หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

คุณปู่เป็นโรคความดันสูงค่ะ ทานยา manidipine, hydralazine carvidilol ค่ะ มีอาการเท้าบวมแค่ข้างเดียว 3-4 วันแล้วค่ะ ไม่มีอาการเจ็บ/ปวด กดแล้วไม่บุ๋ม อยากทราบว่าเป็นผลจากยามั้ยคะ ทำอย่างไรถึงจะหายบวมหรอคะ

ถามโดย จ เผยแพร่ตั้งแต่ 18/05/2024-22:25:39 -- 9 views
 

คำตอบ

อาการบวม คือ ภาวะที่มีของเหลวสะสมอยู่ภายในเนื้อเยื่อของร่างกาย เมื่อสะสมในปริมาณมากก็ก่อให้เกิดการบวมได้ แบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่ 1) อาการบวมกดไม่บุ๋ม (non-pitting edema) สาเหตุอาจมาจากภาวะบวมน้ำเหลือง เนื่องจากการอุดตันของทางเดินน้ำเหลือง ภาวะติดเชื้อ ภาวะ myxedema จากต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ หรือภาวะไขมันสะสมผิดปกติ 2) อาการบวมแบบกดบุ๋ม (pitting edema) ซึ่งสาเหตุอาจมาจากการรับประทานยาลดความดันโลหิต มักเกิดขึ้นภายใน 6 เดือน หลังเริ่มใช้ยาและเกิดกับขาทั้ง 2 ข้าง ไม่เกิดกับขาเพียงข้างใดข้างหนึ่งเท่านั้น โดยที่ยาลดความดันโลหิตหลายกลุ่มสามารถก่อให้เกิดปัญหาขาบวมได้ ยกตัวอย่างเช่น ยากลุ่ม calcium channel blockers (amlodipine, nifedipine และ manidipine) ยากลุ่ม vasodilators (hydralazine) และยากลุ่ม beta-blockers (propranolol และ carvedilol) นอกจากนี้อาการบวมอาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น การยืนหรือนั่งเป็นเวลานานเกินไป การรับประทานอาหารรสเค็มจัด น้ำหนักเกิน หญิงตั้งครรภ์ อีกทั้งอาจมีสาเหตุจากการบาดเจ็บ แมลงสัตว์กัดต่อย การติดเชื้อ หรืออาจมีบางโรคที่ทำให้เกิดอาการขาบวมผิดปกติ เช่น ภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำบริเวณขา โรคไต ในกรณีนี้ที่คนไข้รับประทานยาลดความดันโลหิต 3 ตัว คือ manidipine, hydralazine และ carvedilol แล้วมีอาการเท้าบวมข้างเดียวแบบกดไม่บุ๋ม เป็นไปได้ที่อาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ผลจากยาลดความดันโลหิตที่ผู้ป่วยใช้ ดังนั้นผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาและวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริงและรับการรักษาอย่างถูกวิธี

Reference:
1. National Health Service. Swollen ankles, feet and legs (oedema) [Internet]. 2022 [cited 2024 Jun 23]. Available from: https://www.nhs.uk/conditions/oedema/.
2. Specialist Pharmacy Service, National Health Service. Managing peripheral oedema caused by calcium channel blockers [Internet]. 2022 [cited 2024 Jun 23]. Available from: https://www.sps.nhs.uk/articles/managing-peripheral-oedema-caused-by-calcium-channel-blockers/.
3. Largeau B, Cracowski J-L, Lengellé C, Sautenet B, Jonville-Béra A-P. Drug-induced peripheral oedema: An aetiology-based review. Br J Clin Pharmacol. 2021; 87(8):3043-3055.
4. สกาวรัตน์ เตชทวีทรัพย์. ศูนย์กายภาพบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล. ไม่ใช่แค่บวม อย่ามองข้าม ตอน ต้นตอการบวม [Internet]. 2019 [cited 2024 Jun 25]. Available from: https://pt.mahidol.ac.th/knowledge/?p=1453
5. Norris T. What is non-pitting edema and what causes it? [Internet]. 2018 [cited 2024 Jun 25]. Available from: https://www.healthline.com/health/non-pitting-edema

Keywords:
manidipine, hydralazine, carvedilol, ขาบวม, ยาลดความดันโลหิต





หัวใจและหลอดเลือด

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้