หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

สวัสดีค่ะ คือหนูมีคำถามค่ะ 1.เริ่มกินยาคุมรายเดือนตั้งแต่ธันวาคม ปี 66 แบบ 21 เม็ด เว้น 7 วัน ประจำเดือนมาปกติ 2.กินยาคุมแผงสุดท้ายเดือนกุมภาพันธ์ ปี 67 เว้น 7 วันประจำเดือนมาไม่ได้กินต่อ วันที่ 6 มีนาคม 67 มี พสพ. ป้องกันใส่ถุงยาง + กินยาคุมฉุกเฉิน(กินวันที่ 8 มี.ค) กินได้ 7 วัน มีเลือดออกคล้ายประจำเดือนวันที่ 16 มี.ค. 3.เลยเริ่มกินยาคุมแบบรายเดือน 21 เม็ด เม็ดแรกวันที่ 18 มีนาคม และมีพสพ.แบบป้องกันใส่ถุงยาง กินยาคุมเม็ดที่ 7 พอดี 4.และกินยาคุมปกติจนหมดแผงครบ 21 เม็ดเว้น 7 วัน 5.ช่วงเว้น 7 วัน ปจด. ไม่มา แต่มีอาการปวดหลังช่วงล่างเหมือนยืนนานๆ และมีเลือดออกกระปิดกระปอย คล้ายก่อนหรือหลังที่เราจะเป็นปจด. ตั้งแต่วันที่ 11-16 ช่วงแรกแค่เลือด กกน. แต่วันกลางๆต้องใส่ผ้าอนามัยแบบแผ่นเล็ก ไม่งั้นจะเปื้อนซึมออกเลอะกางเกง ตรวจการตั้งครรภ์ 13 เมษายน ไม่ท้อง แบบปัสสวะ ตรวจการแบบปัสสวะ โดยโรงพยาบาล ไม่ท้อง คำถามของหนูคือ หนูมีโอกาสท้องไหมคะ หรือว่าเลือดที่ออกมาเป็นเลือกจากการกินยาคุม ปัจจุบันไม่ได้ทานยาคุมแล้ว ตั้งใจว่าจะใช้การฝังแทน

ถามโดย ปอมปอม เผยแพร่ตั้งแต่ 23/04/2024-13:33:12 -- 363 views
 

คำตอบ

ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมนั้นมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ได้สูงถึง 99% หากรับประทานอย่างสม่ำเสมอและถูกวิธี ปกติแล้วการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดเพื่อให้มีประสิทธิภาพควรเริ่มต้นทานในวันที่มีประจำเดือนวันแรกจนถึงวันที่ห้า แต่หากทานหลังจากนั้นต้องใช้วิธีอื่นป้องกันร่วมด้วย เช่น ถุงยางอนามัย ซึ่งยาเม็ดคุมกำเนิดจะให้ประสิทธิภาพเต็มที่ในการป้องกันการตั้งครรภ์หลังทานไปแล้ว 1 สัปดาห์ ในกรณีที่ทานแบบแผง 21 เม็ด เมื่อรับประทานครบแผงให้เว้นช่วง 7 วันก่อนเริ่มต้นรับประทานยาแผงใหม่ โดยทั่วไปประจำเดือนจะมาหลังหยุดยา บางรายอาจไม่เป็นไปตามนี้ ซึ่งขึ้นกับระดับฮอร์โมนในร่างกายแต่ละคน โดยเลือดที่ออกมาในแต่ละเดือนจะต่อเนื่องขึ้นหากทานยาอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ สำหรับอาการปวดหลังช่วงล่างและเลือดออกกะปริบกะปรอย ถือเป็นผลข้างเคียงที่มักพบได้ในผู้ที่ทานยาเม็ดคุมกำเนิด โดยพบบ่อยในช่วง 3 เดือนแรกที่ใช้ยา จากที่กล่าวมาจึงสรุปได้ว่า มีโอกาสการตั้งครรภ์ต่ำ

Reference:
1. Jin J. Oral contraceptives. JAMA. 2014 Jan 15;311(3):321.
2. Cooper DB, Mahdy H, Patel P. Oral contraceptive pills. PubMed. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing [Internet]. 2022 [cited 2024 Jun 14]. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK430882/
3. Cleveland clinic. Birth control pill: types, side effects & effectiveness [Internet]. 2023 [cited 2024 Jun 14]. Available from: https://my.clevelandclinic.org/health/treatments/3977-birth-control-the-pill
4. Heuch I, Heuch I, Hagen K, et al. Menopausal hormone therapy, oral contraceptives and risk of chronic low back pain: the HUNT Study. BMC Musculoskelet Disord. 2023;24(1):84.

Keywords:
ยาคุมกำเนิด, การตั้งครรภ์





ฮอร์โมน

ดูคำถามทั้งหมด
 
ข่าวยาประจำสัปดาห์ล่าสุด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้