หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ผมบางศีรษะล้าน ควรใช้ยาอย่างไร

โดย นศภ. พิชญา ทวีสุข เผยแพร่ตั้งแต่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ.2557 -- 110,423 views
 

ผมบางแบบพันธุกรรม หรือ ผมร่วงที่เกิดจากกรรมพันธุ์ (androgenetic alopecia (AGA) ) เกิดขึ้นจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมอาจเป็นแบบยีนเด่นบนโครโมโซมร่างกาย (autosomal dominance) หรือการถ่ายทอดแบบหลายปัจจัย ซึ่งเป็นปัจจัยทางพันธุกรรมที่เกิดจากการทำงานร่วมกันของหลายๆ ยีน ร่วมกับปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม (multifactorial inheritance)[1] และมักเกิดขึ้นในเพศชายเป็นส่วนใหญ่ อาการที่เกิดขึ้นมักไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพกาย แต่อาจจะส่งผลเสียต่อสภาพจิตใจของผู้ที่มีอาการ[2] อย่างไรก็ตามอาการผมร่วงจะค่อยเป็นค่อยไปตั้งแต่วัยหนุ่มและเด่นชัดมากขึ้นเมื่ออายุเพิ่มขึ้น ในคนไทยมักพบอาการผมบางแบบพันธุกรรมในผู้ชายอายุระหว่าง 18-90 ปี และมีอุบัติการณ์สูงถึงร้อยละ 38.5 และคนเอเชียส่วนใหญ่มักเกิดอาการผมบางบริเวณกระหม่อมศีรษะ[3,4]

สาเหตุของผมบางแบบพันธุกรรมมาจากการที่ระดับเอนไซม์ 5α-reductase (5-alpha reductase) ที่บริเวณหนังศีรษะเพิ่มขึ้น ซึ่งโดยปกติแล้วเอนไซม์นี้มีหน้าที่เปลี่ยน ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (testosterone) ไปเป็นฮอร์โมนไดไฮโดรเทสโทสเตอโรน (dihydrotestosterone หรือ DHT) ซึ่งฮอร์โมน DHT เป็นฮอร์โมนที่ทำให้รูขุมขนบริเวณหนังศีรษะเล็กลง ผู้ที่มีอาการผมบางแบบพันธุกรรมจะมีระดับเอนไซม์ 5α-reductase เพิ่มขึ้น ทำให้รูขุมขนบริเวณหนังศีรษะมีขนาดเล็กลงและเส้นผมที่ผลิตขึ้นมีลักษณะบางและสั้น จึงเกิดอาการผมบางและหลุดร่วงตามมา จนกระทั่งนำไปสู่ภาวะศีรษะล้าน[1]

การรักษาผมบางแบบพันธุกรรมด้วยยาแผนปัจจุบันที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา ได้แก่ ยาเม็ด finasteride ชนิดรับประทานและยาทาเฉพาะที่ minoxidil[5,6]

  1. ยา finasteride ชนิดรับประทานเป็นยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ 5α-reductase ซึ่งทำให้ระดับฮอร์โมน DHT ที่หนังศีรษะลดลง จึงมีผลลดการหลุดร่วงของเส้นผมและมีส่วนช่วยกระตุ้นการงอกของเส้นผม ขนาดยาที่แนะนำคือ 1 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง รับประทานติดต่อกันนานอย่างน้อย 6 เดือน จึงจะเห็นผลการงอกของเส้นผมและป้องกันอาการผมร่วง[4,7] อย่างไรก็ตามหากหยุดใช้ยานี้อาการผมร่วงจะเกิดขึ้นอีกภายใน 12 เดือน[8] จากรายงานการใช้ยาในระยะยาวพบว่าเมื่อใช้ยา finasteride ชนิดรับประทานขนาด 1 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง นาน 5 ปี ยังคงเห็นผลของยาจากการงอกของเส้นผม[5] สำหรับผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยจากการรับประทานยา finasteride ได้แก่ อาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศและความต้องการทางเพศลดลง เป็นต้น[4]
  2. ยาทาเฉพาะที่ minoxidil มีผลช่วยกระตุ้นการงอกของเส้นผม ความแรงของยาที่แนะนำคือ 5% เนื่องจากมีผลการศึกษายืนยันชัดเจนว่าหลังทายา minoxidil ความแรง 5% บริเวณที่มีอาการครั้งละ 1 มิลลิลิตร วันละ 2 ครั้ง นาน 48 สัปดาห์ มีประสิทธิภาพดีกว่ายาทา minoxidil ความแรง 2% [9] ดังนั้นจึงแนะนำให้ทายา minoxidil ความแรง 5% ครั้งละ 1 มิลลิลิตร บริเวณหนังศีรษะที่มีอาการวันละ 2 ครั้ง ควรทำความสะอาดหนังศีรษะและทำให้หนังศีรษะแห้งก่อนทายา จะเห็นผลการรักษาหลังจากเริ่มใช้ยาแล้วประมาณ 6 เดือน[5] และสามารถใช้ยาได้เป็นเวลานานเพื่อคงผลการรักษาของยา หากหยุดใช้ยา minoxidil อาการผมร่วงจะค่อยๆ กลับมาภายใน 4-6 เดือน[4] สำหรับผลิตภัณฑ์ยาทาเฉพาะที่ minoxidil ที่มีจำหน่ายในประเทศไทยอยู่ในรูปสารละลายและมี 2 รูปแบบคือ แบบหยดและแบบสเปรย์[10] อย่างไรก็ตาม พบว่ายาทาเฉพาะที่ minoxidil อาจถูกดูดซึมผ่านหนังศีรษะเข้าสู่กระแสเลือดได้ แต่ปริมาณยาที่อยู่ในกระแสเลือดอยู่ในระดับต่ำจนไม่สามารถตรวจวัดได้[11] การใช้ยาทาเฉพาะที่ minoxidil อาจเกิดอาการข้างเคียงได้ เช่น ระคายเคืองผิวหนัง ผื่นแพ้สัมผัส หรือมีขนขึ้นตามใบหน้า เป็นต้น[4]

