หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ จากวัคซีนโควิด-19 ชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ

โดย นศภ. เวธกา ศิริวัชรกุล ภายใต้คำแนะนำของอาจารย์ ดร.ภก. สุรศักดิ์ วิชัยโย เผยแพร่ตั้งแต่ 5 มกราคม พ.ศ.2565 -- 8,604 views
 

เป็นที่ทราบกันดีว่าวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 นั้นถูกพัฒนาขึ้นจากหลายเทคโนโลยีและหนึ่งในนั้น คือ วัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA vaccines) ซึ่งเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 มากกว่า 90% โดยช่วยลดความรุนแรงของการติดเชื้อ ลดอัตราการเสียชีวิต และยังมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ที่มีการกลายพันธุ์ เช่น สายพันธุ์เดลตา1-3 ดังแสดงในตารางที่ 1 ปัจจุบันวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ ที่ได้รับการอนุมัติโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ใช้ในประเทศไทย ได้แก่ วัคซีนโคเมอร์เนตี (ComirnatyTM) ของบริษัทไฟเซอร์ (Pfizer)4 และวัคซีนสไปค์แว็ก (Spikevax) ของบริษัทโมเดอร์นา (Moderna)5 โดยมีข้อบ่งใช้ในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ซึ่งหลังจากมีการฉีดวัคซีนดังกล่าวให้แก่ประชาชนจำนวนมากในหลายประเทศทั่วโลก ได้มีการพบรายงานการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ซึ่งเป็นอาการไม่พึงประสงค์ซึ่งพบได้น้อยมาก6 บทความนี้จึงขอกล่าวถึงการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าว เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับการเฝ้าระวังตนเองในผู้ที่ได้รับวัคซีนชนิดนี้

ตารางที่ 1: ประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 ชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ1-3

บริษัทผู้ผลิต

ประสิทธิภาพของวัคซีนต่อสายพันธุ์ดั้งเดิม

ประสิทธิภาพของวัคซีน

ต่อสายพันธุ์เดลตา (B.1.617.2)

ป้องกันการติดเชื้อ

ป้องกันการติดเชื้อ

ป้องกันการป่วยรุนแรง

และเสียชีวิต

Pfizer-BioNTech

95% *

51.9% **

93.4%

Moderna

94.1% **

73.1% **

96.1%

วัดผลป้องกันการติดเชื้อแบบแสดงอาการที่ระยะเวลา ≥7 วัน* หรือ 14 วัน** หลังจากได้รับวัคซีนเข็มที่สอง

รายงานการเกิดหลังจากได้รับวัคซีนโควิด-19 ชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ

ตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2564 พบรายงานจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention; CDC) เกี่ยวกับการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบที่สัมพันธ์กับการได้รับวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ6 โดยอาการแสดงที่พบ ได้แก่ เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก รู้สึกเหมือนหัวใจเต้นแรงหรือเต้นเร็ว หรืออาจมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียร่วมด้วย7,8 ซึ่งมักเริ่มเกิดอาการในช่วง 2-3 วันหลังการรับวัคซีน และบางรายอาจพบอาการได้ภายใน 10 วันหลังการรับวัคซีน7,9

ทั้งนี้จนถึงวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2564 ระบบรายงานอาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีน (Vaccine Adverse Event Reporting System; VAERS) ของสหรัฐอเมริกาพบว่า มีรายงานการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบจากวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ จำนวน 2,374 ครั้ง จากการให้วัคซีน 402,469,096 ครั้ง ซึ่งอาจเปรียบได้ว่า หากให้วัคซีนจำนวน 1 ล้านครั้ง มีโอกาสที่จะพบอาการไม่พึงประสงค์นี้ประมาณ 6 ครั้ง8

สัมพันธ์กับการรับวัคซีนเข็มใด?

