หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

โพรไบโอติกกับภาวะท้องเสียเฉียบพลันในเด็ก

โดย นศภ.ดลยา ชูทอง, นศภ.ศราวุฒิ สระษี ภายใต้คำแนะนำของ รศ.ดร.ภญ.มัลลิกา ชมนาวัง เผยแพร่ตั้งแต่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2565 -- 26,553 views
 

โพรไบโอติกคืออะไร

โพรไบโอติก คือ กลุ่มจุลินทรีย์ที่มีชีวิตซึ่งมีส่วนช่วยปรับสมดุลของจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารให้เหมาะสม ทำให้การทำงานของร่างกายโดยเฉพาะระบบทางเดินอาหารและระบบภูมิคุ้มกันเป็นไปตามปกติ

จุลินทรีย์ชนิดใดที่จัดเป็นโพรไบโอติก

โพรไบติกแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ 1) จุลินทรีย์ที่เป็นแบคทีเรีย ได้แก่ Lactobacillus spp. ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่เกาะติดบริเวณลำไส้ และ Bifidobacterium spp. ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่ทนต่อกรดในกระเพาะอาหาร และ 2) จุลินทรีย์ที่เป็นยีสต์ ได้แก่ Saccharomyces spp. โดยตัวอย่างจุลินทรีย์ที่จัดเป็นโพรไบติกแสดงในตารางที่ 1[1,2]

ตารางที่ 1 ตัวอย่างจุลินทรีย์ที่จัดเป็นโพรไบติก [1,2]

แบคทีเรีย

ยีสต์

Lactobacillus spp.

Bifidobacterium spp.

แบคทีเรียอื่น ๆ

Saccharomyces spp.

L. acidophilus

L. casei

L. crispatus

L. gallinarum

L. gasseri

L. johnsonii

L. paracasei

L. plantarum

L. reuteri

L. rhamnosus

B. adolescentis

B. animalis

B. bifidum

B. breve

B. infantis

B. lactis

B. longum

Enterococcus faecalis

E. faecium

Lactococcus lactis

Leuconostoc mesenteroides

Pediococcus acidilactici

Sporolactobacillus inulinus

Streptococcus thermophilus

Propionibacterium freudenreichii

S. cerevisiae

S. boulardii

ใช้โพรไบโอติกในเด็กได้หรือไม่

ในปัจจุบันมีงานวิจัยที่ศึกษาประโยชน์ของโพรไบโอติกในเด็ก เช่น ลดระยะเวลาของการติดเชื้อทางเดินหายใจ[3] รวมถึงการรักษาอาการท้องเสียเฉียบพลันในเด็กซึ่งให้ผลลัพธ์ที่ดีในหลายด้าน เช่น ลดระยะเวลาการพักรักษาตัวในโรงพยาบาลและระยะเวลาของอาการท้องเสียจากเชื้อไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ[4,5] แต่ทั้งนี้ไม่ใช่ทุกสายพันธุ์ของโพรไบโอติกจะให้ผลการรักษาเหมือนกันเพราะในแต่ละคนล้วนมีกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีมาแต่เกิด (ไมโครไบโอม, microbiome) แตกต่างกัน ดังนั้นโพรไบโอติกจึงอาจจะได้ผลหรือไม่ได้ผลในแต่ละคนแตกต่างกัน สำหรับผลข้างเคียงที่พบได้จากการศึกษา ได้แก่ อาการท้องอืดจากการมีแก๊สในทางเดินอาหารที่มากขึ้น คลื่นไส้ ดังนั้นการใช้โพรไบโอติกในเด็กจึงควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์หรือเภสัชกร และหลีกเลี่ยงการใช้ในเด็กป่วยหนักหรือมีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง[6,7]

โพรไบโอติกช่วยเรื่องอาการท้องเสียได้อย่างไร

โพรไบโอติกป้องกันเชื้อก่อโรคในทางเดินอาหารโดยกระตุ้นการหลั่งเมือกจากกอบเล็ทเซลล์ (goblets cell) เพื่อป้องกันการรวมกลุ่มแบคทีเรียหรือไวรัสก่อโรคและเซลล์ในทางเดินอาหาร รวมทั้งกระตุ้นให้มีการผลิตสารที่ต่อต้านเชื้อในทางเดินอาหาร เช่น คาเธลิซิดิน (cathelicidins) และ ดีเฟนซิน (defensins) [4] ทำให้ปกป้องร่างกายจากเชื้อที่เข้ามาก่อโรคในร่างกาย อีกทั้งมีหลักฐานจากการศึกษาในหลอดทดลองบ่งชี้ว่า Lactobacillus spp. หลายสายพันธุ์เพิ่มการหลั่งเมือกในเซลล์เยื่อบุผิวในลำไส้ ช่วยยับยั้งการเกาะของเชื้อ E. coli และเชื้ออื่น ๆ ซึ่งทำให้เกิดโรคในทางเดินอาหารได้ โดยกลไกการออกฤทธิ์ของโพรไบโอติกต่อต้านเชื้อก่อโรคทางเดินอาหารดังแสดงในรูปที่ 1[4]

