หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Metformin อาจไม่จำเป็นหลังทำ bariatric surgery

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 2 เดือน พฤษภาคม ปี 2568 -- อ่านแล้ว 556 ครั้ง
 
การผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนัก (metabolic bariatric surgery, MBS) มีประสิทธิภาพอย่างยิ่งในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคอ้วน เนื่องจากช่วยลดอัตราการเสียชีวิต รวมถึงช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและควบคุมให้ภาวะเบาหวานทุเลาลง โดยผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ทำ MBS และสามารถควบคุมระดับ hemoglobin A1C (HbA1C) ได้ มักจะได้รับคำแนะนำให้หยุด metformin ซึ่งเคยได้รับมาก่อนหน้า อย่างไรก็ตามพบว่ายังคงมีบางกรณีที่โรคเบาหวานอาจกลับมาเป็นซ้ำได้ ทำให้ในปัจจุบันข้อแนะนำสำหรับการใช้ metformin ในผู้ป่วยเบาหวานหลังทำ MBS ยังไม่ชัดเจน

ล่าสุดมีการศึกษาแบบสังเกตย้อนหลัง เผยแพร่ผ่าน Diabetes, Obesity and Metabolism: A Journal of Pharmacology and Therapeutics การศึกษานี้ทำในผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคอ้วนที่มีอายุ 24 ปีขึ้นไป ซึ่งรับประทาน metformin และได้เข้ารับการทำ MBS ที่สามารถควบคุมระดับ HbA1c ได้ต่ำกว่า 6.5% ภายใน 6 เดือน หลังการผ่าตัด ระหว่างปี 2005-2020 เปรียบเทียบระหว่างผู้ป่วย 2 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มที่รับประทานยา metformin ต่อเนื่อง และ 2) กลุ่มที่หยุดรับประทาน metformin โดยจับคู่เปรียบเทียบตามอายุ เพศ และระดับ HbA1C ณ วันที่เริ่มศึกษา ผลการศึกษาพบว่าทั้งสองกลุ่มสามารถรักษาระดับ HbA1c เฉลี่ยต่ำกว่า 6.5% ตลอดช่วงติดตามผล (เฉลี่ยประมาณ 5 ปี) และแบบจำลอง Cox-proportional hazard ไม่พบความสัมพันธ์ที่มีนัยสำคัญระหว่างการใช้ metformin ต่อเนื่องหลังการผ่าตัดกับการกลับมาเป็นเบาหวานซ้ำ (adjusted hazard ratio=1.70, 95% confidence interval: 0.98-2.94) รวมทั้งไม่พบความแตกต่างที่มีนัยสำคัญระหว่างสองกลุ่มในการลดน้ำหนักและการจ่ายยารักษาเบาหวานอื่น ๆ ระหว่างช่วงติดตามผล ดังนั้นการศึกษานี้จึงสนับสนุนแนวคิดที่ว่า metformin อาจไม่จำเป็นหลังจากการเข้ารับการผ่าตัด MBS อย่างไรก็ตามการศึกษานี้มีข้อจำกัดหลายประการ เช่น จำนวนผู้ป่วยในกลุ่มตัวอย่างน้อย รวมทั้งรูปแบบการศึกษาเป็นเชิงสังเกตทำให้ขาดการสุ่มตัวอย่าง จึงมีความจำเป็นที่ต้องมีการทดลองควบคุมแบบสุ่มในอนาคตเพื่อยืนยันผลการวิจัยนี้ อีกทั้งควรมีการติดตามผลในระยะยาวซึ่งอาจแสดงประโยชน์ของ metformin เพิ่มเติมต่อไป

เอกสารอ้างอิง

1. Cefalu WT, Rubino F, Cummings DE. Metabolic Surgery for Type 2 Diabetes: Changing the Landscape of Diabetes Care. Diabetes Care. 2016; 39(6):857-60.

2. Riddle MC, Cefalu WT, Evans PH, Gerstein HC, Nauck MA, Oh WK, et al. Consensus Report: Definition and Interpretation of Remission in Type 2 Diabetes. Diabetes Care. 2021; 44(10):2438-44.

3. Lupoli R, Lembo E, Giosuè A, Schiavo L, Capaldo B. Clinical insights into management options for recurrent type 2 diabetes and cardiovascular risk after metabolic-bariatric surgery. Nutr Metab Cardiovasc Dis. 2022; 32(6):1335-42.

4. Conte C, Lapeyre-Mestre M, Hanaire H, Ritz P. Diabetes Remission and Relapse After Bariatric Surgery: a Nationwide Population-Based Study. Obes Surg. 2020; 30(12):4810-20.

5. Dicker D, Pinto D, Reges O. Metformin continuation post-metabolic bariatric surgery and relapse of diabetes. Diabetes Obes Metab. 2024. [e-publication ahead of print].


คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
metformin metabolic bariatric surgery HbA1C
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.2 เกลือแร่สำหรับท้องเสีย ORS (Oral Rehydration Salts)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้