อย่างไรก็ตามยา minoxidil ที่มีจำหน่ายยังมีอยู่อีกรูปแบบคือรูปแบบยาเม็ดชนิดรับประทาน แต่ไม่แนะนำให้รับประทานยานี้เพื่อกระตุ้นการงอกของเส้นผม เนื่องจากยาชนิดรับประทานมีฤทธิ์ลดความดันโลหิต ดังนั้นการซื้อยามารับประทานเองนอกเหนือการดูแลของบุคลากรทางการแพทย์อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ ผู้ป่วยมักมีอาการวิงเวียน การมองเห็นพร่ามัว หน้ามืด แต่หากรับประทานยาในขนาดสูงเกินไป จะส่งผลให้ระดับความดันโลหิตลดต่ำลงมากจนอาจหมดสติได้[11,12,13]

นอกจากการรักษาด้วยยาแผนปัจจุบันแล้ว ปัจจุบันยังมีการแพทย์ทางเลือกโดยการใช้สมุนไพรไทยซึ่งอาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น แต่ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการเพียงพอที่มีรายงานเกี่ยวกับประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์สมุนไพรในการรักษาอาการผมร่วง หากมีแต่การใช้สมุนไพรตามคำกล่าวอ้างที่บอกเล่ากันมา

เอกสารอ้างอิง

  1. อภิชาติ ศิวยาธร. ผมบางศีรษะล้าน. ใน: อภิชาติ ศิวยาธร, กนกวลัย กุลทนันทน์, บรรณาธิการ. โรคผิวหนังต้องรู้. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน; 2547. หน้า 162-4.
  2. Han SH, Byun JW, Lee WS, Kang H, Kye YC, Kim KH, et al. Quality of life assessment in male patients with androgenetic alopecia: result of a prospective,multicenter study. Ann Dermatol 2012; 24:311–8.
  3. Pathomvanich D, Pongratananukul S, Thienthaworn P, Manoshai S. A random study of Asian male androgenetic alopecia in Bangkok, Thailand. Dermatol Surg 2002; 28:804–7.
  4. Varothai S, Bergfeld WF. Androgenetic alopecia: an evidence-based treatment update. Am J Clin Dermatol 2014; 15:217–30.
  5. Lee WS, Lee HJ, Choi GS, Cheong WK, Chow SK, Gabriel MT, et al. Guidelines for management of androgenetic alopecia based on BASP classification–the Asian consensus committee guideline. J Eur Acad Dermatol Venereol 2013; 27:1026–34.
  6. Chin EY. Androgenetic alopecia (male pattern hair loss) in the United States: What treatments should primary care providers recommend? J Am Assoc Nurse Pract 2013; 25(8):395–401.
  7. Tsuboi R, Itami S, Inui S, Ueki R, Katsuoka K, Kurata S, et al. Guidelines for the management of androgenetic alopecia (2010). J Dermatol 2012; 39(2):113–20.
  8. Olsen EA, Messenger AG, Shapiro J, Bergfeld WF, Hordinsky MK, Roberts JL. Evaluation and treatment of male and female pattern hair loss. J Am Acad Dermatol. 2005; 52(2):301-11.
  9. Olsen EA, Dunlap FE, Funicella T, Koperski JA, Swinehart JM, Tschen EH, et al. A randomized clinical trial of 5% topical minoxidil versus 2% topical minoxidil and placebo in the treatment of androgenetic alopecia in men. J Am Acad Dermatol 2002; 47(3):377-85.
  10. Ping NH, Lim C, Dela Pena LA, Palay MJB, Solivet ZJN, De Castro CEL, et al. MIMS Thailand. 136th ed. Bangkok: TIMS (Thailand) Ltd; 2014.
  11. Rogers NE, Avram MR. Medical treatments for male and female pattern hair loss. J Am Acad Dermatol 2008; 59(4):547-66.
  12. Sica DA. Minoxidil: an underused vasodilator for resistant or severe hypertension. J Clin Hypertens 2004; 6:283–7.
  13. Lanier JB, Mote MB, Clay EC. Evaluation and management of orthostatic hypotension. Am Fam Physician 2011; 84(5):527-36.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
ผมร่วง ผมบาง ศรีษะล้าน finasteride minoxidil
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้