Lenacapavir…ทางเลือกใหม่ของยา PrEP
ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน ตุลาคม ปี 2567 -- อ่านแล้ว 909 ครั้ง
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 ที่องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (USFDA) ได้อนุมัติการใช้ยาเพร็พ (PrEP: Pre-exposure prophylaxis) เป็นครั้งแรกสำหรับการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ในคนที่มีความเสี่ยงสูงต่อการสัมผัสเชื้อ โดยยาสูตรแรกที่ได้รับการรับรอง คือ tenofovir disoproxil fumarate (TDF) ร่วมกับ emtricitabine (FTC) ในชื่อการค้า Truvada® นับแต่นั้นมายาเพร็พได้ถูกนำไปใช้ในหลายประเทศทั่วโลก โดยประสิทธิภาพของยาเพร็พสามารถลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีจากเพศสัมพันธ์ได้สูงถึง 99% และความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีจากเข็มฉีดยาได้มากกว่า 74% โดยในปัจจุบันมีความพยายามที่จะพัฒนายาเพร็พรูปแบบใหม่ที่ออกฤทธิ์ยาวนานเพื่อเพิ่มความร่วมมือการใช้ยาและลดภาระจากการรับประทานยาในแต่ละวัน ซึ่งยาเพร็พชนิดฉีดที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาแล้ว ได้แก่ cabotegravir ในชื่อการค้า Apretude® ที่ต้องฉีดผ่านทางกล้ามเนื้อ (IM) ทุก ๆ 2 เดือน
ปัจจุบันได้มีความพยายามในการพัฒนายาเพร็พชนิดใหม่เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้ยามากขึ้น โดย lenacapavir เป็นยากลุ่มใหม่ชนิดแรกที่มีกลไกการออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างแคปซิด (capsid inhibitors) ซึ่งเป็นโปรตีนที่ทำหน้าที่เป็นเปลือกคอยปกป้องจีโนมของเชื้อไวรัส โดยยาอยู่ในรูปแบบฉีดใต้ผิวหนัง (subcutaneous injection) และมีการออกฤทธิ์ยาว สามารถฉีดเพียงปีละ 2 ครั้งเท่านั้น เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ. 2024 มีงานวิจัยทางคลินิกในระยะที่ 3 แบบสุ่ม ปกปิดสองทางที่ตีพิมพ์ใน New England Journal Medicine เกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยของ lenacapavir ที่วิจัยในประชากรเพศหญิงแต่กำเนิด (cisgender women) จำนวน 5,338 คน ในประเทศแอฟริกาใต้ และยูกันดา โดยผู้เข้าร่วมวิจัยแบ่งออกเป็นกลุ่มในอัตราส่วน 2:2:1 ได้แก่ กลุ่มที่ได้รับ lenacapavir ฉีดทุก 26 สัปดาห์ กลุ่มที่ได้รับ emtricitabine-tenofovir alafenamide (FTC/TAF) หรือ emtricitabine-tenofovir disoproxil fumarate (FTC/TDF) รับประทานทุกวัน ตามลำดับ ซึ่งจากผลการวิจัยช่วงระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม ค.ศ. 2021 ถึง 30 สิงหาคม ค.ศ. 2023 พบว่ากลุ่มที่ได้รับ lenacapavir ไม่พบการติดเชื้อเอชไอวี (0 per 100 person-years; 95% CI, 0.00 to 0.19) ส่วนกลุ่มที่ได้รับยา FTC/TAF และ FTC/TDF พบการติดเชื้อเอชไอวี 39 คน (2.02 per 100 person-years; 95% CI, 1.44 to 2.76) และ 16 คน (1.69 per 100 person-years; 95% CI, 0.96 to 2.74) ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่ายาฉีด lenacapavir มีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้ 100% อีกทั้งข้อมูลความปลอดภัยของยายังให้ผลไปในทางที่ดี มีเพียงอาการบวมแดงบริเวณที่ฉีดยา (injection site reaction) ที่เป็นเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่พบได้บ่อยซึ่งส่งผลให้ผู้เข้าร่วมงานวิจัย 4 ราย (0.2%) ต้องยุติการใช้ยาก่อนงานวิจัยเสร็จสิ้น
เอกสารอ้างอิง
1. Rosas Cancio-Suárez M, Díaz-Álvarez J, Ron R, Martínez-Sanz J, Serrano‐Villar S, Moreno S, et al. From Innovation to Implementation: The Evolution of HIV Pre-Exposure Prophylaxis and Future Implications. Pathogens. 2023 Jul 9; 12(7):924.
2. Center for Disease Control and Prevention. Pre-Exposure Prophylaxis (PrEP) [Internet]. 2022 [cited 2024 Aug 3]. Available from: https://www.cdc.gov/hiv/risk/prep/index.html.
3. National Institutes of Health. Pre-Exposure Prophylaxis (PrEP) [Internet]. 2023 [cited 2024 Aug 1]. Available from: https://hivinfo.nih.gov/understanding-hiv/fact-sheets/pre-exposure-prophylaxis-prep#:~:text=Three%20HIV%20medicines%20are%20approved,
on%20a%20person’s%20individual%20situation.
4. Viivhealthcare. APRETUDE (cabotegravir) Dosing and Administration Guide [Internet]. 2024 [cited 2024 Aug 3]. Available from: https://apretudehcp.com/content/dam/cf-viiv/apretude-hcp-v2/en_US/pdf/APRETUDE_HCP_Dosing_and_Admin_Guide_PDF.pdf.
5. Bekker LG, Das M, Abdool Karim Q, Ahmed K, Batting J, Brumskine W, et al. Twice-Yearly Lenacapavir or Daily F/TAF for HIV Prevention in Cisgender Women. New England Journal of Medicine [Internet]. 2024 [cited 2024 Aug 1]. Available from: https://www.nejm.org/doi/pdf/10.1056/NEJMoa2407001.
6. Lucas W. Viral Capsids and Envelopes: Structure and Function. Encyclopedia of Life Sciences. Wiley Online Library [Internet]. 2010 [cited 2024 Aug 3]. Available from: https://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1002/9780470015902.a0001091.pub2.
คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
PrEP
lenacapavir
capsid inhibitors
HIV