ข้อมูลจาก VAERS พบว่าภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบส่วนใหญ่สัมพันธ์กับการรับวัคซีนเข็มที่ 2 อย่างไรก็ตาม พบการเกิดอาการหลังจากการรับวัคซีนเข็มแรกได้เช่นเดียวกัน8,9 ดังแสดงในตารางที่ 2

ตารางที่ 2: รายงานการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบจากวัคซีนโควิด-19 ชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ8

บริษัทผู้ผลิต

จำนวนเหตุการณ์ (ครั้ง)

วัคซีนเข็มที่ 1

วัคซีนเข็มที่ 2

ไม่สามารถระบุว่าเกิดจากวัคซีนเข็มใด

Pfizer-BioNTech

250

1,160

241

Moderna

198

419

106

รวม

448

1,579

347

ข้อมูลจากระบบรายงานอาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีน (Vaccine Adverse Event Reporting System; VAERS) ของสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2564 (ข้อมูลดังกล่าวมาจากการให้วัคซีนจำนวน 402,469,096 ครั้ง)

พบมากในผู้ป่วยกลุ่มใด?

การเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง และมักพบในผู้ที่มีอายุน้อย โดยกลุ่มที่พบรายงานการเกิดมากที่สุด คือ เพศชายที่มีอายุระหว่าง 16-17 ปี และรองลงมา คือ เพศชายที่มีอายุระหว่าง 18-24 ปี7,9 โดยเฉพาะจากการรับวัคซีนเข็มที่ 2 ดังแสดงในตารางที่ 3

ตารางที่ 3: รายงานการเกิดภาวะกล้ามกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบจากวัคซีนโควิด-19 ชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ ในผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป8

อายุ

จำนวนเหตุการณ์ (ครั้ง ต่อการให้วัคซีน 1 ล้านครั้ง)

วัคซีน Pfizer-BioNTech

วัคซีน Moderna

เพศหญิง

เพศชาย

เพศหญิง

เพศชาย

เข็มที่ 1

เข็มที่ 2

เข็มที่ 1

เข็มที่ 2

เข็มที่ 1

เข็มที่ 2

เข็มที่ 1

เข็มที่ 2

12-15 ปี

0.4

3.9

4.2

39.9

0.0

0.0

0.0

-

16-17 ปี

0.0

7.9

5.7

69.1

0.0

0.0

0.0

-

18-24 ปี

0.2

2.5

2.3

36.8

0.6

5.3

6.1

38.5

25-29 ปี

0.2

1.2

1.3

10.8

0.4

5.7

3.4

17.2

30-39 ปี

0.6

0.7

0.5

5.2

0.5

0.4

2.3

6.7

40-49 ปี

0.1

1.1

0.3

2.0

0.2

1.4

0.2

2.9

50-64 ปี

0.3

0.5

0.2

0.3

0.5

0.4

0.5

0.6

65 ปีขึ้นไป

0.1

0.3

0.2

0.1

0.0

0.3

0.1

0.3

ข้อมูลจากระบบรายงานอาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีน (Vaccine Adverse Event Reporting System; VAERS) ของสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2564

เป็นอันตรายหรือไม่ และควรเฝ้าระวังอย่างไร?

ผู้ป่วยส่วนมากมักมีอาการไม่รุนแรง บางรายสามารถหายได้เองโดยไม่จำเป็นต้องให้การรักษา บางรายอาจมีอาการเพียงเล็กน้อยโดยไม่เกิดความผิดปกติของระบบไหลเวียนเลือด อย่างไรก็ตามผู้ป่วยบางส่วนอาจเกิดอาการรุนแรงได้ เช่น มีการทำงานของหัวใจห้องล่างซ้ายที่ลดลง ดังนั้นผู้ที่ได้รับวัคซีนชนิดนี้จึงควรเฝ้าระวังอาการเป็นระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์หลังการรับวัคซีน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีอายุน้อย หากพบอาการเจ็บหน้าอก หายใจถี่หรือหายใจไม่สะดวก หัวใจเต้นเร็วหรือหัวใจเต้นแรง ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที10 จากข้อมูลรายงานพบว่าผู้ป่วยมีระยะเวลาเฉลี่ยของการรักษาตัวในโรงพยาบาลอยู่ที่ 4-5 วัน ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ (ประมาณ 89%) ตอบสนองต่อการรักษาได้ดี และมีอาการดีขึ้นอย่างรวดเร็ว อีกทั้งสามารถกลับมาดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ7,10

