โรคอาร์เอสวี (RSV) มีสาเหตุจากการติดเชื้อ RSV (ชื่อเต็ม คือ Respiratory Syncytial Virus) ซึ่งเป็นเชื้อก่อโรคในระบบทางเดินหายใจที่พบได้ในผู้ป่วยทุกช่วงอายุ แต่มักมีอาการที่รุนแรงในเด็ก1 โดยจะมีการระบาดเป็นช่วง ๆ สำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศในเขตร้อน มักพบการระบาดของโรคนี้ในช่วงฤดูฝน2
ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ RSV ส่วนใหญ่มักแสดงอาการภายใน 4-6 วันหลังจากติดเชื้อ โดยอาการที่พบบ่อย คือ มีน้ำมูก ความอยากอาหารลดลง ไอ จาม มีไข้ ในรายที่รุนแรงจะหายใจมีเสียงหวีด (wheezing) ในเด็กเล็กมักมีอาการกระสับกระส่าย การเคลื่อนไหวลดลง และหายใจลำบาก สำหรับการติดเชื้อครั้งแรกอาการจะรุนแรงกว่าในการติดเชื้อครั้งต่อไป โดยทั่วไปแล้วอาการมักไม่รุนแรงในเด็กที่แข็งแรงหรือผู้ใหญ่และจะหายไปได้เอง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล แต่การติดเชื้อ RSV ในเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 6 เดือน และผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป มักจะเกิดอาการที่รุนแรง
เด็กที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่รุนแรง ได้แก่
เนื่องจากเด็กยังมีพัฒนาการของระบบภูมิคุ้มกันที่ไม่สมบูรณ์ และในทารกคลอดก่อนกำหนดจะมีภูมิต้านทานต่อเชื้อ RSV ที่ได้รับจากแม่ไม่เพียงพอ รวมถึงสรีรวิทยาของเด็กซึ่งมีความยาวของระบบทางเดินหายใจที่สั้นและมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของหลอดลมที่เล็กกว่าผู้ใหญ่ ส่งผลให้เกิดการอุดตันและเกิดการเกาะของเชื้อในบริเวณหลอดลมและปอดได้ง่าย นอกจากนี้เด็กยังมีการระบายอากาศในถุงลมที่ยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ลักษณะเหล่านี้ทำให้เด็กมักพบการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนล่างร่วมด้วย ซึ่งส่งผลให้มีอาการที่รุนแรง เช่น หลอดลมฝอยอักเสบ ปอดอักเสบ และจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล
ส่วนใหญ่การติดเชื้ออาร์เอสวีจะหายได้ใน 1-2 สัปดาห์ และปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้กำจัดเชื้อ RSV อย่างจำเพาะ มีเพียงการรักษาตามอาการเช่นเดียวกับโรคทางเดินหายใจทั่ว ๆ ไปที่เกิดจากไวรัสเท่านั้น
โดยสามารถรักษาเบื้องต้น ได้ดังนี้
1. เมื่อมีไข้ ใช้ยาลดไข้ โดยแนะนำให้ใช้ paracetamol (ขนาด 10-15 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัวต่อครั้ง โดยขนาดยาที่เหมาะสมควรได้รับการแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกร) ทุก 4-6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการไข้ โดยใช้ไม่เกิน 5 ครั้งต่อวัน ทั้งนี้สามารถใช้ ibuprofen ได้ แต่ต้องระมัดระวังการใช้ เนื่องจากในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อ RSV มักจะมีการระบาดของโรคไข้เลือดออกด้วย ซึ่งการใช้ ibuprofen เพื่อลดไข้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้เลือดออก อาจทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดออกผิดปกติ ภาวะตับอักเสบเฉียบพลัน และภาวะไตวายเฉียบพลันได้มากขึ้น ดังนั้นการเลือกใช้ ibuprofen ต้องมั่นใจว่าผู้ป่วยไม่ได้เป็นโรคไข้เลือดออก (สามารถอ่านคำแนะนำเรื่องการใช้ยาลดไข้เมื่อเป็นไข้เลือดออกได้จาก https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/knowledge_full.php?id=42)
