Edoxaban 30 mg อาจมีประสิทธิภาพเทียบเคียงกับ 60 mg ในผู้ป่วย atrial fibrillation
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือน พฤศจิกายน ปี 2567 -- อ่านแล้ว 662 ครั้ง
ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (anticoagulant) ซึ่งใช้เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (atrial fibrillation) มีผลข้างเคียงที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ การเกิดภาวะเลือดออก โดยเฉพาะในผู้สูงอายุซึ่งเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูง บางครั้งจึงมีการพิจารณาลดขนาดยา anticoagulant จากขนาดยาที่แนะนำ หรืออาจหลีกเลี่ยงการใช้ anticoagulant ในผู้สูงอายุ แต่การลดขนาดยาก็อาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน สำหรับ edoxaban เป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือดกลุ่ม non-vitamin K antagonist ที่แนะนำสำหรับใช้ใน atrial fibrillation ด้วยขนาด 60 mg วันละ 1 ครั้ง และมีเกณฑ์ปรับลดขนาดยาเป็น 30 mg วันละ 1 ครั้ง ในผู้ป่วยที่มี creatinine clearance (CrCl) 15-50 mL/min ผู้ป่วยที่มีน้ำหนักน้อยกว่าหรือเท่ากับ 60 กิโลกรัม หรือผู้ที่ได้รับยาที่มีคุณสมบัติเป็น P-gp inhibitors ร่วมด้วย
จากการศึกษา Post Hoc Analysis of the ENGAGE AF-TIMI 48 (Effective Anticoagulation With Factor Xa Next Generation in Atrial Fibrillation–Thrombolysis in Myocardial Infarction 48) randomized clinical trial ซึ่งเป็นการศึกษาแบบ parallel-design, double-blind ในผู้ป่วย atrial fibrillation อายุ 80 ปีขึ้นไปที่มี CHADS2 score (คะแนนความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) ยิ่ง ค่ามากยิ่งเสี่ยงมาก) 2 ที่ไม่เข้าเกณฑ์ของการปรับลดขนาดยา edoxaban จำนวน 1,138 คน โดยสุ่มเข้ากลุ่มที่ได้รับ edoxaban 30 mg/day จำนวน 578 คน และกลุ่มที่ได้รับ edoxaban 60 mg/day จำนวน 560 คน ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มที่ได้รับ edoxaban 60 mg/day เกิดภาวะเลือดออกชนิดรุนแรง (major bleeding) มากกว่ากลุ่มที่ได้รับ edoxaban 30 mg/day (hazard ratio 1.57, 95%CI, 1.04-2.38; P=0.03) และเกิดภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร (major gastrointestinal bleeding) มากกว่า edoxaban 30 mg/day (hazard ratio 2.24, 95%CI, 1.29-3.90; P=0.004) โดยอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ภาวะลิ่มเลือดหลุดลอยไปอุดตันหลอดเลือด (systemic embolism) และการเสียชีวิตของทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้ยังได้ทำการศึกษาโดยไม่คำนึงถึงเกณฑ์การปรับลดขนาดยาในผู้ป่วยจำนวน 2,406 คน โดยมีกลุ่มที่ได้รับ edoxaban 30 mg/day จำนวน 1,201 คน และกลุ่มที่ได้รับ warfarin จำนวน 1,205 คน พบว่ากลุ่มที่ได้รับ edoxaban 30 mg/day เกิด major bleeding น้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับ warfarin (hazard ratio 0.59, 95%CI, 0.45-0.77; P0.001) และมีอัตราการเสียชีวิตน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับ warfarin (hazard ratio 0.83, 95%CI, 0.70-1.00; P=0.046) โดยอัตราการเกิด major gastrointestinal bleeding, stroke และ systemic embolism ของทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ข้อมูลจากการศึกษานี้ แสดงให้เห็นว่า edoxaban 30 mg/day อาจมีประสิทธิภาพเทียบเคียงกับ edoxaban 60 mg/day ในผู้ป่วย atrial fibrillation ที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป โดยที่มีความปลอดภัยไม่ต่างกัน
เอกสารอ้างอิง
1. Gillespie L. Lower Edoxaban Dose Cuts Bleeding Risk in Elderly Atrial Fibrillation Patients [Internet]. 2024 [cited 2024 August 2]. Available from: https://www. medscape.com/viewarticle/lower-edoxaban-dose-cuts-bleeding-risk-elderly-atrial-2024a1000ctj.
2. Zimerman A, Braunwald E, Steffel J, Van Mieghem NM, Palazzolo MG, Murphy SA, et al. Dose Reduction of Edoxaban in Patients 80 Years and Older with Atrial Fibrillation: Post Hoc Analysis of the ENGAGE AF-TIMI 48 Randomized Clinical Trial. JAMA Cardiol. 2024.
3. United Kingdom (Great Britain). Package leaflet: lixiana [Internet]. 2023 [cited 2024 August 2]. Available from: https://www.medicines.org.uk/emc/files/pil.6905.pdf.
4. Health products regulatory authority. LIXIANA® (edoxaban) [Internet]. 2015 [cited 2024 August 2]. Available from: https://www.hpra.ie/docs/default-source/3rd-party-documents/educational-materials/lixiana_hcp_prescriber-guide_v1-09-15.pdf?Sfvrsn=2.
คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
edoxaban
atrial fibrillation
ผู้สูงอายุ
ภาวะเลือดออก