หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ยาฉีดสำหรับโรคเบาหวานมีแค่อินซูลินจริงหรือ?

โดย นศภ.หทัยรัตน์ พานิชขจรกุล ภายใต้คำแนะนำของ รศ.ดร.ภก.กฤษณ์ ถิรพันธุ์เมธี เผยแพร่ตั้งแต่ 9 มีนาคม พ.ศ.2566 -- 7,316 views
 

หากนึกถึงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ non-communicable diseases หลายคนอาจนึกถึงโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไตเรื้อรัง แต่อีกหนึ่งโรคที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าพบจำนวนผู้ป่วยทั่วโลกมากเป็นลำดับต้น ๆ ได้แก่ โรคเบาหวาน โดยข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าในปี พ.ศ. 2564 ทั่วโลกมีผู้ป่วยเบาหวานสูงถึง 463 ล้านคน และได้มีการคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2588 จะมีผู้ป่วยเบาหวานทั่วโลกเพิ่มสูงถึง 629 ล้านคน เมื่อมองย้อนกลับมาในบริบทของประเทศไทย พบว่ามีอุบัติการณ์การเพิ่มขึ้นของโรคเบาหวานอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 300,000 คนต่อปี[1]

จากอุบัติการณ์ของโรคเบาหวานที่ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้บทบาทของยาที่ใช้ในการรักษาโรคเบาหวานมีความสำคัญและน่าสนใจมากขึ้น โดยในปัจจุบันมียาทั้งในรูปแบบรับประทานและฉีด ซึ่งหากกล่าวถึงยาฉีด ผู้คนส่วนใหญ่มักคิดว่ามีเพียงยากลุ่มอินซูลิน แต่แท้จริงแล้วยาฉีดที่ใช้ในการรักษาโรคเบาหวานยังมีอีกหนึ่งกลุ่ม ได้แก่ glucagon-like peptide-1 (GLP-1) receptor agonist

GLP-1 คืออะไร[2,3]

Glucagon-like peptide-1 หรือ GLP-1 คือ ฮอร์โมน (peptide hormone) ที่สร้างจากเยื่อบุผิวในลำไส้เล็กส่วนปลาย โดยจะหลั่งออกมาเพื่อตอบสนองต่อการบริโภคอาหาร และออกฤทธิ์ต่อระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย เช่น กระตุ้นการหลั่งอินซูลิน ยับยั้งการหลั่งกลูคากอน ยับยั้งการเคลื่อนไหวและหลั่งสารในทางเดินอาหาร เป็นต้น

บทบาทของ GLP-1 ในโรคเบาหวาน

จากการที่ GLP-1 มีผลเกี่ยวข้องกับการบริโภคอาหารและช่วยกระตุ้นการหลั่งอินซูลิน ทำให้มีการนำยาที่ออกฤทธิ์เหมือน GLP-1 ซึ่งเรียกว่า GLP-1 receptor agonist มาใช้สำหรับการรักษาโรคเบาหวาน[2] ซึ่ง GLP-1 จะไปมีผลต่ออวัยวะต่าง ๆ และช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดผ่านกลไกต่อไปนี้[4-5]

  • ตับอ่อน: กระตุ้นให้มีการสร้างและการหลั่งอินซูลิน ลดการหลั่งกลูคากอน กระตุ้นให้เซลล์ที่สร้างอินซูลินแบ่งตัวและมีชีวิตรอด
  • ตับ: ลดการสร้างน้ำตาลกลูโคสและช่วยเพิ่มการเก็บสะสมน้ำตาลกลูโคส
  • กล้ามเนื้อลาย: เพิ่มการเก็บกลับน้ำตาลกลูโคส

เนื่องจากกลไกหลักของ GLP-1 receptor agonist คือ กระตุ้นให้มีการหลั่งอินซูลิน ดังนั้นจึงมีข้อบ่งใช้ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 เท่านั้น ไม่สามารถใช้ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ได้

ยากลุ่ม GLP-1 receptor agonist[6-10]

