมื่อเทียบกับการรักษาในครั้งแรก[13]
การดื้อต่อการรักษาโรคซึมเศร้าอาจมีสาเหตุมาจากทั้งตัวผู้ป่วยเอง หรือจากบุคคลากรทางการแพทย์ (เช่น แพทย์และเภสัชกร) ดังนี้[14]
ปัจจัยจากผู้ป่วย
-
ผู้ป่วยหยุดใช้ยาเองทั้งที่การรักษายังไม่เสร็จสิ้น ซึ่งอาจเกิดจากผลข้างเคียงของยา (ตารางที่ 1) ทำให้ผู้ป่วยไม่อยากรับประทานยา ทั้งนี้พบผู้ป่วยจำนวนมากที่หยุดใช้ยาตั้งแต่สัปดาห์แรกหรือเดือนแรกของการรักษา ทำให้การรักษาขาดประสิทธิภาพ[14]
-
ผู้ป่วยลืมรับประทานยา ซึ่งอาจเกิดจากการที่ผู้ป่วยมีโรคอื่น ๆ ร่วมด้วย จึงต้องใช้ยาหลายชนิด ทำให้อาจรับประทานยาไม่ครบตามที่แพทย์สั่ง[14]
-
ปัญหาต่าง ๆ จากครอบครัวและสิ่งแวดล้อมรอบตัวผู้ป่วย เช่น ปัญหาในครอบครัว สภาพเศรษฐกิจ การทารุณกรรม รวมทั้งความไม่เข้าใจเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าและปัจจัยกระตุ้นต่าง ๆ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้สามารถส่งผลให้สุขภาพจิตของผู้ป่วยแย่ลง โดยเฉพาะในเด็กและวัยรุ่น ทำให้เกิดการกลับมาเป็นซ้ำของโรคซึมเศร้าได้[15]
ปัจจัยจากบุคลากรทางการแพทย์
-
ขาดการสื่อสารที่เหมาะสมกับผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยหยุดการรักษาก่อนที่ควรจะเป็น เช่น
-
หลังจากที่ผู้ป่วยมีอาการของโรคดีขึ้นแล้ว แพทย์และเภสัชกรยังต้องกำชับให้ผู้ป่วยใช้ยารักษาต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย 4-5 เดือน แต่บางครั้งผู้ป่วยอาจไม่ได้รับคำแนะนำหรือการเน้นย้ำเกี่ยวกับประเด็นนี้ จึงหยุดใช้ยาก่อนกำหนด ทำให้โรคซึมเศร้ากลับมาเป็นซ้ำได้
-
แพทย์และเภสัชกรทำให้ผู้ป่วยเกิดความกังวลใจเกี่ยวกับอาการข้างเคียงของยา จนลังเลที่จะใช้ยาและตัดสินใจหยุดการรักษาเอง[16]
-
ผู้ป่วยได้รับยาในขนาด/ปริมาณที่ไม่เหมาะสม จนไม่ได้ผลในการรักษาโรคซึมเศร้า[14]
-
ผู้ป่วยไม่ได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับข้อควรระวังต่าง ๆ เช่น หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์ อีกทั้งสารอื่น ๆ ซึ่งอาจมีผลรบกวนการรักษาโรคซึมเศร้า[17]
ควรทำอย่างไร การรักษาจึงจะได้ผล
นอกจากคำแนะนำจากบุคคลากรทางการแพทย์แล้ว ผู้ป่วยเองและคนรอบข้างมีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้การรักษาโรคซึมเศร้ามีประสิทธิภาพจนสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ โดยผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้
คำแนะนำเกี่ยวกับการรับประทานยา[18]
-
เมื่อผู้ป่วยรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งผ่านไป 1 สัปดาห์แล้ว ให้ผู้ป่วยหรือผู้ดูแลเริ่มสังเกตผลลัพธ์จากการรักษา และหากรักษาไปได้ 4 สัปดาห์แล้ว แต่ผู้ป่วยยังมีอาการต่าง ๆ ของโรคซึมเศร้าอยู่ เช่น อารมณ์เศร้า เบื่อในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เป็นต้น ให้แจ้งแพทย์ผู้ทำการรักษาเพื่อหาสาเหตุรบกวนต่าง ๆ บางกรณีอาจต้องเพิ่มขนาดยาหรือเปลี่ยนเป็นยาชนิดอื่น
-
ผู้ป่วยหรือผู้ดูแลควรทราบผลข้างเคียงของยาที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งวิธีการป้องกันหรือแก้ไขเบื้องต้น (ตารางที่ 2) เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายจากยา
-
