หลายคนอาจเคยได้ยินเกี่ยวกับการทำเลสิก แต่จะมีใครบ้างที่รู้ว่าหลังทำเลสิกจะได้รับยาอะไรกลับบ้าน ซึ่งก่อนที่จะรู้จักกับยาเหล่านั้น เรามาทำความรู้จักกันก่อนว่าเลสิกคืออะไร
เลสิก ย่อมาจาก laser in situ keratomileusis เป็นหนึ่งในหัตถการแก้ไขภาวะสายตาผิดปกติ การทำเลสิกประกอบด้วย 2 ขั้นตอนหลัก คือ การแยกชั้นกระจกตา ตามด้วยการใช้เลเซอร์ในการแก้ไขสายตา โดยทั่วไปสามารถแบ่งเลสิกเป็น 2 แบบตามวิธีการแยกชั้นกระจกตา ได้แก่ การแยกชั้นกระจกตาด้วยใบมีด (microkeratome LASIK และ sub-bowman keratomileusis LASIK) และการแยกชั้นกระจกตาด้วยเลเซอร์ (femtosecond laser LASIK)[1]
หลังทำเลสิกไม่ว่าจะด้วยวิธีการใด อาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ ได้ โดยอาการที่พบบ่อย ได้แก่ ตาแห้ง ระคายเคืองตา ปวดตา นอกจากนี้อาจมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น การติดเชื้อที่ดวงตา ดังนั้นแพทย์จึงต้องให้ผู้ป่วยใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น[2-3]
การแยกชั้นกระจกตามักทำให้เกิดอาการตาแห้ง จึงต้องใช้น้ำตาเทียมช่วยบรรเทาอาการ โดยส่วนมากนิยมใช้น้ำตาเทียมแบบรายวันซึ่งไม่มีสารกันเสียผสม ทำให้สามารถใช้ได้บ่อย ๆ ต่างกับน้ำตาเทียมแบบ รายเดือนที่มักมีสารกันเสียในตำรับ โดยเฉพาะการใช้น้ำตาเทียมที่มีสารกันเสียชื่อ benzalkonium chloride อาจส่งผลทำให้การสร้างน้ำตาหรือเยื่อเมือกลดลงในผู้ที่มีประวัติเป็นโรคตาแห้ง น้ำตาเทียม แบบรายวัน ที่มีจำหน่ายในประเทศไทยมีหลายชนิด ดังแสดงในตารางที่ 1 ซึ่งทุกชนิด สามารถบรรเทาอาการตาแห้งได้ ทั้งนี้สามารถศึกษาข้อมูลข้อมูลของน้ำตาเทียมได้ที่
https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/knowledge_full.php?id=59
ตารางที่ 1 น้ำตาเทียมแบบรายวันที่นิยมใช้ในประเทศไทย[7]
สารประกอบในน้ำตาเทียม |
ตัวอย่างชื่อการค้า |
ไฮดรอกซีโพรพริลเมทิลเซลลูโลส (hydroxypropyl methylcellulose หรือ hypromellose)[8-10] |
Natear® UD, Miltear® UD |
ไฮดรอกซีโพรพริลเมทิลเซลลูโลส 0.3% และเด็กซ์แทรน (dextran) 0.1%[5, 8-9] |
Lubric-Eyes®, Tears Naturale® Free |
คาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลส (carboxymethylcellulose) 0.5%[8-10] |
Cellufresh®, Solufresh® |
คาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลส 0.5% และกลีเซอริน (glycerin) 0.9%[8] |
Optive® UD |
คาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลส 0.5%, โซเดียมไฮยาลูรอเนท (sodium hyaluronate) 0.1% และกลีเซอริน 1%[8-10] |
Optive Fusion® UD |
โซเดียมไฮยาลูรอเนท 0.1%[6, 8, 11] |
Vislube® |
โซเดียมไฮยาลูรอเนท 0.3%[8, 11] |
Hialid® mini 0.3 |
กลีเซอริน 1% และโพลีซอร์เบท 80 (polysorbate 80) 1%[8] |