รูปที่ 1 กลไกการออกฤทธิ์ของโพรไบโอติกเพื่อต่อต้านเชื้อก่อโรคทางเดินอาหาร

โพรไบโอติกชนิดใดที่มีงานวิจัยในการบรรเทาอาการท้องเสียได้

ในปัจจุบันมีการศึกษามากมายที่ใช้โพรไบโอติกรักษาอาการท้องเสียเฉียบพลันในเด็ก โดยโพรไบโอติกที่มีข้อมูลการใช้มากที่สุด คือ L. rhamnosus GG (LGG) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียกลุ่ม Lactobacillus spp. โดยการศึกษาของ Guandalini ระบุว่าผู้ป่วยเด็กที่ได้รับ LGG ปริมาณ 1x109 CFU ลดปริมาณอุจจาระและเวลาที่เกิดอาการท้องเสียได้มากกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอก[4] รวมทั้งมีการศึกษาพบว่า LGG ปริมาณมากกว่าหรือเท่ากับ 1x1010 CFU ใน 1 วัน เพียงพอที่จะลดระยะเวลาการพักรักษาตัวในโรงพยาบาลและระยะเวลาของอาการท้องเสียจากเชื้อไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ[8] แบคทีเรียโพรไบโอติกอื่น ๆ ที่มีการศึกษาในเด็ก เช่น L. reuteri DSM 17938[9,10] L. acidophilus[11] และ B. lactis[12] ส่วนโพรไบโอติกที่เป็นยีสต์ เช่น S. boulardii มีงานวิจัยว่าช่วยลดระยะเวลาของอาการท้องเสียในเด็ก 2 เดือนถึง 4 ปีได้เช่นกัน โดยในช่วงวันแรกของอาการท้องเสีย S. boulardii จะยับยั้งเชื้อก่อโรคในทางเดินอาหารได้ดี [13,14]

ข้อควรระวังในการใช้โพรไบโอติก

การใช้โพรไบโอติกสามารถเกิดผลข้างเคียงได้เช่นกัน โดยที่พบได้บ่อย คือ การท้องอืดจากการมีแก๊สในทางเดินอาหารที่มากขึ้น อาการคลื่นไส้ รวมถึงอาการท้องเสียสามารถเกิดได้เช่นกันหากรับประทานในปริมาณมาก อย่างไรก็ตามมีรายงานถึงความสัมพันธ์ของการติดเชื้อภายหลังการใช้โพรไบโอติก เช่น การติดเชื้อในกระเเสเลือดจากการใช้โพรไบติกในผู้ที่ได้รับการผ่าตัดบริเวณทางเดินอาหาร เด็กเล็กที่ป่วยหนัก รวมถึงผู้ป่วยที่มีความบกพร่องทางภูมิคุ้มกัน ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาถึงผลของการใช้โพรไบโอติกเพื่อการรักษาโรคในระยะยาว ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มใช้โพรไบโอติก[2,15-17]

ผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกในท้องตลาด

ข้อมูลปัจจุบันในประเทศไทย จุลินทรีย์ที่ขึ้นทะเบียนเป็น “ยา” สำหรับใช้ในการบรรเทาภาวะท้องเสียเฉียบพลัน ได้แก่ S. boulardii CNCM I-175 (Bioflor®)[18] และสูตรผสมระหว่าง L. acidophilus และ B. Bifidum (Infloran®)[19] ส่วนจุลินทรีย์ที่มีจำหน่ายในรูปแบบของ “ผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ” เช่น สูตรผสมของ L. acidophilus, L. casei, B. longum, B. infantis, B. bifidum, L. lactis นอกจากนี้ในปัจจุบันได้มีการนำจุลินทรีย์มาใช้เป็นส่วนประกอบของอาหาร เช่น โยเกิร์ต นมเปรี้ยว โดยจุลินทรีย์ที่จัดเป็นโพรไบโอจุลินทรีย์สำหรับใช้ในอาหารตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เช่น L. paracasei, L. acidophilus, B. animalis และ S. cerevisiae subsp. Boulardii[20]