หากผู้ป่วยลืมรับประทานยา 1 ครั้ง ให้รับประทานยาทันทีที่นึกได้ แต่ถ้าใกล้กับเวลารับประทานยารอบถัดไป ให้รับประทานรอบนั้นตามปกติ (ไม่เพิ่มขนาดยาเป็นเท่าตัวเพราะจะทำให้เกิดผลข้างเคียงจากยาได้) หากลืมรับประทานยามากกว่า 1 ครั้ง ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสม
-
หากผู้ป่วยต้องการหยุดรับประทานยาต้านซึมเศร้า ควรปรึกษาแพทย์ โดยแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยค่อย ๆ ลดขนาดยาลง เช่น ปรับลดขนาดยาสัปดาห์ละครั้ง แต่ห้ามหยุดยาทันที เพราะจะทำให้เกิดอาการถอนยา เช่น นอนไม่หลับ เหงื่อออกมาก กระเพาะอาหารปั่นป่วน และกระวนกระวาย เป็นต้น[18]
ตารางที่ 2 ตัวอย่างคำแนะนำวิธีการป้องกันและแก้ไขผลข้างเคียงจากยาต้านซึมเศร้า[19]
ผลข้างเคียง
|
คำแนะนำ
|
ง่วงนอน มึนงง วิงเวียนศีรษะ
|
- หลีกเลี่ยงการขับขี่และการใช้เครื่องจักรขณะใช้ยานี้
- ควรเคลื่อนไหวช้า ๆ จากท่านอนเป็นท่านั่งหรือท่ายืน
|
นอนไม่หลับ
|
- ควรรับประทานยาในตอนเช้า
- หลีกเลี่ยงกาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่
|
ปากแห้ง
|
- เคี้ยวหมากฝรั่งชนิดไม่มีน้ำตาล เพื่อเร่งการสร้างน้ำลาย
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ
|
ท้องผูก
|
- รับประทานผัก ผลไม้ที่มีเส้นใยสูง เพื่อช่วยการขับถ่าย
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ
- ออกกำลังกายมากขึ้น
|
สมรรถภาพทางเพศเสื่อมลง
|
- ปรึกษาแพทย์เพื่อลดขนาดยา หรือเปลี่ยนเป็นยาอื่น
|
คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ชีวิตประจำวัน[21]
-
ผู้ป่วยควรทำกิจกรรมสันทนาการต่าง ๆ เพื่อไม่ให้เกิดความเบื่อหน่าย เช่น ปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ วาดรูป เป็นต้น
-
ออกไปนอกบ้านกับเพื่อนหรือคนสนิทบ้าง ไม่เก็บตัวเงียบคนเดียว
-
พูดคุยกับคนรอบข้างในสิ่งที่ผู้ป่วยต้องการ หรือพูดคุยในเรื่องที่ทำให้ผู้ป่วยมีความสุข เพื่อช่วยลดความเครียดหรือความเศร้า
บทสรุป
โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่มีความผิดปกติของอารมณ์ สามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยา อย่างไรก็ตามมีหลายปัจจัยที่อาจทำให้ผู้ป่วยล้มเหลวจากการรักษา เช่น ผลข้างเคียงจากยา ตัวผู้ป่วยเองที่ไม่เข้าใจเกี่ยวกับโรคและยาที่ใช้ และบุคลากรทางการแพทย์ที่อาจสื่อสารกับผู้ป่วยไม่ชัดเจน ดังนั้นบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย รวมทั้งประชาชนทั่วไป จึงควรร่วมมือกันทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าและแนวทางการรักษา เพื่อช่วยลดปัญหาความล้มเหลวในการรักษา ซึ่งจะเป็นการลดปัญหาสังคมของประเทศชาติอีกด้วย
เอกสารอ้างอิง
-
THAIDEPRESSION. รายงานการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าปีงบประมาณ 2567 (ฐานข้อมูล HDC) (ใช้ประชากรประจำปี2565 จาก HDC ในการคำนวณ) [อินเทอร์เน็ต]. 2567[เข้าถึงเมื่อ 20 พ.ค. 2567]. เข้าถึงได้จาก: https://thaidepression.com/www/report/main_report/pdf/ahb-04-24-mix_HDC.pdf.
-
ศูนย์เฝ้าระวังป้องกันการฆ่าตัวตาย โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์. รายงานสถานการณ์การฆ่าตัวตายในประเทศไทย ปีงบประมาณ 2566 [อินเทอร์เน็ต]. 2567 [เข้าถึงเมื่อ 20 พ.ค. 2567]. เข้าถึงได้จาก: https://suicide.dmh.go.th/news/view.asp?id=92#:~:text=จากรายงานสถิติการฆ่า,เท่ากับ%2047.74%20ต่อแสนประชากร.