บทสรุป

หลังจากได้ทราบข้อมูลเหล่านี้แล้ว ผู้อ่านควรตระหนักถึงความสำคัญของการเฝ้าระวังและติดตามอาการไม่พึงประสงค์หลังจากการรับวัคซีนโควิด-19 ชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ แต่ไม่ควรกังวลเกินกว่าเหตุ เนื่องจากการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบจากวัคซีนชนิดนี้พบได้น้อยมากและผู้ป่วยยังตอบสนองต่อการรักษาได้ดี นอกจากนี้วัคซีนมีประโยชน์ในการลดความรุนแรงของโรค ป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนและการเสียชีวิตจากการติดเชื้อ จึงเป็นเหตุผลที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา ยังคงแนะนำให้ผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป เข้ารับวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ ให้ครบทั้ง 2 เข็ม7,10

เอกสารอ้างอิง

  1. Polack FP, Thomas SJ, Kitchin N, Absalon J, Gurtman A, Lockhart S, et al. Safety and efficacy of the BNT162b2 mRNA covid-19 vaccine. N Engl J Med. 2020; 383(27):2603-15.
  2. El Sahly HM, Baden LR, Essink B, Doblecki-Lewis S, Martin JM, Anderson EJ, et al. Efficacy of the mRNA-1273 SARS-CoV-2 vaccine at completion of blinded phase. N Engl J Med. 2021; 385(19):1774-85.
  3. Tang P, Hasan MR, Chemaitelly H, Yassine HM, Benslimane FM, Al Khatib HA, et al. BNT162b2 and mRNA-1273 COVID-19 vaccine effectiveness against the SARS-CoV-2 delta variant in Qatar. Nat Med. 2021; 27:2136–43.
  4. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. เอกสารกำกับยาภาษาไทย ComirnatyTM. เข้าถึงได้จาก: https://www.fda.moph.go.th/sites/drug/Shared%20Documents/Vaccine/U1DR1C1072640000811C-SPC-TH.pdf. เข้าถึงเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2564.
  5. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. เอกสารกำกับยาภาษาไทย Spikevax. เข้าถึงได้จาก: https://www.fda.moph.go.th/Pages/Document/Spikevax/เอกสารกำกับยา%20ภาษาไทย%20ฉบับสมบูรณ์.pdf. เข้าถึงเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2564.
  6. CDC. Clinical considerations: myocarditis and pericarditis after receipt of mRNA COVID-19 vaccines among adolescents and young adults [internet]. [cited 2021 Nov 4]. Available from: https://www.cdc.gov/vaccines/covid-19/clinical-considerations/myocarditis.html
  7. Bozkurt B, Kamat I, Hotez PJ. Myocarditis with COVID-19 mRNA vaccines. Circulation. 2021; 144(6):471-84.
  8. CDC. Myopericarditis following COVID-19 vaccination: updates from the vaccine adverse event reporting system (VAERS) [internet]. [updated 2021 Oct 21; cited 2021 Nov 4]. Available from: https://www.cdc.gov/vaccines/acip/meetings/downloads/slides-2021-10-20-21/07-COVID-Su-508.pdf
  9. Li M, Yuan J, Lv G, Brown J, Jiang X, Lu ZK. Myocarditis and pericarditis following COVID-19 vaccination: inequalities in age and vaccine types. J Pers Med. 2021; 11:1106.
  10. CDC. Myocarditis and pericarditis after mRNA COVID-19 vaccination [internet]. [updated 2021 Sep 8; cited 2021 Nov 4]. Available from: https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/vaccines/safety/myocarditis.html

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
วัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ mRNA vaccines กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ วัคซีนโควิด-19 การป้องกันการติดเชื้อโควิด-19
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้