หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

รู้จัก “แผ่นแปะ” และ “ยาป้าย” รักษาแผลในปาก

โดย นศภ.ณันทิยา สุขเพ็ญ ภายใต้คำแนะนำของ รศ.ดร.ภก.จิรพงศ์ สุขสิริวรพงศ์ เผยแพร่ตั้งแต่ 5 เมษายน พ.ศ.2566 -- 51,469 views
 

หากกล่าวถึงแผลในปากแล้ว มั่นใจได้ว่าผู้อ่านต้องเคยพบกับปัญหานี้ เช่น แผลร้อนใน แผลที่เกิดจากการกัดกระพุ้งแก้ม แผลที่เกิดจากเหล็กจัดฟัน เป็นต้น ปัญหาแผลในปากสร้างความลำบากในการรับประทานอาหารและการใช้ชีวิตประจำวัน บางคนอาจจะปล่อยให้แผลนั้นหายไปเอง เเต่บางคนอาจจะใช้ยารักษา โดยยารักษาหลักที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปตามร้านขายยา คือ ยาใช้สำหรับรักษาแผลในปากแบบยาป้ายและแผ่นแปะ ซึ่งข้อควรรู้ของการใช้ยาป้ายรวมทั้งความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการรักษาแผลในปากสามารถอ่านได้จาก แผลในปาก...ปัญหากวนใจกับการเลือกใช้ “ยาป้ายปาก” (mahidol.ac.th) สำหรับบทความนี้จะมุ่งกล่าวถึงยารักษาแผลในปากชนิด “แผ่นแปะ” และความแตกต่างของยาทั้ง 2 รูปแบบ

ข้อควรรู้และความแตกต่างที่สำคัญของ “ยาป้าย” และ “แผ่นแปะ” รักษาแผลในปาก สามารถสรุปได้ดังแสดงในตาราง

ตารางเปรียบเทียบความแตกต่างของยารูปแบบยาป้ายกับแผ่นแปะ1-7

รูปแบบยา

ยาป้าย

แผ่นแปะ

ตัวยาสำคัญที่พบบ่อย

Triamcinolone acetonide (สเตียรอยด์ลดอาการอักเสบ) หรือ lidocaine hydrochloride (ยาชาลดอาการเจ็บ)

Natural calcium + silicon + phosphorus (สารอนินทรีย์ช่วยสมานแผล)

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์

Kanolone
Lonna gel
T-ora paste
Trinolone oral paste
Kamisted-Gel N

TIME oral ulcer patch

รูปแบบยา
(drug dosage form)

เพสต์ (pastes)

เป็นยาแบบกึ่งแข็ง (semisolid) มีลักษณะเหนียว หนืดกว่ายารูปแบบเจล เนื้อหยาบ มีส่วนประกอบของผงยาที่ไม่ละลาย เนื้อเพสต์จะมีความมัน ยึดเกาะเยื่อบุในช่องปากจากความเหนียวของเพสต์

เจล (gel)

เป็นยาในรูปแบบกึ่งแข็ง มีเนื้อเนียน และหนืดน้อยกว่าเพสต์ ตัวยาจะอยู่ในรูปแขวนตะกอนที่กระจายตัวอย่างสม่ำเสมอหรือสารละลายในตัวกลางที่ประกอบด้วยน้ำและสารก่อเจลที่มีคุณสมบัติในการยึดเกาะเยื่อบุในช่องปากได้

แผ่นแปะ (patch)

มีชั้นของตัวยาสำคัญที่กระจายอยู่ในพอลิเมอร์ ซึ่งมีคุณสมบัติในการยึดเกาะเยื่อบุในช่องปากและสามารถละลายน้ำได้ แผ่นแปะด้านหนึ่งมีผิวขรุขระเพื่อเสริมการยึดเกาะที่ดี อีกด้านหนึ่งมีลักษณะเรียบ เมื่อแผ่นแปะสัมผัสน้ำลาย สารพอลิเมอร์จะดูดน้ำเข้ามายังแผ่นแปะเกิดการยึดเกาะเยื่อบุในช่องปากและกลายเป็นเจลเคลือบแผล หากเปรียบเทียบกับเจลและเพสต์ การปลดปล่อยตัวยาจากแผ่นแปะอาจช้ากว่าเนื่องจากต้องอาศัยเวลาที่น้ำจากน้ำลายแพร่เข้าสู่แผ่นแปะและละลายตัวยาสำคัญ ก่อนที่แผ่นแปะซึ่งเปียกน้ำจะกลายสภาพเป็นเจลและทำให้ตัวยาแพร่ออกจากแผ่นแปะ

