หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

การหยุด beta-blockers ในผู้ป่วยที่เคยเกิด MI อาจกลายเป็นผลเสีย?

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน ธันวาคม ปี 2567 -- อ่านแล้ว 378 ครั้ง
 
ผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (acute myocardial infarction; AMI) มักได้รับยากลุ่ม beta-blockers ซึ่งออกฤทธิ์ปิดกั้นการทำงานของ beta-1 receptor ทำให้ลดการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ลดอัตราการเต้นของหัวใจ และลดความดันโลหิต ส่งผลให้สามารถลดปริมาณออกซิเจนที่เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจต้องการ (myocardial oxygen demand) อีกทั้งยังเพิ่มปริมาณออกซิเจนที่ไปเลี้ยงเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ (myocardial oxygen supply) โดยเพิ่มการไหลเวียนของหลอดเลือดหัวใจขณะหัวใจคลายตัว (coronary diastolic perfusion) นอกจากนี้ยังสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะหลังจากเกิด AMI ได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน ผลการศึกษาทางคลินิกที่แสดงถึงประโยชน์อย่างแท้จริงของการใช้ยากลุ่ม beta-blockers ในผู้ป่วย AMI ยังไม่สอดคล้องกัน เนื่องจากบางการศึกษาไม่มีความชัดเจนถึงผลกระทบต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดโดยภาพรวมจากการใช้ยาในระยะยาว รวมถึงประโยชน์ของการใช้ในผู้ป่วย AMI กลุ่มที่มีค่าการบีบตัวของหัวใจห้องล่างซ้ายมากกว่า 40% (left ventricular ejection fraction; LVEF >40%)

ล่าสุดได้มีการศึกษาแบบ multi-center, open label, randomized, noninferiority study ในประเทศฝรั่งเศส เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการหยุดใช้ยากลุ่ม beta-blockers ในผู้ป่วยหลังเกิด AMI ว่าสามารถลดการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้หรือไม่ โดยศึกษาเฉพาะในผู้ป่วยที่เคยเกิด AMI มามากกว่า 6 เดือน มี LVEF >40% และได้รับยากลุ่ม beta-blockers ในการรักษาระยะยาวมาก่อน (ABYSS trial) ซึ่งผู้ป่วยประมาณ 3,700 คน ถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่มในอัตราส่วน 1:1 ได้แก่ กลุ่มที่ใช้ beta-blockers ต่อเนื่องและกลุ่มที่หยุดใช้ beta-blockers โดยผลการศึกษาหลัก คือ จำนวนสะสมของเหตุการณ์การเสียชีวิต การเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย โรคหลอดเลือดสมอง หรือการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องมาจากโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยติดตามผลเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี ซึ่งพบว่าผลเหล่านี้เกิดขึ้นในกลุ่มที่ใช้ beta-blockers ต่อเนื่อง จำนวน 384 คน จาก 1,821 คน (ร้อยละ 21.1) และเกิดในกลุ่มที่หยุดใช้ beta-blockers จำนวน 432 คน จาก 1,812 คน (ร้อยละ 23.8) ซึ่งแปลผลได้ว่าการหยุดใช้ beta-blockers เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุการณ์จากโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่าการใช้ยาต่อเนื่อง 1.16 เท่า [HR 1.16, 95% CI 1.01-1.33; p=0.44 for noninferiority] ส่วนผลการศึกษารอง คือ การเปลี่ยนแปลงของคะแนนแบบสอบถามคุณภาพชีวิต พบว่าการหยุดใช้ยาไม่ได้เพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วย MI กลุ่มดังกล่าวอีกด้วย ดังนั้นผลจากการศึกษานี้จึงขัดแย้งกับแนวทางการรักษาของ AHA/ACC/ACCP/AASPC/NLA/PCNA Guideline for the Management of Patient With Chronic Coronary Disease เมื่อปี 2023 ที่แนะนำให้หยุดใช้ยากลุ่ม beta-blockers ในโรค MI เนื่องจากมองว่าไม่พบประโยชน์จากการใช้ยากลุ่มดังกล่าวเกิน 1 ปี หลังจากเกิดภาวะ AMI ในผู้ป่วย

เอกสารอ้างอิง

1. Silvain J, Cayla G, Ferrari E, et al. Beta-Blocker Interruption or Continuation after Myocardial Infarction. N Engl J Med. Published online August 30, 2024.

2. Joo SJ. Beta-blocker therapy in patients with acute myocardial infarction: not all patients need it. Acute Crit Care. 2023; 38(3):251-260.

3. Zeitouni M, Kerneis M, Lattuca B, Guedeney P, Cayla G, Collet JP, Montalescot G, Silvain J. Do Patients need Lifelong β-Blockers after an Uncomplicated Myocardial Infarction? Am J Cardiovasc Drugs. 2019; 19(5):431-438.

4. ดวงกมล พูลพันธ์, ปัทมวรรณ โกสุมา, กมลพรรณ อินทร์น้อย, วโรชา จาอินทร์. การศึกษาการใช้ยากลุ่ม beta-blockers ในระยะยาวต่ออัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันที่ไม่มีการบีบตัวของหัวใจห้องล่างซ้ายลดลงในจังหวัดพิษณุโลก. วารสารเภสัชศาสตร์อีสาน 2563; 4:1-10.

5. Virani SS, Newby LK, Arnold SV, et al. 2023 AHA/ACC/ACCP/ASPC/NLA/PCNA Guideline for the Management of Patients with Chronic Coronary Disease: A Report of the American Heart Association/American College of Cardiology Joint Committee on Clinical Practice Guidelines. Circulation 2023; 148(9):e9-e119.


คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
acute myocardial infarction โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน beta-blockers หยุดใช้ยา ใช้ต่อ
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.5 น้ำตาลตกจากยาเบาหวาน (Hypoglycemia from anti-diabetics)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้