หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ยาแก้แพ้กลุ่มที่ทำให้ง่วงและไม่ง่วง รักษาอาการแพ้ได้เหมือนกันจริงหรือ?

โดย นศภ. กนกวรรณ ศักดิ์สกุลไกร เผยแพร่ตั้งแต่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2557 -- 789,892 views
 

อาการแพ้เกิดจากอะไร?

อาการแพ้เกิดขึ้นเมื่อร่างกายได้รับสิ่งแปลกปลอมที่สามารถกระตุ้นให้เซลล์หลั่งฮีสตามีน (histamines) ออกมาซึ่ง ฮีสตามีนเป็นสารที่มีอยู่ในเซลล์ทั่วร่างกาย ทั้งระบบประสาท ทางเดินอาหาร และระบบภูมิคุ้มกัน เมื่อฮีสตามีนถูกหลั่งออกมาจะทำให้เกิดอาการคัน ผื่นแดงที่ผิวหนัง อาจมีหลอดลมตีบ หายใจลำบาก ที่ทางเดินหายใจ และถ้าไปออกฤทธิ์ที่ทางเดินอาหารจะมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน

ยารักษาอาการแพ้มีกี่ประเภท?

ยาแก้แพ้หรือยาต้านฮีสตามีน (antihistamines) แบ่งเป็น 2 กลุ่ม1,2 ได้แก่ กลุ่มแรก ยาต้านฮีสตามีนกลุ่มดั้งเดิมหรือยาต้านฮีสตามีนกลุ่มที่ทำให้ง่วงซึม และ กลุ่มที่สอง ยาต้านฮีสตามีนกลุ่มที่ไม่ทำให้ง่วงซึม ซึ่งในบทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะยารับประทาน

ยาแก้แพ้แต่ละกลุ่มต่างกันอย่างไร และมีข้อควรระวังอะไรบ้าง ?

1. ยาต้านฮีสตามีนกลุ่มดั้งเดิม (conventional antihistamines)

เป็นยาต้านฮีสตามีนรุ่นแรก ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้เช่น คลอเฟนิรามีน (chlorpheniramine), ไดเฟนไฮดรามีน (diphenhydramine), ไดเมนไฮดริเนต (dimenhydrinate), ไฮดรอไซซีน (hydroxyzine), ทริโปรลิดีน (triprolidine), บรอมเฟนิรามีน (brompheniramine), คีโตติเฟน (ketotifen) และ ออกซาโทไมด์ (oxatomide)

ยาในกลุ่มนี้สามารถใช้รักษาอาการเยื่อจมูกอักเสบเนื่องจากภูมิแพ้ ที่มีอาการคัน, จาม, นํ้ามูกไหล และมักให้ร่วมกับยาชนิดอื่นตามอาการที่แสดง เยื่อตาขาวอักเสบเนื่องจากภูมิแพ้ที่เป็นตามฤดูกาล ผื่นลมพิษ ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง อาการคันผื่นขึ้นเนื่องจากแมลงกัดต่อย สัมผัสพืชพิษ หรือสัมผัสสารเคมีบางอย่าง บรรเทาอาการ นํ้ามูกไหล จาม คันจมูก นอกจากนี้ยังสามารถบรรเทาอาการเมารถ เมาเรือได้

สำหรับ คีโตติเฟน และ ออกซาโทไมด์ สามารถใช้ในการรักษาและป้องกันอาการภูมิแพ้ได้ เนื่องจากยาทั้งสองตัวสามารถทำให้เยื่อหุ้มของเซลล์ที่หลั่งฮีสตามีน และสารก่ออักเสบอื่นๆ ทนทาน จึงเป็นการป้องกันการปลดปล่อยสาร ซึ่งการใช้เพื่อป้องกัน เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดต้องใช้ยาอย่างสมํ่าเสมอก่อนสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ ประมาณ 2 สัปดาห์ 3

