หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Secukinumab ให้ผลดีต่อภาวะอักเสบของต่อมเหงื่อ

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน มิถุนายน ปี 2566 -- อ่านแล้ว 2,126 ครั้ง
 
ภาวะอักเสบของต่อมเหงื่อ (hidradenitis suppurativa) เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในรูขุมขนและต่อมเหงื่อ ซึ่งหนึ่งพยาธิสภาพของภาวะนี้ คือ การเพิ่มขึ้นของ cytokine ที่มีบทบาทเกี่ยวกับปฏิกิริยาการตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันในร่างกายและการอักเสบ เช่น interleukin-17A (IL-17A) และ tumor necrosis factor-alpha (TNF-α) โดยปัจจุบันมีเพียง adalimumab ที่เป็น TNF-α inhibitors เพียงอย่างเดียวได้รับข้อบ่งใช้สำหรับรักษาภาวะอักเสบของต่อมเหงื่อระดับปานกลางถึงรุนแรงในผู้ป่วยอายุ 12 ปีขึ้นไป[1] สำหรับ secukinumab เป็น human IgG1 monoclonal antibody ที่ออกฤทธิ์โดยจับกับ IL-17A ทำให้ยานี้จะสามารถยับยั้งกระบวนการอักเสบที่เป็นสาเหตุของการเกิดภาวะอักเสบของต่อมเหงื่อได้เช่นกัน[2] ทั้งนี้ IL-17A inhibitors ที่มีใช้ในปัจจุบัน ได้แก่ secukinumab, ixekizumab และ brodalumab โดยยาเหล่านี้มีข้อบ่งใช้สำหรับรักษาโรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนา (plaque psoriasis) ที่มีความรุนแรงของโรคระดับปานกลางถึงรุนแรงมาก โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน (psoriatic arthritis) และโรคข้อและกระดูกสันหลังอักเสบชนิดยึดติด (ankylosing spondylitis) เท่านั้น

ข้อมูลประสิทธิผลในภาวะอักเสบของต่อมเหงื่อของ sucukinumab ได้มาจาก 2 การศึกษา คือ SUNSHINE (541 คน) และ SUNRISE (543 คน) ทั้ง 2 การศึกษาเป็นการศึกษาระยะที่ 3 แบบสุ่ม ปกปิดข้อมูล เพื่อศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของ secukinumab ในการรักษาภาวะต่อมเหงื่ออักเสบระดับปานกลางถึงรุนแรงเปรียบเทียบกับยาหลอก ประเมินโดยดูจากการตอบสนองต่อยา กล่าวคือมีการลดลงของขนาดของตุ่มหนอง หรือแสดงถึงการอักเสบที่ลดลงประมาณร้อยละ 50 และไม่มีการเพิ่มจำนวนของตุ่มหนอง ภายในระยะเวลาการศึกษา 52 สัปดาห์ พบว่าในการศึกษา SUNSHINE ผู้ป่วยภาวะต่อมเหงื่ออักเสบในการศึกษาที่ได้รับ secukinumab 300 มิลลิกรัมทุก 2 สัปดาห์ มีการตอบสนองต่อยาร้อยละ 45 ซึ่งมากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอกที่มีการตอบสนองต่อยาเพียงร้อยละ 34 (OR 1.8 [95% CI 1.1–2.7]; p=0·0070) และเป็นไปในทางเดียวกันกับการศึกษา SUNRISE ที่พบว่าผู้ป่วยภาวะต่อมเหงื่ออักเสบในการศึกษาที่ได้รับ secukinumab 300 มิลลิกรัมทุก 2 สัปดาห์ มีการตอบสนองต่อยาร้อยละ 42 ซึ่งมากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอกที่มีการตอบสนองต่อยาเพียงร้อยละ 31 (OR 1.6 [95% CI 1.1–2.6]; p=0·015) และผลข้างเคียงที่สามารถพบได้จากการใช้ secukinumab ในทั้ง 2 การศึกษาเป็นผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรง ได้แก่ ปวดหัว และเยื่อบุจมูก และลำคออักเสบ อีกทั้งยังไม่พบการเสียชีวิตจากการศึกษา[3]

จากผลการศึกษาที่บอกถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยา ทำให้ตอนนี้ secukinumab อยู่ในขั้นตอนการอนุมัติข้อบ่งใช้ใหม่ในการรักษาภาวะต่อมเหงื่ออักเสบในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งคาดว่าผลการอนุมัติอาจเสร็จสิ้นในปี 2023 หากได้รับการอนุมัติ secukinumab จะเป็นยาตัวแรกและตัวเดียวในกลุ่ม IL-17 inhibitor สำหรับการใช้รักษาภาวะต่อมเหงื่ออักเสบระดับปานกลางถึงรุนแรง

เอกสารอ้างอิง

1. van der Zee HH, Laman JD, de Ruiter L, Dik WA, Prens EP. Adalimumab (antitumour necrosis factor-α) treatment of hidradenitis suppurativa ameliorates skin inflammation: an in situ and ex vivo study. Br J Dermatol. 2012; 166(2):298-305.

2. Cosentyx (secukinumab). CenterWatch. [Internet]. 2015. [cited 2023 Feb 28]. Available from: https://www.centerwatch.com/drug-information/fda-approved-drugs/drug/ 100063/cosentyx-secukinumab.

3. Kimball AB, Jemec GBE, Alavi A, et al. Secukinumab in moderate-to-severe hidradenitis suppurativa (SUNSHINE and SUNRISE): week 16 and week 52 results of two identical, multicentre, randomised, placebo-controlled, double-blind phase 3 trials [published online ahead of print, 2023 Feb 3]. Lancet. 2023; S0140-6736(23)00022-3.


คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
secukinumab hidradenitis suppurativa
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.3 ยาชุด Non-prescribed polypharmacy

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้