หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Sotagliflozin อาจช่วยรักษาภาวะโลหิตจางในผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นโรคไตเรื้อรัง

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือน เมษายน ปี 2568 -- อ่านแล้ว 1,409 ครั้ง
 
โลหิตจาง (anemia) คือ ภาวะที่ร่างกายมีเม็ดเลือดแดง (RBC) และฮีโมโกลบิน (hemoglobin) ในเลือดน้อยกว่าปกติ โดยฮีโมโกลบินเป็นองค์ประกอบสำคัญของเม็ดเลือดแดงที่ทำหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนจากปอดไปเลี้ยงเซลล์และเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกาย ภาวะโลหิตจางทำให้เซลล์และอวัยวะได้รับเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอ ส่งผลให้มีอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย หายใจลำบาก ซีด ตัวเหลือง และส่งผลต่อการทำงานของสมอง หากรุนแรงอาจทำให้หัวใจล้มเหลว หมดสติ และเสียชีวิตได้ ภาวะโลหิตจางพบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังเนื่องจากไตสร้างฮอร์โมน erythropoietin (EPO) ซึ่งออกฤทธิ์กระตุ้นให้ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดแดงลดลง

Sotagliflozin เป็นยาในกลุ่ม sodium-glucose cotransporter 2 inhibitors (SGLT2 inhibitors) ซึ่งมีข้อมูลจากการศึกษาในขั้น preclinic ว่าสามารถเพิ่มระดับฮีโมโกลบินได้จากหลายกลไก เช่น ต้านการอักเสบ (anti-inflammation) กระตุ้นเส้นทางเมแทบอลิซึมแบบอดอาหาร (activating starvation pathways) ซึ่งช่วยส่งเสริมการดูดซึมธาตุเหล็กและการนำธาตุเหล็กสำรองมาใช้ รวมถึงสามารถกระตุ้นการสร้างฮอร์โมน erythropoietin โดยตรง ทำให้เชื่อว่านอกจากจะใช้สำหรับลดระดับน้ำตาลในผู้ป่วยเบาหวานและชะลอการเสื่อมของไตในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังแล้ว SGLT2 inhibitors อาจมีประโยชน์ต่อภาวะโลหิตจางในผู้ป่วยเบาหวานและไตเรื้อรังร่วมด้วยได้

จากการศึกษาชื่อ effects of sotagliflozin on anemia in patients with type 2 diabetes and chronic kidney disease stages 3 and 4 เกี่ยวกับประสิทธิภาพในการใช้ sotagliflozin ต่อระดับฮีโมโกลบินในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ร่วมกับโรคไตเรื้อรังระยะ 3 และ 4 ที่มีภาวะโลหิตจางและไม่มีภาวะโลหิตจาง ในกลุ่มผู้เข้าร่วมการศึกษาทั้งหมด 1,064 คน ระดับฮีโมโกลบินเฉลี่ยเริ่มต้นอยู่ที่ 12.7 g/dL พบว่า sotagliflozin ขนาด 200 และ 400 มก. เพิ่มระดับฮีโมโกลบินจากค่าเริ่มต้นจนถึงสัปดาห์ที่ 26 ได้ 0.39 g/dL (ช่วงความเชื่อมั่น 95% CI 0.21-0.56) และ 0.41 g/dL (95% CI 0.24-0.59) ตามลำดับ เมื่อเทียบกับยาหลอก (p<0.0001) โดยในผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิตจางเพิ่มฮีโมโกลบินเฉลี่ย 0.27 g/dL และในผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะโลหิตจางเพิ่มฮีโมโกลบินเฉลี่ย 0.50 g/dL อย่างไรก็ตามการศึกษานี้เป็นการวิเคราะห์แบบสำรวจย้อนหลัง (exploratory และ post hoc) ซึ่งระยะเวลาติดตามผลที่สั้นทำให้ไม่สามารถยืนยันได้ว่าการเปลี่ยนแปลงของฮีโมโกลบินจาก sotagliflozin จะมีผลระยะยาวหรือไม่ จึงควรมีการศึกษาเพิ่มเติมในการติดตามผลระยะยาวต่อไป

เอกสารอ้างอิง

1. Sridhar VS, Davies MJ, Banks P, Girard M, Carroll AK, Cherney DZI. Effects of sotagliflozin on anaemia in patients with type 2 diabetes and chronic kidney disease stages 3 and 4. Diabetes Obes Metab. 2024 Nov 20.

2. Tian Q, Guo K, Deng J, Zhong Y, Yang L. Effects of SGLT2 inhibitors on haematocrit and haemoglobin levels and the associated cardiorenal benefits in T2DM patients: A meta-analysis. J Cell Mol Med. 2022 Jan;26(2):540-7.

3. Packer M. Alleviation of Anemia by SGLT2 Inhibitors in Patients with CKD: Mechanisms and Results of Long-Term Placebo-Controlled Trials. Clin J Am Soc Nephrol. 2023 Oct 30;19(4):531-4.


คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
sotagliflozin ภาวะโลหิตจาง โรคไตเรื้อรัง โรคเบาหวาน
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.4 ยาอันตรายควบคุม (Controlled dangerous drugs)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้