หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Tirzepatide ได้รับข้อบ่งใช้ในการรักษาภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือน พฤษภาคม ปี 2568 -- อ่านแล้ว 1,480 ครั้ง
 
Obstructive sleep apnea (OSA) หรือภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ เป็นภาวะที่กล้ามเนื้อทางเดินหายใจส่วนต้นหย่อนตัวขณะหลับ ทำให้มีออกซิเจนไม่เพียงพอ สมองจึงตื่นตัวเป็นระยะ ส่งผลให้การนอนหลับของผู้ป่วยไม่มีประสิทธิภาพจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งโรคอ้วน (obesity) เป็นปัจจัยเสี่ยงหลักที่ทำให้เกิด OSA เนื่องจากการมีเนื้อเยื่อผนังคอที่หนาทำให้ทางเดินหายใจแคบลง การรักษาอันดับแรกของ OSA คือการใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวกชนิดต่อเนื่องหรือ continuous positive airway pressure (CPAP) ซึ่งเป็นหน้ากากที่ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอตลอดทั้งคืน นอกจากนี้ยังมีการรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น การผ่าตัดทางเดินหายใจ การใช้เครื่องมือในช่องปาก (ทันตอุปกรณ์) การลดน้ำหนัก รวมถึงการใช้ยา เช่น ยาพ่นจมูก เพื่อลดอาการบวมและกลุ่มสเตียรอยด์ ยากระตุ้นการหายใจ และยาต้านซึมเศร้า แต่จากการศึกษาพบว่ายาเหล่านี้ไม่สามารถลดความถี่ของการหยุดหายใจขณะหลับ (Apnea Hypopnea Index, AHI) ได้อย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งหากใช้ในระยะยาวอาจพบผลข้างเคียงจากการใช้ยา

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ. 2024 องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (USFDA) ได้อนุมัติให้ tirzepatide ภายใต้ชื่อการค้า Zepbound® ซึ่งเป็นยากลุ่ม GIP (glucose-dependent insulinotropic polypeptide) และ GLP-1 (glucagon-like peptide-1) receptor agonist บริหารยาโดยฉีดผ่านชั้นใต้ผิวหนัง (subcutaneous injection) สัปดาห์ละครั้ง เป็นยาชนิดแรกที่ได้รับข้อบ่งใช้ในการรักษา OSA ในผู้ที่อายุมากกว่า 18 ปี ที่เป็นโรคอ้วน โดยใช้ร่วมกับการรับประทานอาหารที่มีแคลอรี่ต่ำและการออกกำลังกาย เพิ่มเติมจากเดิมที่ได้รับข้อบ่งใช้สำหรับโรคอ้วน (BMI ≥30 kg/m2) หรือภาวะน้ำหนักเกิน (BMI ≥27 kg/m2) ในผู้ที่มีโรคร่วมที่เกี่ยวข้องกับน้ำหนัก (weight-related comorbid condition) เท่านั้น การได้รับข้อบ่งใช้ใหม่นี้อ้างอิงจากข้อมูลของการศึกษาชื่อ tirzepatide for the treatment of obstructive sleep apnea and obesity ซึ่งเป็นการศึกษาในประชากรอายุมากกว่า 18 ปี ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น OSA ระดับปานกลางถึงรุนแรง คือ มีค่า AHI มากกว่าหรือเท่ากับ 15 ครั้งต่อชั่วโมง และโรคอ้วน (BMI ≥30 kg/m2) แบ่งเป็น 2 การทดลอง คือ 1) คนที่ไม่ได้รับการรักษาด้วย CPAP จำนวน 234 คน 2) คนที่ได้รับการรักษาด้วย CPAP จำนวน 235 คน แต่ละการทดลองแบ่งเป็นคนที่ได้รับ tirzepatide ซึ่งค่อย ๆ เพิ่มขนาดยาจนถึง 10−15 mg หรือยาหลอก ในอัตราส่วน 1:1 ติดตามผลการศึกษาเป็นเวลา 52 สัปดาห์ พบว่าในคนที่ไม่ได้รับการรักษาด้วย CPAP กลุ่มที่ได้ tirzepatide มี AHI ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้ยาหลอก (-20.0, 95%CI =−25.8 to −14.2) เช่นเดียวกับคนที่ได้รับการรักษาด้วย CPAP ซึ่งพบว่ากลุ่มที่ได้ tirzepatide มี AHI ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้ยาหลอกเช่นกัน (−23.8, 95%CI = −29.6 ถึง −17.9) ในส่วนของความปลอดภัย เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์สำคัญที่พบในกลุ่มที่ได้รับ tirzepatide ซึ่งมากกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอก ได้แก่ อาการที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก กรดไหลย้อน เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง

1. สมาคมโรคจากการหลับแห่งประเทศไทย. คำแนะนำสำหรับการวินิจฉัยและดูแลรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นในประเทศไทย สำหรับผู้ใหญ่ พ.ศ. 2561 [อินเทอร์เน็ต]. 2561 [เข้าถึงเมื่อ 6 มกราคม 2568]. เข้าถึงได้จาก: https://sst.or.th/sleep/wp-content/uploads/ 2019/08/CPG-5-LOGO.pdf.

2. Malhotra A, Grunstein RR, Fietze I, Weaver TE, Redline S, Azarbarzin A, Sands SA, et al. Tirzepatide for the Treatment of Obstructive Sleep Apnea and Obesity. New England Journal of Medicine. 2024 Jun 21.

3. ปารยะ อาศนะเสน. อาการนอนกรน (Snoring) และ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea) ตอนที่ 1. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล. [อินเทอร์เน็ต]. 21 สิงหาคม 2560 [เข้าถึงเมื่อ 6 มกราคม 2568]. เข้าถึงได้จาก : https://www.si.mahidol.ac.th/th/ healthdetail.asp?aid=332.

4. Food and drug administration. ZEPBOUND(R) injection [internet]. 2024 [cited 2025 Jan 6]. Available from: https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2024/2178 06s013lbl.pdf.

5. Iapoce C, Ciccone I. FDA Approves Tirzepatide as First Treatment for Obstructive Sleep Apnea and Obesity.


คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
tirzepatide obstructive sleep apnea OSA obesity
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.1 ยาคุมฉุกเฉิน Emergency contraceptive pills

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้