หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Elinzanetant: Neurokinin inhibitors ชนิดที่สองสำหรับลด vasomotor symptoms

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือน ธันวาคม ปี 2567 -- อ่านแล้ว 201 ครั้ง
 
วัยหมดประจำเดือน (menopause) เป็นวัยที่มีการผลิตฮอร์โมนเพศลดลงจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย โดย 60-80% ของผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนมักแสดงอาการในกลุ่ม vasomotor symptoms (VMS) ได้แก่ ร้อนวูบวาบ วิงเวียน เหงื่อออกมากตอนกลางคืน นอนไม่หลับ เป็นต้น อาการเหล่านี้อาจรบกวนจนมีผลต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพระยะยาว ยาที่นิยมใช้รักษา VMS ได้แก่ ยากลุ่ม hormone replacement therapy อย่างไรก็ตามบางรายอาจไม่เหมาะที่จะใช้ฮอร์โมนเหล่านี้ ในปัจจุบัน fezolinetant จัดเป็นยาที่ไม่ใช่ฮอร์โมนชนิดแรกที่ได้รับข้อบ่งใช้จาก USFDA สำหรับรักษา VMS ระดับปานกลางถึงรุนแรง โดย fezolinenant ออกฤทธิ์ยับยั้ง neurokinin (NK)-3 receptor ที่กระตุ้นให้ kisspeptin/neurokinin/dynorphin (KNDy) neuron บริเวณสมองส่วน hypothalamus ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิร่างกายทำงาน ซึ่งในวัยหมดประจำเดือนที่ฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงพบว่า KNDy neuron มีการขยายขนาดและทำงานมากขึ้น ส่งผลให้การควบคุมอุณหภูมิร่างกายผิดปกติจนเกิดอาการร้อนวูบวาบ การยับยั้ง NK-3 receptor จึงทำให้ KNDy neuron ทำงานน้อยลงและสามารถรักษาอาการร้อนวูบวาบในวัยหมดประจำเดือนได้ นอกจากนี้การศึกษาในระยะหลังยังพบว่าบริเวณ KNDy neuron มี NK-1 receptor ซึ่งหากถูกกระตุ้นด้วย substance P จะทำให้เกิดผลต่าง ๆ ได้แก่ การขยายหลอดเลือด การส่งสัญญาณความเจ็บปวด ภาวะซึมเศร้า นอนไม่หลับ ทำให้มีการพัฒนายาชนิดใหม่ที่ชื่อ elinzanetant ที่ยับยั้งทั้ง NK-1 และ NK-3 receptor ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถลดอาการร้อนวูบวาบและอาการนอนไม่หลับในวัยหมดประจำเดือนได้

จากการศึกษาแบบ double-blind, randomized, placebo-controlled phase 3 (OASIS 1 และ 2) ในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนอายุ 40-65 ปี ที่มี VMS ในระดับปานกลางถึงรุนแรงจำนวน 796 คน โดยสุ่มเข้ากลุ่มที่ได้รับ elinzanetant 120 mg วันละ 1 ครั้ง จำนวน 399 คน (OASIS 1: 199 คน, OASIS 2: 200 คน) และกลุ่มที่ได้รับ placebo จำนวน 397 คน (OASIS 1: 197 คน, OASIS 2: 200 คน) ผลการศึกษาเมื่อเปรียบเทียบกับ placebo พบว่า elinzanetant สามารถลดความถี่ของการเกิด VMS ได้มากกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (สัปดาห์ที่ 4: OASIS 1: -3.3 (95%CI=-4.5 to -2.1), OASIS 2: -3.0 (-4.4 to -1.7); สัปดาห์ที่ 12: OASIS 1: -3.2 (-4.8 to -1.6), OASIS 2: -3.2 (-4.6 to -1.9) และสามารถลดความรุนแรงของ VMS ได้มากกว่า (สัปดาห์ที่ 4: OASIS 1: -0.3 (-0.4 to -0.2), OASIS 2: -0.2 (-0.3 to -0.1); สัปดาห์ที่ 12: OASIS 1: -0.4 (-0.5 to -0.3), OASIS 2: -0.3 (-0.4 to -0.1) นอกจากนี้ในสัปดาห์ที่ 12 พบว่ากลุ่มที่ได้รับ elinzanetant มีปัญหาการนอนไม่หลับน้อยกว่า โดยวัดจาก patient-reported outcomes measurement information system sleep disturbance short form (PROMIS SD SF) 8b total T score (OASIS 1: -5.6 (-7.2 to -4.0), OASIS 2: -4.3 (-5.8 to -2.9) และมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น โดยวัดจาก menopause-specific quality of life (MENQOL) questionnaire total score (OASIS 1: -0.4 (-0.6 to -0.2), OASIS 2: -0.3 (-0.5 to -0.1) โดยผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรงซึ่งอาจเกิดขึ้นจากยา ได้แก่ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย การศึกษานี้ทำให้เห็นว่า elinzanetant อาจมีประสิทธิภาพในการรักษา VMS ในระดับปานกลางถึงรุนแรง รวมถึงช่วยลดปัญหานอนไม่หลับในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนได้

เอกสารอ้างอิง

1. McGlade L. Elinzanetant Reduces Menopausal Symptoms [Internet]. 2024 [cited 2024 August 24]. Available from: https://www.medscape.com/viewarticle/elinzanetant-reduces-menopausal-symptoms-2024a1000fcd.

2. Pinkerton JV, Simon JA, Joffe H, Maki PM, Nappi RE, Panay N, et al. Elinzanetant for the Treatment of Vasomotor Symptoms Associated with Menopause: OASIS 1 and 2 Randomized Clinical Trials. JAMA. 2024.

3. Thurston RC, Joffe H. Vasomotor symptoms and menopause: findings from the Study of Women’s Health across the Nation. Obstet Gynecol Clin North Am. 2011; 38(3):489-501.

4. Garcia-Recio S, Gascón P. Biological and Pharmacological Aspects of the NK1-Receptor. Biomed Res Int. 2015; 2015:495704.


คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
คำสำคัญ: elinzanetant vasomotor symptoms วัยหมดประจำเดือน ร้อนวูบวาบ นอนไม่หลับ
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.4 ยาอันตรายควบคุม (Controlled dangerous drugs)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้