Deuruxolitinib: JAK inhibitors ใหม่สำหรับรักษาโรคผมร่วงเป็นหย่อม
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือน ตุลาคม ปี 2567 -- อ่านแล้ว 749 ครั้ง
โรคผมร่วงเป็นหย่อม (alopecia areata) เป็นโรคผมร่วงที่ยังไม่ทราบสาเหตุชัดเจน แต่เชื่อว่าอาจเกิดจากภาวะแพ้ภูมิตัวเอง (autoimmune disorder) ความเครียดรุนแรง และสิ่งแวดล้อม ทำให้มีการทำลายเซลล์รากผม เกิดเป็นภาวะผมร่วงในลักษณะแหว่งเป็นวงกลมบางบริเวณ รวมทั้งสามารถเกิดกับขนบริเวณอื่น ๆ ของร่างกายได้เช่นกัน โดยกลไกการเกิดภาวะผมร่วง ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่คาดว่าเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันซึ่งทำลายเนื้อเยื่อภายในร่างกายของตัวเองจนเกิดการอักเสบ (inflammation) และทำลายเซลล์รากผม จึงทำให้ผมร่วงและไม่เกิดการงอกใหม่ การรักษาโรคผมร่วงเป็นหย่อมสามารถรักษาด้วยยาหลากหลายชนิด หนึ่งในนั้นคือยากลุ่ม JAK inhibitors โดยกลไกการออกฤทธิ์ของยานี้เกิดขึ้นผ่านการยับยั้งเอนไซม์ JAK1, JAK2, JAK3 และ TYK2 ซึ่งเป็นโปรตีนที่ทำหน้าที่กระตุ้นโปรตีนอีกชนิดหนึ่งที่ชื่อ signal transducers and activators of transcription (STAT) เรียกรวมกลุ่มโปรตีนที่มีบทบาทในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันและการอักเสบนี้ว่า JAK-STAT pathway ดังนั้น JAK inhibitors จึงส่งผลลดการทำงานของภูมิคุ้มกันที่มากเกินไป โดยเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (USFDA) ได้รับรองยากลุ่ม JAK inhibitors รูปแบบยารับประทานชนิดที่ 3 คือ deuruxolitinib ในข้อบ่งใช้สำหรับรักษาโรคผมร่วงเป็นหย่อมในผู้ใหญ่ เพิ่มเติมจากที่มีอยู่แล้ว 2 ชนิดคือ baricitinib และ ritlecitinib ซึ่ง deuruxolitinib ออกฤทธิ์เป็น JAK inhibitors ผ่านการยับยั้งอย่างจำเพาะที่เอนไซม์ JAK1 และ JAK2
ผลการศึกษาประสิทธิภาพในทางคลินิกของยา deuruxolitinib ใน phase 3 รูปแบบ randomized controlled THRIVE-AA1 and THRIVE-AA2 trials ซึ่งเผยแพร่ใน 2024 American Academy of Dermatology Annual Meeting เกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้ deuruxolitinib ขนาด 8 และ 12 mg รับประทานวันละ 2 ครั้ง เปรียบเทียบกับยาหลอก ในผู้ป่วย alopecia areata จำนวน 1,120 คน ที่มีอายุตั้งแต่ 18-65 ปี ที่มีภาวะของผมร่วงรุนแรง (ค่าเฉลี่ย Severity of Alopecia Tool (SALT) มากกว่า 50 คะแนน) ผลพบว่าที่ 8 สัปดาห์ สัดส่วนของกลุ่มที่ได้รับยามีระดับความรุนแรงของโรคลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางคลินิก (SALT ลดลงจนมีค่าน้อยกว่า 20 คะแนน) และเมื่อใช้ยาต่อเนื่องไปจน 12 และ 24 สัปดาห์ พบว่ามีสัดส่วนของจำนวนผู้ที่มีอาการทางคลินิกดีขึ้นเพิ่มขึ้น สำหรับอาการไม่พึงประสงค์พบค่อนข้างน้อยและไม่รุนแรง อย่างไรก็ตามยังไม่มีข้อมูลประสิทธิภาพและความปลอดภัยในระยะยาว เนื่องจากการศึกษานี้ศึกษาเพียง 8-24 สัปดาห์ และติดตามผลต่อไปอีกเพียง 4 สัปดาห์
เอกสารอ้างอิง
1. Ludmann P. MS. HAIR LOSS TYPES: ALOPECIA AREATA CAUSES. American Acedemy of Dermatology Association [Internet]. 2023 [cited 2024 Aug 5]. Available from: https://www.aad.org/public/diseases/hair-loss/types/alopecia/causes.
2. Brunk D. FDA Approves JAK Inhibitor Deuruxolitinib for Alopecia Areata [Internet]. 2024 [cited 2024 August 2]. Available from: https://www.medscape.com/viewarticle/fda-approves-jak-inhibitor-deuruxolitinib-alopecia-areata-2024a1000dsz?form=fpf.
3. Sardana K, Bathula S, Khurana A. Which is the Ideal JAK Inhibitor for Alopecia Areata–Baricitinib, Tofacitinib, Ritlecitinib or Ifidancitinib-Revisiting the Immunomechanisms of the JAK Pathway. Indian Dermatol. Online J. 2023; 14(4):465-74.
4. Santoro C. Deuruxolitinib Demonstrates Efficacy, Tolerability in Patients with Moderate to Severe AA. [Internet].2024.[cited 2024 August 2]. Available from: https://www.ajmc.com/ view/deuruxolitinib-demonstrates-efficacy-tolerability-in-patients-with-moderate-to-severe-aa.
5. Senna MM, King B, Mesinkovska AN, Mostaghimi A, Hamilton C, Cassella J. Efficacy of the oral JAK1/JAK2 inhibitor deuruxolitinib in adult patients with moderate to severe alopecia areata: pooled results from the multinational double-blind, placebo-controlled THRIVE-AA1 and THIVE-AA2 phase 3 trials [Internet]. 2023 [cited 2024 August 2]. Available from: https://www.dermrefoundation.org/uploads/1/2/6/2/126228942/ind_sun2.pdf.
6. King B, Senna MM, Mesinkovska AN, Mostaghimi A, Hamilton C, Cassella J. Pooled safety assessments from the multinational phase 3 THRIVE-AA1 and THRIVE-AA2 trials of deuruxolitinib in adult patients with moderate to severe alopecia areata. [Internet]. 2023 [cited 2024 August 2]. Available from: https://www.dermrefoundation.org/uploads/ 1/2/6/2/126228942/ind_sun1.pdf.
คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
deuruxolitinib
alopecia areata
โรคผมร่วงเป็นหย่อม
JAK inhibitors