ในปี 2563 มีผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกใหม่จำนวน 9,158 คน จัดเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นลำดับที่ 3 รองจากมะเร็งเต้านมและมะเร็งลำไส้ และมีผู้เสียชีวิตถึง 4,705 คน1 อาจพบอาการในช่วงการดำเนินของโรคที่หลากหลายในผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก เช่น เลือดออกทางช่องคลอด ประจำเดือนมามากหรือนานกว่าปกติ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เป็นต้น ซึ่งผู้ที่มีอาการรุนแรงอาจนำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด แม้โรคนี้จะสามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย แต่สาเหตุหลักของการเกิดมะเร็งปากมดลูกมาจากการติดเชื้อ HPV ซึ่งย่อมาจาก human papilloma virus
เชื้อ HPV สามารถติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ โดยเมื่อเยื่อบุผิวของปากมดลูกเกิดรอยถลอก เชื้อไวรัสจะเข้าไปในเนื้อเยื่อผิวของปากมดลูก ส่งผลให้ปากมดลูกมีการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อ หากมีการติดเชื้อ HPV เรื้อรังเป็นระยะเวลานานก็จะส่งผลให้พัฒนาไปเป็นมะเร็งปากมดลูกหรือหูดหงอนไก่ ขึ้นกับสายพันธุ์ที่มีการติดเชื้อ
การลดการเกิดโรคและเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูก อาจแบ่งออกเป็น 3 ระยะ2-5
1. การป้องกันแบบปฐมภูมิ (primary prevention) คือ การป้องกันก่อนติดเชื้อ เช่น การฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์หลักที่ทำให้เกิดมะเร็ง การใช้ถุงยางอนามัย รวมถึงการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เช่น การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร มีคู่นอนหลายคู่ ทั้งนี้ผู้ที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์จะไม่มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูก
2. การป้องกันแบบทุติยภูมิ (secondary prevention) คือ การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเพื่อตรวจหาโรคหรือเชื้อให้เจอก่อนลุกลามเป็นมะเร็ง เรียกระยะนี้ว่า ระยะก่อนมะเร็ง (precancerous) หรือระยะก่อนลุกลาม (pre-invasive) เช่น
2.1 ตรวจแปปสเมียร์ (pap smear) ซึ่งเป็นการตรวจภายในเพื่อดูลักษณะช่องคลอดและปากมดลูก ซึ่งจะสามารถบอกได้ว่ามีลักษณะเป็นปกติ อักเสบ หรือมะเร็ง โดยควรทำทุกปีในหญิงทุกคนที่อายุ 35-55 ปี และแนะนำในหญิงทุกคนที่เคยมีประวัติเคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว ถ้าผลปกติติดต่อกัน 3 ปี ต่อไปอาจทำทุก 3 ปี
2.2 การตรวจด้วยวิธี เอชพีวี ดีเอ็นเอ (HPV DNA test) โดยการตรวจหาว่ามีสารพันธุกรรม (DNA) ของเชื้อไวรัสหรือไม่ หากพบกลุ่มเชื้อที่ก่อมะเร็งจัดว่ามีความเสี่ยงสูง ซึ่งวิธีนี้สามารถระบุกลุ่มของเชื้อและสายพันธุ์ได้
3. การป้องกันแบบตติยภูมิ (tertiary prevention) คือ การรักษาผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปากมดลูกเพื่อให้หายจากโรค
แม้ว่าเชื้อ HPV จะมีมากกว่า 100 สายพันธุ์ แต่สายพันธ์ุที่สามารถทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกมีทั้งสิ้น 16 สายพันธุ์ ซึ่งสามารถแบ่งเป็นกลุ่มตามความเสี่ยงได้6 ดังนี้
1. สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูง เป็น HPV ที่มีความเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งปากมดลูก ได้แก่ สายพันธ์ุ 16, 18, 31, 33, 35, 39, 45, 51, 52, 56, 58, 59, 68 ,69, 73 และ 82 โดยสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงสูงสุด คือ HPV สายพันธุ์ 16 และ 18
2. สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เป็น HPV ที่ไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง แต่ทำให้เกิดหูดหงอนไก่ ได้แก่ HPV สายพันธุ์ 6, 11, 40, 42, 43, 44, 54, 61, 71, 72 และ 81 โดยสายพันธุ์ที่พบบ่อย คือ HPV สายพันธุ์ 6 และ 11
ในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV ทั้งสิ้น 3 ชนิด ได้แก่ ชนิด 2, 4 และ 9 สายพันธุ์ โดยวัคซีนทั้ง 3 ชนิด มีข้อบ่งใช้เพื่อป้องกันการก่อโรคจากเชื้อ HPV ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย โดยทั่วไปวัคซีนจะครอบคลุมการป้องกันมะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งอวัยวะเพศชาย มะเร็งทวารหนัก มะเร็งช่องปากและลำคอ ซึ่งวัคซีนแต่ละชนิดจะมีความแตกต่างกัน7-9 ดังรายละเอียดที่แสดงในตาราง
ชนิดวัคซีน HPV |
2 สายพันธุ์ |
4 สายพันธุ์ |
9 สายพันธุ์ |
บริษัท/ชื่อการค้า |
GlaxoSmithKlin/CERVARIX® |
Merck & Co.,Inc./GARDASIL® |
Merck & Co.,Inc./GARDASIL® 9 |
ครอบคลุม สายพันธ์ุ |
16, 18 |
6, 11, 16, 18 |
6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52, 58 |
ผู้ที่เหมาะกับการฉีด และเมื่อฉีดแล้วป้องกัน การเกิดโรคใด |
ผู้หญิงอายุ 9-25 ปี เพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูก มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งช่องคลอด |
ผู้หญิงอายุ 9-26 ปี เพื่อป้องกัน 1. มะเร็งปากมดลูก มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งช่องคลอด มะเร็งทวารหนัก 2. หูดหงอนไก่ 3. ภาวะก่อนมะเร็ง (precancerous) หรือภาวะเซลล์ผิดปกติชนิด dysplasia ผู้ชายอายุ 9-26 ปี เพื่อป้องกัน 1. มะเร็งทวารหนัก 2. หูดหงอนไก่ 3. ภาวะก่อนมะเร็ง (precancerous) หรือภาวะเซลล์ผิดปกติชนิด dysplasia |
ผู้หญิงอายุ 9-45 ปี เพื่อป้องกัน 1. มะเร็งปากมดลูก มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งช่องคลอด มะเร็งทวารหนัก มะเร็งคอหอยหลังช่องปาก และมะเร็งทางศีรษะเเละลำคอ 2. หูดหงอนไก่ 3. ภาวะก่อนมะเร็ง (precancerous) หรือภาวะเซลล์ผิดปกติชนิด dysplasia ผู้ชายอายุ 9-45 ปี เพื่อป้องกัน 1. มะเร็งทางทวารหนัก มะเร็งคอหอยหลังช่องปาก และมะเร็งทางศีรษะเเละลำคอ 2. หูดหงอนไก่ 3. ภาวะก่อนมะเร็ง (precancerous) หรือภาวะเซลล์ผิดปกติชนิด dysplasia |
วิธีการฉีด |
อายุ 9-14 ปี ฉีด 2 เข็ม เข็มที่ 1: วันที่ต้องการฉีด เข็มที่ 2: หลังจากเข็มแรก 6-12 เดือน อายุ 15-25 ปี ฉีด 3 เข็ม เข็มที่ 1: วันที่ต้องการฉีด เข็มที่ 2: หลังจากเข็มแรก 2 เดือน เข็มที่ 3: หลังจากเข็มแรก 6 เดือน |
อายุ 9-14 ปี ฉีด 2 เข็ม เข็มที่ 1: วันที่ต้องการฉีด เข็มที่ 2: หลังจากเข็มแรก 6-12 เดือน อายุ 15-26 ปี ฉีด 3 เข็ม เข็มที่ 1: วันที่ต้องการฉีด เข็มที่ 2: หลังจากเข็มแรก 2 เดือน เข็มที่ 3: หลังจากเข็มแรก 6 เดือน |
อายุ 9-14 ปี ฉีด 2 เข็ม เข็มที่ 1: วันที่ต้องการฉีด เข็มที่ 2: หลังจากเข็มแรก 6-12 เดือน ช่วงอายุ 15-45 ปี ฉีด 3 เข็ม เข็มที่ 1: วันที่ต้องการฉีด เข็มที่ 2: หลังจากเข็มแรก 2 เดือน เข็มที่ 3: หลังจากเข็มแรก 6 เดือน |
กรณีลืมฉีด |
ลืมเข็มที่ 2 ฉีดได้ไม่เกินเดือนที่ 7 จากเข็มแรก เพื่อให้ครบ 3 เข็มในเวลา 1 ปี ลืมเข็มที่ 3 ฉีดได้ไม่เกินเดือนที่ 12 จากเข็มแรก เพื่อให้ครบ 3 เข็มในเวลา 1 ปี (แต่ต้องห่างจากเข็มที่ 2 เป็นเวลา 5 เดือน) |
ลืมเข็มที่ 2 ฉีดได้ไม่เกินเดือนที่ 8 จากเข็มแรก เพื่อให้ครบ 3 เข็มในเวลา 1 ปี ลืมเข็มที่ 3 ฉีดได้ไม่เกินเดือนที่ 12 จากเข็มแรก เพื่อให้ครบ 3 เข็มในเวลา 1 ปี (แต่ต้องห่างจากเข็มที่ 2 เป็นเวลา 4 เดือน) |
ลืมเข็มที่ 2 ฉีดได้ไม่เกินเดือนที่ 8 จากเข็มแรก เพื่อให้ครบ 3 เข็มในเวลา 1 ปี ลืมเข็มที่ 3 ฉีดได้ไม่เกินเดือนที่ 12 จากเข็มแรก เพื่อให้ครบ 3 เข็มในเวลา 1 ปี (แต่ต้องห่างจากเข็มที่ 2 เป็นเวลา 4 เดือน) |
อาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้บ่อย คือ ปวด บวม และแดงบริเวณที่ฉีด รู้สึกเพลียเหนื่อยล้า มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ และมีคลื่นไส้อาเจียน ท้องร่วง และปวดท้อง วัคซีนทั้ง 3 ชนิดนี้ห้ามใช้ในผู้ที่มีภาวะภูมิไวเกิน ผู้ที่มีอาการแพ้รุนเเรงต่อยีสต์ที่เป็นส่วนประกอบจากวัคซีน หรือหลังจากที่ได้รับวัคซีนเข็มเเรกไปแล้ว7-9