หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Glucagon-like peptide-1 (GLP1) receptor agonists อาจลดการฆ่าตัวตายในวัยรุ่นที่เป็นโรคอ้วน

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือน มีนาคม ปี 2568 -- อ่านแล้ว 819 ครั้ง
 
โรคอ้วนตามคำนิยามขององค์การอนามัยโลกเกิดจากการสะสมของไขมันทุกส่วนในร่างกายที่มากเกินกว่าปกติ ปัจจุบันความชุกของโรคอ้วนในประชากรอายุ 5-19 ปี มากขึ้นถึง 8 เท่า เมื่อเทียบกับช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ผู้ที่เป็นโรคอ้วนเรื้อรังอาจเกิดโรคทางเมแทบอลิก และเพิ่มความเสี่ยงการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร รวมทั้งมีการศึกษาในวัยรุ่นอายุ 12-18 ปีที่เป็นโรคอ้วน พบว่าความเสี่ยงในการเกิดโรคซึมเศร้าและความคิดในการฆ่าตัวตายมากกว่าผู้ที่มีดัชนีมวลกายในเกณฑ์ปกติ โรคอ้วนสามารถรักษาได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการใช้ยา ซึ่งในปัจจุบันยากลุ่ม GLP-1 receptor agonists ได้แก่ liraglutide และ semaglutide เป็นที่นิยมอย่างมากสำหรับรักษาโรคอ้วนในวัยรุ่น

ไม่นานมานี้มีการศึกษาแบบสังเกตย้อนหลังถึงความเสี่ยงในการคิดฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตายของวัยรุ่นอายุ 12-18 ปี ที่เป็นโรคอ้วน 6,912 คน โดยแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มที่ใช้ GLP-1 receptor agonists (liraglutide หรือ semaglutide) เทียบกับ 2) กลุ่มควบคุมซึ่งไม่ได้รับ GLP-1 receptor agonists กลุ่มละ 3,456 คน ใช้ระยะเวลาศึกษา 12 เดือน ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มที่ใช้ GLP-1 receptor agonists มีความเสี่ยงในการคิดฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตายน้อยลงถึง 33% เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม นอกจากนี้ยังมีการศึกษาในกลุ่มย่อยพบว่าผู้ที่มีโรคเบาหวานร่วมด้วย และผู้ที่ไม่มีโรคเบาหวานร่วมด้วย มีความเสี่ยงในการคิดฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตายน้อยลง 34% และ 28% ตามลำดับ และพบว่าผู้ป่วยโรคอ้วนเพศหญิงมีความเสี่ยงในการคิดฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตายน้อยลง 37% ด้านความปลอดภัยพบว่าการใช้ GLP1-receptor agonists เพิ่มผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น อาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องผูก เป็นต้น แต่มีผลข้างเคียงในเรื่องตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันน้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม การศึกษานี้จึงสรุปได้ว่าการใช้ยากลุ่ม GLP1-receptor agonists ลดความเสี่ยงในการเกิดคิดฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตายได้ในผู้ป่วยวัยรุ่นที่เป็นโรคอ้วน

แม้จะดูเหมือนว่า GLP-1 receptor agonists ลดความเสี่ยงในการคิดฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตายในวัยรุ่น แต่การศึกษาเป็นเพียงการศึกษาแบบสังเกตย้อนหลัง จึงอาจมีอคติในการศึกษา รวมทั้งไม่มีการควบคุมปัจจัยกวนในเรื่องความร่วมมือในการใช้ยาของผู้ป่วยที่ทำการศึกษา จึงควรพิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้ยาทั้งด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยก่อนเลือกใช้ยา

เอกสารอ้างอิง

1. GLP-1 receptor agonists reduce suicidal behavior in adolescents with obesity [Internet].2024 [cited 2024 Oct 27]. Available from: https://www.medscape.com.

2. Kerem L, Stokar J. Risk of suicidal ideation or attempts in adolescents with obesity treated with glp1 receptor agonists. JAMA pediatrics. 2024. doi:10.1001/ jamapediatrics.2024.3812.

3. NCD Risk Factor Collaboration (NCD-RisC). Worldwide trends in body-mass index, underweight, overweight, and obesity from 1975 to 2016: a pooled analysis of 2416 population-based measurement studies in 128·9 million children, adolescents, and adults. Lancet. 2017; 390(10113):2627-2642. doi:10.1016/S0140-6736(17)32129-3.

4. Quek YH, Tam WWS, Zhang MWB, Ho RCM. Exploring the association between childhood and adolescent obesity and depression: a meta-analysis. Obes Rev. 2017; 18(7):742-754. doi:10.1111/obr.12535.

5. Iwatate E, Atem FD, Jones EC, Hughes JL, Yokoo T, Messiah SE. Trends in the relationship between suicide behaviors and obesity among adolescents in the United States from 1999 to 2019. Eur Child Adolesc Psychiatry. 2024; 33(3):725-737. doi:10.1007/s00787-023-02191-y.

6. American Diabetes Association Professional Practice Committee. 14. Children and Adolescents: Standards of Care in Diabetes-2024. Diabetes Care. 2024;47(Suppl 1):S258-S281. doi:10.2337/dc24-S014.

7. สถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. แนวเวชปฏิบัติในการป้องกันและดูแลรักษาโรคอ้วน. กรุงเทพฯ. ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด. 2553.

8. Uptodate. Colchicine [Internet].2024 [cited 2024 Oct 30]. Available from: https://www.uptodate.com.


คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
โรคอ้วน ฆ่าตัวตาย GLP1 receptor agonists semaglutide liraglutide
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.3 ยาชุด Non-prescribed polypharmacy

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้