Endura® |
โพลีเอทิลีนไกลคอล 400 (polyethylene glycol 400) 0.4% และโพพิลีนไกลคอล (propylene glycol) 0.3%[6] |
Systane® ultra UD |
ข้อควรระวังในการใช้น้ำตาเทียม ได้แก่ อาจมีการมองภาพไม่ชัดเล็กน้อยหลังจากใช้ และเมื่อเปิดใช้ ครบ 24 ชั่วโมง แล้วให้ทิ้งไปไม่เก็บไว้ใช้ต่อ[12]
หลังทำเลสิกผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการอักเสบบริเวณดวงตา จึงต้องใช้ยาบรรเทาอาการอักเสบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสเตียรอยด์แบบหยอดตา เนื่องจากมีโอกาสทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่อระบบอื่น ๆ ของร่างกายน้อยกว่าชนิดรับประทาน โดยสเตียรอยด์แบบหยอดตาที่มีใช้ในประเทศไทย แสดงในตารางที่ 2
ตารางที่ 2 สเตียรอยด์แบบหยอดตาที่นิยมใช้ในประเทศไทย[13]
สเตียรอยด์ซึ่งเป็นตัวยาสำคัญ |
ตัวอย่างชื่อการค้า |
เพรดนิโซโลนแอซิเตต (prednisolone acetate)[14-15] |
Pred-FORTE®, Inf-Oph® |
ฟลูออโรเมโทโลน (fluorometholone)[6] |
FML®, Flu-Oph®, Flucon®, Flarex® |
โลเทเพรดนอล เอทาโบเนต (loteprednol etabonate)[16] |
Lotemax®, Alrex® |
หลังใช้สเตียรอยด์แบบหยอดตาแล้วอาจเกิดอาการระคายเคืองหรือมองไม่ชัดได้ โดยทั่วไปยากลุ่มนี้จะเป็นยาน้ำแขวนตะกอน จึงต้องเขย่าขวดก่อนใช้ทุกครั้ง เมื่อไม่ใช้ยาควรเก็บยาในตู้เย็น ไม่แช่ช่องแช่แข็ง โดย หลังเปิดจะมีอายุการใช้งาน 30 วัน[6]
เนื่องจากทำหัตถการมีความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อขึ้นได้ ยาฆ่าเชื้อในรูปแบบยาหยอดตาหรือป้ายตาจึงมีประโยชน์ในการป้องกันการติดเชื้อ โดยตัวอย่างตัวยาฆ่าเชื้อทั้งแบบชนิดหยอดตาและป้ายตา ซึ่งมีใช้ ในปัจจุบันแสดงในตารางที่ 3
ตารางที่ 3 ยาหยอด/ป้ายตาฆ่าเชื้อที่นิยมใช้ในประเทศไทย[17]
ยาฆ่าเชื้อซึ่งเป็นตัวยาสำคัญ |
ตัวอย่างชื่อการค้า |
โมซิฟลอกซาซิน (moxifloxacin)[14] |
Vigamox®, SVOZ® |
โอฟลอกซาซิน (ofloxacin)[15] |
Exocin®, Tarivid® ointment |
แกทิฟลอกซาซิน (gatifloxacin)[6, 15] |
Zymar® |
คลอแรมเฟนิคอล (chloramphenicol)[16] |
Archifen®, ChlorOph®, ChlorOph® ointment, Vanafen® ointment |
สำหรับยาฆ่าเชื้อแบบหยอดตา แนะนำให้เขย่าขวดยาในแนวตั้งก่อนใช้ หลังใช้ยาอาจเกิดอาการ ระคายเคืองหรือมองไม่ชัดได้เล็กน้อย เมื่อไม่ใช้ควรเก็บยาในตู้เย็น ไม่แช่ช่องแช่แข็ง โดยหลังเปิดจะมีอายุการใช้งาน 30 วัน ส่วนยาฆ่าเชื้อรูปแบบขี้ผึ้งป้ายตา แนะนำให้บีบส่วนแรกของยาขี้ผึ้งทิ้งเล็กน้อยสำหรับการเปิดใช้ครั้งแรก เมื่อใช้แล้วอาจเกิดอาการระคายเคืองหรือมองไม่ชัดได้เล็กน้อย หากไม่ใช้ยาให้เก็บในที่แห้งและ พ้นแสงแดดโดยไม่ต้องแช่ตู้เย็น ยาจะมีอายุการใช้งาน 30 วันหลังเปิดใช้ครั้งแรก[6]