หลักการออกฤทธิ์

ออกฤทธิ์เป็นยาเฉพาะที่ ดังนั้นเมื่อทา ตัวยาจะแพร่จากเพสต์หรือเจลลงสู่เยื่อบุในช่องปากแล้วออกฤทธิ์ลดการอักเสบหรือลดอาการปวด

ออกฤทธิ์เป็นยาเฉพาะที่ เมื่อแปะแผ่นยาลงบริเวณแผล แผ่นแปะจะบวมแล้วค่อย ๆ กลายสภาพเป็นแผ่นเคลือบบริเวณแผล จากนั้นตัวยาจะแพร่จากชั้นของเจลเข้าสู่แผลช่วยให้แผลสมาน

วิธีการใช้

ป้ายยาลงบริเวณที่เป็นแผล โดยปาดให้เป็นฟิล์มบาง ๆ ให้ทั่วแผล

แปะด้านขรุขระลงบริเวณแผล ใช้นิ้วกดแผ่นสักครู่เมื่อแผ่นแปะสัมผัสกับน้ำลาย จะกลายเป็นเจลบาง ๆ เคลือบแผล

ข้อดี

- สามารถป้ายยาให้ครอบคลุมบริเวณแผลที่ต้องการ แม้ว่าแผลนั้นจะมีขนาดใหญ่ หรือเป็นบริเวณที่ผิวไม่เรียบ
- ราคาถูกกว่ายารูปแบบแผ่นแปะ
- ยาในรูปแบบเจลป้ายได้ง่ายและไม่เหนียวเหนอะหนะติดนิ้ว

- ใช้งานง่าย
- พกพาสะดวก

ข้อจำกัด

- ความเหนียวของเพสต์ทำให้ป้ายยาก

- การยึดเกาะของเจลน้อยกว่าเมื่อเทียบกับเพสต์ อาจทำให้ต้องทายาบ่อยกว่า

- ขนาดแผ่นแปะอาจไม่ครอบคลุมแผลขนาดใหญ่
- แผ่นแปะสามารถหลุดออกได้ง่ายบริเวณที่ผิวไม่เรียบ เช่น บริเวณข้างลิ้น
- ราคาสูงกว่ายารูปแบบยาป้าย

จากข้อมูลในตารางจะเห็นได้ว่ายาป้ายและแผ่นแปะรักษาแผลในปากมีข้อดีที่ใช้งานง่ายและพกพาสะดวก อย่างไรก็ตามแผ่นแปะอาจไม่เหมาะกับแผลในปากในบริเวณที่ไม่เรียบเพราะอาจหลุดได้ง่าย เช่น ข้างลิ้น หรือแผลในปากขนาดใหญ่ รวมทั้งมีราคาที่สูงกว่ายาป้าย ผู้ใช้ยาจึงควรเลือกประเภทของยาให้เหมาะสมที่สุด

เอกสารอ้างอิง

1. Suharyani I, Mohammed AFA, Muchtaridi M, Wathoni N, Abdassah M. Evolution of drug delivery systems for recurrent aphthous stomatitis. Drug Des Devel Ther. 2021; 15:4071-89.

2. Jacob S, Nair AB, Boddu SHS, Gorain B, Sreeharsha N, Shah J. An updated overview of the emerging role of patch and film-based buccal delivery systems. Pharmaceutics. 2021; 13(8):1-39.

3. Burgess JA, Ven PF, Martin M, Sherman J, Haley J. Review of over-the-counter treatments for aphthous ulceration and results from use of a dissolving oral patch containing glycyrrhiza complex herbal extract. J Contemp Dent Pract. 2008; 9(3):88-98.

4. Allen LV and Ansel HC. Ansel's pharmaceutical dosage forms and drug delivery systems. 10th ed. Philadelphia, PA: Wolters Kluwer business; 2014.

5. Adepu S, Ramakrishna S. Controlled drug delivery systems: current status and future directions. Molecules. 2021; 26(19):5905.

6. Boddupalli BM, Mohammed ZN, Nath RA, Banji D. Mucoadhesive drug delivery system: an overview. J Adv Pharm Technol Res. 2010; 1(4):381-7.

7. Chatterjee B, Amalina N, Sengupta P, Mandal UK. Mucoadhesive polymers and their mode of action: a recent update. 2017; 7(5):195-203.


คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
แผ่นแปะ ยาป้าย แผลในปาก
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.1 ยาคุมฉุกเฉิน Emergency contraceptive pills

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้