ยาในกลุ่มนี้สามารถผ่านเข้าสู่สมอง ไปกดระบบประสาทได้ จึงทำให้ผู้ที่ใช้ยามีอาการง่วงซึม แต่บางครั้งในเด็ก คนชรา หรือผู้ที่ได้รับยาขนาดสูง อาจพบอาการกระวนกระวาย อยู่นิ่งไม่ได้ นอนไม่หลับ ส่วนอาการข้างเคียงอื่นๆ เช่นจมูกแห้ง ปากแห้ง คอแห้ง ตาพร่า ไม่สบายทางเดินอาหาร ปัสสาวะคั่ง นํ้าหนักตัวเพิ่ม

เนื่องจากยากลุ่มนี้ทำให้ง่วงซึม จึงควรระวังการใช้ในผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับการควบคุมเครื่องจักร ขับรถ และห้ามใช้ร่วมกับยากล่อมประสาท ยานอนหลับ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ระวังการใช้ในเด็กเล็ก เพราะอาจทำให้เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ยาในกลุ่มนี้อาจทำให้อาการความดันในลูกตาผิดปกติและภาวะปัสสาวะคั่งแย่ลงจึงควรระวังการใช้ในผู้ป่วยบางโรคเช่น ความดันในลูกตาสูง ต้อหินบางชนิด และต่อมลูกหมากโต ระวังการใช้ในผู้ที่อยู่ระหว่างการให้นมบุตรด้วยนํ้านมตนเองเนื่องจากยาสามารถขับออกทางนํ้านมได้ และมียาบางตัวอาจก่อให้ทารกเกิดวิกลรูป (หรือทารกที่คลอดออกมามีความผิดปกติ) ดังนั้นหญิงมีครรภ์ที่ต้องการใช้ยาจึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง

2. ยาต้านฮีสตามีนกลุ่มที่ไม่ทำให้ง่วงนอน (non-sedating antihistamines)

ยาต้านฮีสตามีนกลุ่มนี้ออกฤทธิ์เช่นเดียวกับยาต้านฮีสตามีนกลุ่มดั้งเดิม แต่ยาในกลุ่มนี้ผ่านเข้าสมองได้น้อยมากจึงทำให้ง่วงซึมน้อยกว่า ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้เช่น เซทิริซีน (cetirizine), เลโวเซทิริซีน (levocetirizine), เฟโซเฟนาดีน (fexofenadine) และ ลอราทาดีน (loratadine) เป็นต้น

ยาต้านฮีสตามีนกลุ่มนี้สามารถใช้รักษาอาการต่างๆ ได้คล้ายกับกลุ่มดั้งเดิมคือ เยื่อจมูกอักเสบเนื่องจากภูมิแพ้ เยื่อตาขาวอักเสบเนื่องจากภูมิแพ้ที่เป็นตามฤดูกาล ผื่นลมพิษ (โดยเฉพาะ เซทิริซีน ให้ผลดีในการลดผื่นลมพิษแบบเฉียบพลัน และลดอาการคันได้เร็วกว่ายาอื่นในกลุ่มเดียวกัน4 เนื่องจากยาออกฤทธิ์เร็ว5) และผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง แต่อาจให้ผลบรรเทาอาการนํ้ามูกไหล อาการเมารถ เมาเรือ ได้ไม่ดีเท่ากลุ่มดั้งเดิม

อาการง่วงซึม จมูกแห้ง ปากแห้ง คอแห้ง ตาพร่า จะพบน้อยกว่ากลุ่มดั้งเดิม ในผู้ที่รับประทานยาอื่นร่วมด้วย ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบ เนื่องจากอาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาเมื่อรับประทานร่วมกับยาฆ่าเชื้อบางชนิด ระวังการใช้ในผู้ที่อยู่ระหว่างการให้นมบุตรด้วยนํ้านมตนเองเพราะยังมีข้อมูลน้อย ระวังการใช้ยาในผู้ป่วยโรคตับ โรคไต และผู้ที่มีประวัติคลื่นหัวใจผิดปกติ เพราะอาจต้องปรับขนาดยาลดลง และเนื่องจากมียาบางตัวอาจก่อให้ทารกเกิดวิกลรูปได้เช่นเดียวกับกลุ่มดั้งเดิม ดังนั้นหญิงมีครรภ์ที่ต้องการใช้ยาจึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง

