หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

สวัสดีค่ะ รบกวนสอบถามเรื่องยาลดไขมัน ผู้ป่วยเพศชาย มีไขมันในเลือดสูง คุณหมอสั่งยาในกลุ่ม Statin ให้ทาน 1 เม็ด และนัดตรวจเลือดอีกที ใน 3 เดือน ปรากฏว่า ค่าไขมันลดลง แต่ ค่า Creatine Kinase สูงถึง 1274 U/L (แต่คนไข้ไม่ได้มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื่อใด ๆ เลยค่ะ) หลังจากนั้น คุณหมอเปลี่ยนมาให้ทาน Ezetimibe 10 mg วันละ 1 เม็ดแค่ตัวเดียว แล้วมาตรวจเลือดใน 3 เดือน ก็ยังพบว่า ค่า Creatine Kinase ยังสูงถึง 747 U/L ตอนนี้คุณหมอเลยสั่งหยุดยาลดไขมันทุกตัว แล้วมาดูผลตรวจเลือดอีกที ใน 1 เดือน คุณหมอเกริ่นว่า ถ้าผู้ป่วยมีอาการข้างเคียงจากการใช้ยา Statin และ Ezetimibe อาจจะต้องเปลี่ยนมาเป็นยาลดไขมันชนิดฉีดแทน ซึ่งราคาสูงมาก คำถามคือ มียาลดไขมันกลุ่มอื่นที่ไม่ใช่ Statin และ Ezetimibe หรือไม่คะ ที่ให้ผลในการลดไขมันในเลือด และพบอาการข้างเคียงน้อย ขอบพระคุณล่วงหน้าสำหรับคำตอบค่ะ

ถามโดย AQ เผยแพร่ตั้งแต่ 15/05/2024-09:43:37 -- 1,209 views
 

คำตอบ

Creatine kinase (CK) มักพบในเนื้อเยื่อที่ใช้พลังงานสูง เนื่องจากเป็นเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งพลังงานในกล้ามเนื้อลาย กล้ามเนื้อหัวใจและสมอง หากพบระดับเอนไซม์ CK ในเลือดสูงขึ้นอาจบ่งบอกถึงอาการไม่พึงประสงค์ต่อกล้ามเนื้อ (เช่น ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อลายสลาย เป็นต้น) ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากการได้รับ statin หรือ ezetimibe โดยความหลากหลายทางพันธุกรรมส่งผลให้ผู้ป่วยมีการตอบสนองต่อยาแตกต่างกัน หรือเกิดจากการที่ยาไปรบกวนการทำงานของแหล่งสร้างพลังงานของเซลล์กล้ามเนื้อ หรือเกิดจากยากระตุ้นการทำลายเซลล์กล้ามเนื้อผ่านระบบภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้ระดับเอนไซม์ CK ในเลือดสูงได้ เช่น โรคร่วมอื่น ๆ ของผู้ป่วย การทำงานของไตบกพร่อง การติดเชื้อ ยาหรือสารเคมี) เป็นต้น หากระดับ creatine kinase สูงจากยาทั้งสองตัว อาจพิจารณาใช้ยารักษาภาวะไขมันผิดปกติกลุ่มอื่นที่ไม่ใช่ statin และ ezetimibe ซึ่งมีดังต่อไปนี้ 1) ยากลุ่มไฟเบรต (fibrate) เช่น fenofibrate, gemfibrozil ซึ่งมีฤทธิ์ดีในการลดไขมันชนิดไตรกลีเซอไรด์ 2) คอเลสไทรามีน (cholestyramine) ซึ่งออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดซึมของไขมันและมีผลลด LDL 3) ยายับยั้งเอนไซม์พีซีเอสเค-9 (protein convertase subtilisin/kexin type 9 inhibitors หรือ PCSK9 inhibitors) ซึ่งเป็นรูปแบบฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ช่วยลด LDL เช่น alirocumab, evolocumab, inclisiran 4) ยาลดการสร้างอะโปไลโพโปรตีนบี-100 (apolipoprotein B-100) ออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างไขมันชนิด VLDL และลด LDL ได้แก่ mipomersen ใช้ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง 5) ไนอะซิน (niacin) และอนุพันธ์ไนอะซิน เช่น acipimox ออกฤทธิ์ลดไตรกลีเซอไรด์ในเลือดและ LDL และช่วยเพิ่ม HDL และ 6) ยากลุ่มกรดไขมันโอเมกา-3 (omega-3 fatty acids) เช่น icosapent ethyl (ethyl eicosapentaenoic acid, E-EPA, ethyl icosapentate) ที่ใช้ลดภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดที่สูง

Reference:
1. คณะกรรมการดำเนินการจัดทำแนวทางเวชปฏิบัติการใช้ยารักษาภาวะไขมันผิดปกติเพื่อป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย. แนวทางเวชปฏิบัติการใช้ยารักษาภาวะไขมันผิดปกติ เพื่อป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด พ.ศ. 2559 [Internet]. 2016 [cited 2024 Jun 21]. Available from: https://w1.med.cmu.ac.th/family/knowledge/for-doctor/guideline/2826
2. Mach F, Baigent C, Catapano AL, Koskinas KC, Casula M, Badimon L, et al. 2019 ESC/EAS guidelines for the management of dyslipidaemias: lipid modification to reduce cardiovascular risk. European Heart Journal. 2019 Aug 31;41(1).
3. สุขวาณิชย์ศิลป์ นงลักษณ์. ยาลดไขมันในเลือด : ตอนยาลดไตรกลีเซอไรด์ | โดยคณะเภสัชฯ ม.มหิดล [Internet]. 2022 [cited 2024 Jun 21]. Available from: https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/service-knowledge-article-info-old.php?id=601
4. สุขวาณิชย์ศิลป์ นงลักษณ์. ยาลดไขมันในเลือดชนิดฉีด | โดยคณะเภสัชฯ ม.มหิดล [Internet]. 2022 [cited 2024 Jun 21]. Available from: https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/service-knowledge-article-info-old.php?id=590
5. Cleveland clinic. Creatine kinase (CK): what it is, purpose & procedure [Internet]. 2022 [cited 2024 Jun 22]. Available from: https://my.clevelandclinic.org/health/diagnostics/22692-creatine-kinase-ck
6. หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล. ยาลดไขมันกลุ่ม statins กับผลข้างเคียงต่อกล้ามเนื้อ [Internet]. 2023 [cited 2024 Jun 24]. Available from: https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/knowledge_full.php?id=74#:~:text=%252C3%252D6%255D-

Keywords:
ยาลดไขมัน, Creatine Kinase





หัวใจและหลอดเลือด

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้