โรคตับคั่งไขมัน (metabolic dysfunction-associated steatotic liver disease หรือ MASLD) คือ ภาวะที่ตับมีการสะสมของไขมัน ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารประเภทไขมันมาก หรือภาวะของโรคทางเมแทบอลิกที่ควบคุมไม่ได้ เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง จนทำให้การทำงานของตับลดลง ส่งผลให้กระบวนการเผาผลาญสารอาหารในร่างกายผิดปกติจนอาจนำไปสู่การเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ อีกทั้ง MASLD ยังก่อให้เกิดการอักเสบภายในตับ ซึ่งอาจนำไปสู่โรคตับแข็งและโรคมะเร็งตับตามมาได้ สำหรับแนวทางการรักษาโรค MASLD แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1) การรักษาโดยไม่ใช้ยา ได้แก่ การออกกำลังกาย ลดน้ำหนัก และรับประทานอาหารจำพวกผัก ผลไม้ และ 2) การรักษาด้วยยา ซึ่งยาที่ใช้จะเป็นยาสำหรับรักษาโรคร่วมของผู้ป่วย เช่น ใช้ยาเบาหวานกลุ่มต่าง ๆ ในผู้ป่วยเบาหวาน ใช้ statins ในผู้ป่วยโรคไขมันในเลือดสูง และใช้ยาควบคุมน้ำหนักในผู้ป่วยโรคอ้วน โดยยาข้างต้นจะให้ประโยชน์เพื่อควบคุมภาวะของโรคนั้น ๆ แต่ไม่มีข้อบ่งใช้ต่อการรักษา MASLD โดยตรง
สำหรับยาในกลุ่ม Sodium-Glucose Transport Protein 2 (SGLT2) Inhibitors หรือ SGLT2-i มีกลไกการออกฤทธิ์บางประการที่ส่งผลดีต่อการทำงานของตับ เนื่องจากพบว่าเซลล์ตับที่มีการอักเสบจะมี SGLT2 transporter อยู่มาก การใช้ยากลุ่ม SGLT2-i เช่น empagliflozin จึงมีผลลดกระบวนการสร้างไขมัน (lipogenesis) และสารอักเสบ (hepatic inflammation) ลดการทำลายเซลล์ (apoptosis) และเพิ่มการสลายไขมันผ่านกระบวนการ hepatic beta-oxidation ทำให้ยาในกลุ่ม SGLT2-i นอกจากจะใช้สำหรับลดระดับน้ำตาลในผู้ป่วยเบาหวานและลดหรือชะลอการเกิดภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะโรคหัวใจและหลอดเลือด ยังอาจนำมาใช้ในรักษาภาวะไขมันพอกตับในผู้ที่ไม่มีโรคเบาหวานร่วมด้วยได้
จากการศึกษา Effects of empagliflozin on liver fat in patients with MASLD without diabetes mellitus ซึ่งเป็นการศึกษารูปแบบ randomized controlled trial เกี่ยวกับประสิทธิภาพในการใช้ empagliflozin ขนาด 10 mg รับประทานวันละหนึ่งครั้งเปรียบเทียบกับยาหลอกในผู้ป่วยโรค MASLD ที่ได้รับการวินิจฉัยโรคด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและไม่เป็นโรคเบาหวาน (HbA1C <7%) จำนวน 98 คน ผลพบว่าที่ 52 สัปดาห์ ผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับยามีการลดลงของไขมันที่ตับมากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับยาอย่างมีนัยสำคัญ (-2.49% vs. -1.43%; p=0.025) และพบว่ามีสัดส่วนของผู้ป่วยที่มีการตอบสนองของโรค MASLD (resolution of hepatic steatosis) ในกลุ่มที่ได้รับยามากกว่ายาหลอกแม้จะไม่มีความแตกต่างทางนัยสำคัญทางสถิติ เช่น มีไขมันที่ตับน้อยกว่า 5% (44.9% vs. 28.6%; p=0.094) การลดลงของค่าเอนไซม์ตับ alanine aminotransferase ≥17 U/L (16.3% vs. 12.2%; p=0.564) และไขมันที่ตับลดลงอย่างน้อย 30% (49.0% vs. 40.8%; p=0.417) อย่างไรก็ตามผลลัพธ์ที่ได้อาจยังไม่สามารถสรุปว่า empagliflozin สามารถลดการดำเนินไปของโรค MASLD ได้หรือไม่ เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างในการศึกษานี้มีจำนวนน้อย และไม่สามารถเป็นตัวแทนประชากรของโรคได้ จึงควรมีการศึกษาเพิ่มเติมในกลุ่มตัวอย่างที่มากและหลากหลายขึ้นเพื่อยืนยันข้อสรุปต่อไป
เอกสารอ้างอิง
1. Christina Lau. Empagliflozin reduces hepatic fat content in nondiabetic MASLD patients. [Internet]. 2024 [cited 2024 Sep 3]. Available from: https://www.mims.com/specialty/ topic/empagliflozin-reduces-hepatic-fat-content-in-nondiabetic-masld-patients.
2. Cusi K, Isaacs S, Barb D, Basu R, Caprio S, Garvey WT, Kashyap S, Mechanick JI, Mouzaki M, Nadolsky K, Rinella ME. American Association of Clinical Endocrinology clinical practice guideline for the diagnosis and management of nonalcoholic fatty liver disease in primary care and endocrinology clinical settings: co-sponsored by the American Association for the Study of Liver Diseases (AASLD). Endocrine Practice. 2022; 28(5):528-62.
3. Chan WK, Chuah KH, Rajaram RB, Lim LL, Ratnasingam J, Vethakkan SR. Metabolic dysfunction-associated steatotic liver disease (MASLD): a state-of-the-art review. Journal of Obesity & Metabolic Syndrome. 2023; 32(3):197.
4. Androutsakos T, Nasiri-Ansari N, Bakasis AD, Kyrou I, Efstathopoulos E, Randeva HS, Kassi E. SGLT-2 inhibitors in NAFLD: expanding their role beyond diabetes and cardioprotection. International journal of molecular sciences. 2022 Mar 13; 23(6):3107.
5. Cheung KS, Ng HY, Hui RW, Lam LK, Mak LY, Ho YC, Tan JT, Chan EW, Seto WK, Yuen MF, Leung WK. Effects of empagliflozin on liver fat in metabolic-dysfunction associated steatotic liver disease patients without diabetes mellitus: A randomized, double-blind, placebo-controlled trial. Hepatology. 2024:10-97.
คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
Empaglifozin
โรคตับคั่งไขมัน
โรคอ้วน
ไขมันในเลือดสูง