สรุป

ยาแก้แพ้หรือ ยาต้านฮีสตามีน เป็นยาที่หาซื้อได้ง่าย ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่ทราบความแตกต่างของยาแก้แพ้ จึงมักเลือกยาแก้แพ้ชนิดที่ไม่ง่วงนอน ในการบรรเทาอาการอาการจาม คันจมูก นํ้ามูกไหล จากข้อมูลข้างต้น ยาแก้แพ้ทั้งสองกลุ่มใช้บรรเทาอาการแพ้ที่เกิดจากการหลั่งฮีสตามีนได้คล้ายกัน อาการที่เกิดจากการหลั่งฮีสตามีนเช่น อาการจาม คันจมูก คันตา ผื่น อาการบวมแดงที่เยื่อบุและผิวหนัง แต่ยาต้านฮีสตามีนกลุ่มที่ทำให้ง่วงซึมสามารถลดนํ้ามูก อาการเมารถ เมาเรือ ได้ดีกว่า กลุ่มที่ไม่ทำให้ง่วงซึม สำหรับ คีโตติเฟน และ ออกซาโทไมด์ นอกจากจะสามารถใช้ในการรักษาอาการแพ้ได้แล้วยังสามารถป้องกันอาการแพ้ได้ แต่ต้องใช้ยาอย่างสมํ่าเสมอก่อนสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ ส่วนอาการง่วงซึม จมูกแห้ง ปากแห้ง คอแห้ง ตาพร่า จะพบในยาต้านฮีสตามีนกลุ่มที่ทำให้ง่วงซึม ได้มากกว่ากลุ่มที่ไม่ทำให้ง่วงซึม และยาแก้แพ้แต่ละกลุ่มมีข้อควรระวังและข้อห้ามใช้แตกต่างกัน เพื่อความปลอดภัยจึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง อย่างไรก็ตามวิธีการรักษาอาการแพ้ที่ดีที่สุดคือ สังเกตว่าอาการแพ้เกิดขึ้นเมื่อสัมผัสหรือรับประทานสิ่งใด เมื่อทราบแล้วควรกำจัดหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้นั้น เช่นหากสารก่อภูมิแพ้คือแมลงสาบ ควรใช้กับดักที่มียาฆ่าแมลงสาบซึ่งเป็นวิธีกำจัดแมลงสาบที่ได้ผลดีที่สุดในการลดจำนวนและปริมาณสารก่อภูมิแพ้ 6

เอกสารอ้างอิง

1. Brunton LL, editors. Goodman & Gilman's the pharmacological basis of therapeutics , 12th ed. New York: McGraw-Hill, 2011.

2. Simons FER. Drug therapy: Advances in H1-antihistamines. N Engl J Med 2004;351:2203-17.

3. Bielory BP, O'Brien TP, Bielory L. Management of seasonal allergic conjunctivitis: guide to therapy. Acta Ophthalmol 2012;90(5):399-407.

4. Jáuregui I, Ferrer M, Montoro J, Dávila I, Bartra J, Cuvillo A, et al. Antihistamines in the treatment of chronic urticarial. J Investig Allergol Clin Immunol 2007; 17(2):41-52.

5. Subramanian A, Reilly CH, Novak KK, Kastrup EK, Wickersham RM, Horenkamp JR, et al. Drug facts and comparisons. Missouri: Wolters Kluwer Health, 2009.

6. คณะทำงานคณะทำงานแนวทางการพัฒนาการตรวจรักษาโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ในคนไทย. แนวทางการพัฒนาการตรวจรักษาโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ในคนไทย (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.๒๕๕๔)


คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
ยาแก้แพ้ ฮีสตามีน ยาต้านฮีสตามีน ลมพิษ น้ำมูกไหล
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้