2. เมื่อคัดแน่นจมูก ให้ดูดน้ำมูก เนื่องจากเด็กเล็กยังไม่สามารถสั่งน้ำมูกด้วยตัวเองได้ ดังนั้นการมีน้ำมูกอุดตันในจมูกจึงเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย โดยแนะนำให้ใช้อุปกรณ์ดูดน้ำมูก เช่น ลูกยางแดง หากน้ำมูกข้นเหนียวอาจใช้น้ำเกลือหยอดจมูกแล้วค่อยดูดน้ำมูกออก
3. หากจะใช้ยาอื่น ๆ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี เนื่องจากยาบางชนิดอาจมีส่วนประกอบที่ส่งผลเสียต่อเด็กได้ อย่างไรก็ตามหากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงและเข้าได้กับอาการที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลดังที่จะกล่าวต่อไป ควรพาผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทันที เพื่อให้ผู้ป่วยได้การรักษาที่เหมาะสม เช่น การให้ออกซิเจน การให้สารน้ำ หรือการให้ยาขยายหลอดลม เป็นต้น และอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
กรณีที่มีอาการดังต่อไปนี้ ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล
เชื้อ RSV สามารถติดต่อได้โดยผ่านละอองจากการไอหรือจามของผู้ป่วยที่ติดเชื้อเข้าสู่ตา จมูก หรือปาก เด็กวัยเรียนอาจนำเชื้อ RSV มาติดต่อสู่เด็กเล็กในบ้านเดียวกันผ่านการสัมผัสบริเวณที่มีเชื้อ เช่น ลูกบิดประตู และสัมผัสใบหน้าต่อโดยที่ไม่ได้ล้างมือก่อน หรือการสัมผัสโดยตรงกับเชื้อ RSV เช่น การจูบที่ใบหน้าของผู้ป่วย ซึ่งเชื้อ RSV สามารถมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานหลายชั่วโมงและสามารถอยู่ที่มือของเราได้นานประมาณ 30 นาที ดังนั้นผู้ปกครองที่มีเด็กเล็กป่วยในบ้านควรล้างมือบ่อย ๆ ก่อนสัมผัสเด็ก โดยทั่วไปผู้ป่วยที่ติดเชื้อ RSV จะแพร่เชื้อได้นาน 3-8 วันหลังมีอาการป่วย แต่อย่างไรก็ตามเด็กเล็กบางรายที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องสามารถแพร่เชื้อ RSV ได้นานถึง 4 สัปดาห์
โรคอาร์เอสวีมักระบาดเป็นประจำทุกปีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูฝน สามารถติดต่อได้ผ่านละอองจากการไอหรือจามของผู้ป่วยที่ติดเชื้อ ผ่านการสัมผัสบริเวณที่มีเชื้อหรือสัมผัสกับเชื้อโดยตรง ดังนั้นการป้องกันการติดเชื้ออาร์เอสวีสามารถทำได้ดังนี้
สำหรับการป้องกันในเด็กที่มีความเสี่ยงสูงต่อความรุนแรงจากการติดเชื้อ มีการศึกษาในต่างประเทศโดยใช้ยา palivizumab บริหารยาโดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อทุกเดือนในช่วงระบาดของ RSV ในเด็กกลุ่มเสี่ยงที่ตรงตามเงื่อนไข แต่ยานี้ยังไม่ได้รับการรับรองและยังไม่ได้มีจำหน่ายในประเทศไทย อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกันการติดเชื้อ RSV แต่กำลังมีการพัฒนาวัคซีนดังกล่าว โดยศึกษาประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนล่างของทารกที่เกิดจากแม่ที่ได้รับวัคซีน รวมถึงศึกษาความปลอดภัยของวัคซีนต่อแม่และทารกร่วมด้วย การศึกษานี้คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2567