หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Deferiprone: ยาจับธาตุเหล็กในการรักษาโรคอัลไซเมอร์

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน เมษายน ปี 2568 -- อ่านแล้ว 1,559 ครั้ง
 
อัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease; AD) เป็นโรคที่มีการเสื่อมถอยของระบบประสาท ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสะสมของเบต้า-อะไมลอยด์ (β-amyloid peptide; Aβ) และนิวโรไฟบริลาลีแทงเกิล (neurofibrillary tangles) จนทำลายระบบการขนส่งภายในเซลล์ทำให้เซลล์ประสาทตาย สูญเสียการสื่อสารระหว่างเซลล์ ส่งผลให้เกิดภาวะรู้คิดบกพร่อง (cognitive impairment) และภาวะสมองเสื่อม (dementia) การรักษาผู้ป่วยอัลไซเมอร์ในปัจจุบันจะใช้ยากลุ่ม cholinesterase inhibitors ได้แก่ donepezil, galantamine และ rivastigmine ซึ่งช่วยให้เซลล์ประสาททำงานได้มากขึ้น อีกทั้งยังมียากลุ่ม monoclonal antibodies ที่ช่วยลดการสะสมของ β-amyloid ได้แก่ lecanemab และ donanemab นอกจากพยาธิสภาพที่กล่าวข้างต้น ยังมีการศึกษาพบว่าผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์มีการสะสมของธาตุเหล็กบริเวณสมองส่วน cortical regions ซึ่งสัมพันธ์กับการเสื่อมของระบบประสาท (neurodegeneration) โดยสันนิษฐานว่าธาตุเหล็กกระตุ้นให้เกิด oxidative stress และ ferroptosis สำหรับ deferiprone เป็นยารับประทานกลุ่ม iron chelators ที่ใช้สำหรับรักษาภาวะเหล็กเกินในผู้ป่วยธาลัสซีเมีย (deferiprone สามารถผ่านเข้าสู่สมองได้ดีกว่า deferoxamine ซึ่งเป็นยากลุ่มเดียวกัน) และจากการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมก่อนหน้าพบว่าผู้ป่วยที่ได้รับ deferiprone ขนาด 20 mg/kg วันละครั้ง สามารถลดการสะสมของเหล็กและลดขนาดของหัวใจห้องล่างซ้าย อีกทั้งยังสามารถลดการสะสมของธาตุเหล็กที่บริเวณ substantia nigra และลดการดำเนินโรคในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน แต่อย่างไรก็ตามยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนเพื่อยืนยันผลของ deferiprone ในการรักษาโรคอัลไซเมอร์

ไม่นานมานี้มีการศึกษาแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมของผู้ป่วยอายุมากกว่า 54 ปี ที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ระดับรุนแรงน้อย จำนวน 81 คน โดยแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มที่ได้รับ deferiprone 15 mg/kg วันละ 2 ครั้ง 53 คน เทียบกับ 2) กลุ่มควบคุมซึ่งไม่ได้รับ deferiprone 28 คน ใช้ระยะเวลา 12 เดือน ผลการศึกษาพบว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม กลุ่มที่ใช้ deferiprone มีประสิทธิภาพในการเรียนรู้ จดจำ ตัดสินใจ และสมาธิ (cognitive performance) แย่ลงอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งยังพบว่าปริมาตรของสมองบริเวณ frontal regions ลดลง แต่ไม่พบความเปลี่ยนแปลงปริมาตรของสมองบริเวณ hippocampus แม้จะพบว่า deferiprone สามารถลดการสะสมของเหล็กใน hippocampus ได้อย่างมีนัยสำคัญ ด้านความปลอดภัยพบว่ากลุ่มที่ได้รับ deferiprone เกิดผลข้างเคียงที่ร้ายแรง (serious adverse events) ได้แก่ neutropenia 7.5% และ anemia 1.9% ต่างจากกลุ่มควบคุมซึ่งไม่พบอุบัติการณ์ดังกล่าว การศึกษานี้จึงสรุปได้ว่าการลดปริมาณธาตุเหล็กในสมองโดยใช้ deferiprone ด้วยขนาดยาข้างต้นไม่สามารถช่วยให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้นและเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งผลการศึกษานี้ขัดแย้งกับทฤษฎีการเกิดพยาธิสภาพจากการเพิ่มขึ้นของธาตุเหล็กในสมอง ผู้วิจัยจึงมีข้อสันนิษฐานว่าการเพิ่มขึ้นของธาตุเหล็กในสมองอาจเป็นกลไกป้องกันการเสื่อมของระบบประสาทในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ โดยการลดปริมาณธาตุเหล็กไม่ได้ส่งผลดีต่อการดำเนินโรค

เอกสารอ้างอิง

1. Ayton S, Barton D, Brew B, et al. Deferiprone in Alzheimer disease: a randomized clinical trial. JAMA Neurol. 2024. [e-publication ahead of print].

2. Ayton S, Wang Y, Diouf I, et al. Brain iron is associated with accelerated cognitive decline in people with Alzheimer pathology. Mol Psychiatry. 2020; 25(11):2932-2941.

3. Galanello R. Deferiprone in the treatment of transfusion-dependent thalassemia: a review and perspective. Ther Clin Risk Manag. 2007; 3(5):795-805.

4. Devos D, Moreau C, Devedjian JC, et al. Targeting chelatable iron as a therapeutic modality in Parkinson’s disease. Antioxid Redox Signal. 2014; 21(2):195-210.

5. Martin-Bastida A, Ward RJ, Newbould R, et al. Brain iron chelation by deferiprone in a phase 2 randomised double-blinded placebo controlled clinical trial in Parkinson’s disease. Sci Rep. 2017; 7(1):1398.

6. Devos D, Labreuche J, Rascol O, et al. Trial of deferiprone in Parkinson’s disease. N Engl J Med. 2022; 387(22):2045-2055.

7. Volloch V, Rits-Volloch S. Effect of lecanemab in early Alzheimer’s disease: mechanistic interpretation in the amyloid cascade hypothesis 2.0 perspective. J Alzheimers Dis. 2023; 93(4):1277-1284.


คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
โรคอัลไซเมอร์ deferiprone
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.1 ยาคุมฉุกเฉิน Emergency contraceptive pills

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้