-
ศูนย์เฝ้าระวังป้องกันการฆ่าตัวตาย โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์. ปัญหาการฆ่าตัวตายในคนไทย ปี 2565 [อินเทอร์เน็ต]. 2565 [เข้าถึงเมื่อ 20 พ.ค. 2567]. เข้าถึงได้จาก: https://suicide. dmh.go.th/news/files/สรุปผลการวิเคราะห์ข้อมูลปัญหาการฆ่าตัวตายv2.1.pdf.
-
Li Z, Ruan M, Chen J, Fang Y. Major Depressive Disorder: Advances in Neuroscience Research and Translational Applications. Neurosci Bull. 2021; 37(6):863-880.
-
ธนิสา ทวิชศรี, บุญธิดา เสงี่ยมเนตร. วิกฤติเศรษฐกิจ วิกฤติคน [อินเทอร์เน็ต]. 2564 [cited 2024 May 12]. Available from https://www.pier.or.th/abridged/2021/08/
-
Sheffler ZM, Patel P, Abdijadid S. Antidepressants. [Updated 2023 May 26]. In: StatPearls [Internet]. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2024 Jan. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK538182/
-
Wang SM, Han C, Bahk WM, et al. Addressing the Side Effects of Contemporary Antidepressant Drugs: A Comprehensive Review. Chonnam Med J. 2018; 54(2):101-112.
-
Jilani TN, Gibbons JR, Faizy RM, et al. Mirtazapine. [Updated 2023 Aug 28]. In: StatPearls [Internet]. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2024 Jan. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK519059/
-
Shin JJ, Saadabadi A. Trazodone. [Updated 2024 Feb 29]. In: StatPearls [Internet]. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2024 Jan. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK470560/
-
Huecker MR, Smiley A, Saadabadi A. Bupropion. [Updated 2023 Apr 9]. In: StatPearls [Internet]. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2024 Jan. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK470212/
-
Shang W, Guo L, Liu Y, et al. PROTOCOL: Non-pharmacological interventions for older people with a diagnosis of depression: An evidence and gap map. Campbell Syst Rev. 2023; 19(4):e1354.
-
Al-Harbi KS. Treatment-resistant depression: therapeutic trends, challenges, and future directions. Patient Prefer Adherence. 2012; 6:369-388.
-
TMS Center of New Orleans. What to do when antidepressants don’t work for you (and why) [Internet]. 2024 [cited 2024 Jun 2]. Available from https://www.tmscenterofneworleans.com/about/depression-drugs-tms/what-to-do-when-antidepressants-dont-work-for-you-and-why.
-
Mohr DC, Brenner C, Stiles-Shields C, et al. Medlink: A Mobile Intervention to Address Failure Points in the Treatment of Depression in General Medicine. Int Conf Pervasive Comput Technol Healthc. 2015; 2015:100-107.
-
Halonen J, Hakko H, Riala K, Riipinen P. Familial Risk Factors in Relation to Recurrent Depression Among Former Adolescent Psychiatric Inpatients. Child Psychiatry Hum Dev. 2022; 53(3):515-525.
-
Savard M. Bridging the communication gap between physicians and their patients with physical symptoms of depression. Prim Care Companion J Clin Psychiatry. 2004; 6 (Suppl 1):17-24.
-
Kamusheva M, Skowron A. The Potential Role of the Pharmacist in Supporting Patients with Depression - A Literature - Based Point of View. Integr Pharm Res Pract. 2020; 9: 49-63.
-
NHS. Dosage-Antidepressant [Internet].2021 [cited 2024 May 20]. Available from https://www.nhs.uk/mental-health/talking-therapies-medicine-treatments/medicines-and-psychiatry/antidepressants/dosage/#:~:text=Antidepressants%20are% 20usually%20taken%20in,notice%20the%20effects%20of%20antidepressants.
-
HealthLinkBC. Dealing with Medicine Side Effects and Interactions [Internet]. 2023 [cited 2024 May 20]. Available from https://www.healthlinkbc.ca/health-topics/dealing-medicine-side-effects-and-interactions.
-
Simon LV, Torrico TJ, Keenaghan M. Serotonin Syndrome. [Updated 2024 Mar 2]. In: StatPearls [Internet]. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2024 Jan. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK482377/
-
ณหทัย วงศ์ปการันย์, ทินกร วงศ์ปการันย์, เธียรชัย งามทิพย์วัฒนา, ยุพาพรรณ ศิริอ้าย, คะนึงนิจ ไชยลังกาการณ์, วิรัตน์ นิวัฒนนันท์. คู่มือการดูแลผู้สูงวัย : สูตรคลายซึมเศร้า. ครั้งที่ 1. นนทบุรี: โอเพ่นวิลด์ส พับลิชชิ่ง เฮาส์; 2559.