นอกจากนี้ยังมียาหยอดตาสูตรผสมระหว่างสเตียรอยด์และยาฆ่าเชื้อด้วย[18] ยาสูตรผสมนี้ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ยาทั้ง 2 ชนิดร่วมกันเพื่อลดขั้นตอนของการใช้ยาหยอดตาลง เช่น ยาที่มีสเตียรอยด์เด็กซาเมทาโซน (dexamethasone) กับยาฆ่าเชื้อโมซิฟลอกซาซิน (Vigadexa®)[6] เป็นต้น
หลังทำเลสิกอาจมีอาการปวดบริเวณดวงตาเกิดขึ้นในผู้ป่วยบางราย โดยนอกจากยาบรรเทาอาการ ปวดชนิดรับประทาน ได้แก่ ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (non-steroidal anti-inflammatory drugs, NSAIDs) เช่น นาพรอกเซน (naproxen) และไอบูโพรเฟน (ibuprofen) หรือยากลุ่มอื่น เช่น พาราเซตามอล (paracetamol) หรือยาเม็ดที่มีส่วนประกอบของพาราเซตามอลและโคเดอีน (codeine) ผู้ป่วยอาจได้รับยาบรรเทาอาการปวดชนิดหยอดตา เช่น คีโตโลแลค โทรเมทามีน (ketorolac tromethamine) 0.5% หรือ ไดโคฟิแนค โซเดียม (diclofenac sodium) 0.1% ทั้งนี้อาจจำเป็นต้องใช้ยาเหล่านี้เพียงเพื่อใช้ในคืนแรก หลังทำเลสิก หรือใช้เมื่อมีอาการก็เป็นได้
ในกรณีของยาชนิดรับประทาน อาการไม่พึงประสงค์จะแตกต่างกันไปขึ้นกับชนิดของยาที่ใช้ เช่น หากรับประทานยากลุ่ม NSAIDs ในขณะที่ท้องว่างอาจมีการระคายกระเพาะอาหารทำให้รู้สึกแสบท้องได้[20] หรือเกิดอาการง่วงซึมหลังจากรับประทานยาที่มีโคเดอีนเป็นองค์ประกอบ แต่หากเป็นชนิดหยอดตา อาจเกิดอาการระคายเคืองหรือมองไม่ชัดได้เล็กน้อย และเมื่อไม่ใช้ยาควรเก็บในตู้เย็น ไม่แช่ช่องแช่แข็ง โดยหลังเปิดจะมีอายุการใช้งาน 30 วัน[6] แนะนำให้ผู้ป่วยใช้ยาตามที่แพทย์สั่ง และทำตามคำแนะนำของเภสัชกร อย่างเคร่งครัด
เนื่องจากผู้ป่วยบางรายอาจมีความวิตกกังวลหรือนอนไม่หลับหลังทำเลสิก ยากลุ่มนี้จะช่วยบรรเทาความกังวลและทำให้นอนหลับง่ายขึ้น โดยเฉพาะในคืนแรกหลังทำเลสิก โดยยาที่นิยมใช้คือกลุ่มเบ็นโซไดอาเซปีน (benzodiazepines) เช่น ไดอะซีแพม (diazepam) หรือลอราซีแพม (lorazepam)
ยากลุ่มนี้มีผลข้างเคียงต่อระบบประสาท แนะนำให้ใช้ยาตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เช่น หลีกเลี่ยง การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ การขับขี่ยานพาหนะหรือการทำงานกับเครื่องจักรหลังใช้ยานี้[5-6]
แม้ว่าผู้ป่วยหลายรายอาจไม่พบอาการไม่พึงประสงค์หลังทำเลสิก แต่เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน ที่อาจเกิดขึ้นได้ ผู้ป่วยจึงมักจะได้รับยาจากแพทย์ไปใช้ที่บ้านเสมอ ทั้งนี้ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยซื้อยาใช้เอง และหากเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ขึ้น แนะนำให้ผู้ป่วยหยุดยานั้นและรีบกลับไปพบแพทย์ทันที ส่วนในผู้ป่วย ที่เคยมีประวัติแพ้ยา ควรแจ้งแพทย์ให้ชัดเจน เพื่อความปลอดภัยสูงสุดในการใช้ยา