GLP-1 receptor agonist ที่มีใช้ในปัจจุบันและคุณสมบัติของยาแต่ละชนิด แสดงในตารางต่อไปนี้

ชื่อยา

Exenatide

Lixisenatide

Dulaglutide

Liraglutide

Semaglutide

ชื่อการค้า

Byetta®

Lyxumia®

Trulicity®

Victoza®

Ozempic®

ข้อบ่งใช้

รักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2

- รักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2

- ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2

ขนาดยาที่มีในประเทศไทย

- 5 mcg/1.2 ml

- 10 mcg/2.4 ml

- 50 mcg/ml

- 100 mcg/ml

- 0.75 mg/0.5 ml

- 1.5 mg/0.5 ml

- 6 mg/ml

- 0.25 mg

- 0.5 mg

- 1 mg

วิธีบริหารยา

ฉีดใต้ผิวหนังบริเวณท้อง ต้นขา หรือต้นแขน

วิธีการใช้ยา

- ออกฤทธิ์ทันที

2 ครั้ง/วัน

- ออกฤทธิ์นาน

1 ครั้ง/สัปดาห์

1 ครั้ง/วัน

1 ครั้ง/สัปดาห์

1 ครั้ง/วัน

1 ครั้ง/สัปดาห์

ข้อห้ามใช้

- มีประวัติการเกิด hypersensitivity reaction (ภาวะภูมิไวเกิน) จากการใช้ยามาก่อน

- มีประวัติการเกิด hypersensitivity reaction

(ภาวะภูมิไวเกิน) จากการใช้ยามาก่อน

- มีประวัติหรือประวัติทางพันธุกรรมเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ (medullary thyroid carcinoma) หรือ multiple endocrine neoplasia syndrome type 2

อาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้จาก GLP-1 receptor agonist

อาการที่อาจพบบ่อย ได้แก่ เจ็บหรือบวมบริเวณที่ฉีด ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ คลื่นไส้อาเจียน และอาจมีอาการปวดท้อง เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง

  1. กองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค. กรมควบคุมโรค รณรงค์วันเบาหวานโลก ปี 2564 [อินเตอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 8 ส.ค. 2565]. เข้าถึงได้จาก: https://ddc.moph.go.th/brc/news.php?news=21692&deptcode=brc
  2. Holst JJ. The physiology of glucagon-like peptide 1. Physiol Rev. 2007;87(4):1409-39.
  3. Al-Badri G, Leggio GM, Musumeci G, Marzagalli R, et al. Tackling dipeptidyl peptidase IV in neurological disorders. Neural Regen Res. 2018;13(1):26–34.
  4. Nauck MA, Meier JJ. Incretin hormones: Their role in health and disease. Diabetes Obes Metab. 2018;20(1):5-21.
  5. Cheang JY, Moyle PM. Glucagon-like peptide-1 (GLP-1)-based therapeutics: Current status and future opportunities beyond type 2 diabetes. Chem Med Chem. 2018;13(7):662-71.
  6. Exenatide. In: In Depth Answers [Internet]. Greenwood Village (CO): IBM Corporation; 2022 [cited 2022 Aug 15]. Available from: www.micromedexsolutions.com.
  7. Lixisenatide. In: In Depth Answers [Internet]. Greenwood Village (CO): IBM Corporation; 2022 [cited 2022 Aug 15]. Available from: www.micromedexsolutions.com.
  8. Dulaglutide. In: In Depth Answers [Internet]. Greenwood Village (CO): IBM Corporation; 2022 [cited 2022 Aug 15]. Available from: www.micromedexsolutions.com.
  9. Liraglutide. In: In Depth Answers [Internet]. Greenwood Village (CO): IBM Corporation; 2022 [cited 2022 Aug 15]. Available from: www.micromedexsolutions.com.
  10. Semaglutide. In: In Depth Answers [Internet]. Greenwood Village (CO): IBM Corporation; 2022 [cited 2022 Dec 4]. Available from: www.micromedexsolutions.com.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
ยาฉีดในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 GLP-1 receptor agonist
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.1 ยาคุมฉุกเฉิน Emergency contraceptive pills

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้