เอกสารอ้างอิง

  1. Vrese M, Schrezenmeir J. Probiotics, Prebiotics, and Synbiotics. Adv Biochem Eng Biotechnol 2008; 111:1-66.
  2. Markowiak P, slizewska K. Effects of Probiotics, Prebiotics, and Synbiotics on Human health. Nutrients 2017; 9:1021
  3. King S, Glanville J, Sanders ME, Fitzgerald A, Varley D. Effectiveness of probiotics on the duration of illness in healthy children and adults who develop common acute respiratory infectious conditions: a systematic review and meta-analysis. Br J Nutr 2014; 112:41-54.
  4. do Carmo MS, Santos CID, Araújo MC, Girón JA, Fernandes ES, Monteiro-Neto V. Probiotics, mechanisms of action, and clinical perspectives for diarrhea management in children. Food Funct. 2018; 9:5074-95.
  5. Guandalini S, Pensabene L, Zikri MA, Dias JA, Casali LG, Hoekstra H, et al. Lactobacillus GG administered in oral rehydration solution to children with acute diarrhea: a multicenter European trial. J Pediatr Gastroenterol Nutr. 2000; 30:54-60.
  6. Children’s Health. Should kids take probiotics? [Internet]. Childrens.com. [cited 2021 Jul 3]. Available from: https://www.childrens.com/health-wellness/ should-kids-take-probiotics
  7. Hojsak I. Probiotics in children: What is the evidence?. Pediatr Gastroenterol Hepatol Nutr. 2017; 20:139.
  8. Szajewska H, Skorka A, Ruszczynski M, Gieruszczak-Bialek D. Meta-analysis: Lactobacillus GG for treating acute gastroenteritis in children–updated analysis of randomised controlled trials. Aliment Pharmacol Ther. 2013; 38:467-6.
  9. Dinleyici EC, Dalgic N, Guven S, Metin O, Yasa O, Kurugol Z, et al. Vandenplas, Lactobacillus reuteri DSM 17938 shortens acute infectious diarrhea in a pediatric outpatient setting. J Pediatr 2015; 91:392-6.
  10. Dinleyici EC, Group PS, Vandenplas Y. Lactobacillus reuteri DSM 17938 effectively reduces the duration of acute diarrhoea in hospitalised children. Acta Paediatr 2014; 103:e300-5.
  11. Simakachorn N, Pichaipat V, Rithipornpaisarn P, Kongkaew C, Tongpradit P, Varavithya W. Clinical evaluation of the addition of lyophilized, heat-killed Lactobacillus acidophilus LB to oral rehydration therapy in the treatment of acute diarrhea in children. J Pediatr Gastroentero Nutr 2000; 30:68-72.
  12. El-Soud NH, Said RN, Mosallam DS, Barakat NA, Sabry MA. Bifidobacterium lactis in treatment of children with acute diarrhea. A randomized double blind controlled trial. Open Access Maced J Med Sci 2015; 3:403-7.
  13. Villarruel G, Rubio DM, Lopez F, Cintioni J, Gurevech R, Romero G, et al. Saccharomyces boulardii in acute childhood diarrhoea: a randomized, placebo-controlled study. Acta Paediatr 2007; 96:538-41.
  14. Das S, Gupta PK, Das RR. Efficacy and safety of Saccharomyces boulardii, in acute rotavirus diarrhea: double blind randomized controlled trial from a developing country. J Trop Pediatr 2016; 62:464-70.
  15. Land MH, Rouster-Stevens K, Woods CR, Cannon ML, Cnota J, Shetty AK. Lactobacillus sepsis associated with probiotic therapy. Pediatrics 2005; 115:178-81.
  16. Kunz AN, Noel JM, Fairchok MP. Two cases of Lactobacillus bacteremia during probiotic treatment of short gut syndrome. J Pediatr Gastroenterol Nutr 2004; 38:457-8.
  17. Lerner A, Shoenfeld Y, Matthias T. Probiotics: If It Does Not Help It Does Not Do Any Harm. Really?. Microorganisms 2019; 7:104.
  18. Bioflor dosage and drug information MIMS Thailand [database on internet]. Mims.com. 2021. [cited 16 July 2021]. Available from: https://www.mims.com/thailand/drug/info/
    bioflor.
  19. Infloran dosage and drug information MIMS Thailand [database on internet]. Mims.com. 2021. [cited 16 July 2021]. Available from: https://www.mims.com/thailand/drug/info/
    infloran.
  20. ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง หลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติการใช้จุลินทรีย์โพรไบโอติกในอาหาร.[ออนไลน์].[เข้าถึงเมื่อ 8 กรกฎาคม 2564].จาก http://food.fda.moph.
    go.th/law/data/announ_fda/61_Probiotic_Bacteria.pdf.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
โพรไบโอติก ท้องเสีย เด็ก
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.4 ยาอันตรายควบคุม (Controlled dangerous drugs)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้