หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

กรดไหลย้อน แสบท้อง..มองหายาบรรเทาอาการอย่างไร

โดย นศภ.ตรัณ บินอุมา ภายใต้คำแนะนำของ ผศ.ดร.ภญ.อัญชลี จินตพัฒนากิจ เผยแพร่ตั้งแต่ 18 ธันวาคม พ.ศ.2567 -- 260 views
 

โรคของระบบทางเดินอาหารที่เราได้ยินบ่อย ๆ ได้แก่ กรดไหลย้อน (gastroesophageal reflux disease; GERD) และกระเพาะอาหารแปรปรวน (dyspepsia) มักมีความคล้ายคลึงกันทั้งด้านอาการที่พบและยาที่ใช้รักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการปวดแสบท้องหรือแสบร้อนบริเวณท้อง ลิ้นปี่ เนื่องจากมีกรดเกินที่กระเพาะอาหาร1 ทำให้คนส่วนใหญ่มักเลือกใช้ยาลดกรดเป็นยาบรรเทาอาการ อย่างไรก็ตามยาลดกรดที่มีจำหน่ายในประเทศไทยมีทั้งที่อยู่ในรูปแบบยาเม็ดและยาน้ำ หรือเป็นยาสามัญประจำบ้านที่ผู้ป่วยสามารถเลือกซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป รวมทั้งยังมีในรูปแบบยาอันตรายที่ต้องซื้อจากร้านขายยา จึงอาจทำให้เกิดความสงสัยหรือสับสนเกี่ยวกับความแตกต่างของสูตรตำรับยาและการเลือกใช้ ดังนั้นบทความนี้จะช่วยคลายความสงสัยและทำให้สามารถเลือกยาบรรเทาโรคกรดไหลย้อนและโรคกระเพาะอาหารแปรปรวนได้อย่างเหมาะสม

โรคกรดไหลย้อน (GERD)…คืออะไร

กรดไหลย้อน มีสาเหตุเกิดจากการไหลย้อนของกรดจากกระเพาะอาหารไปสู่บริเวณหลอดอาหาร ทำให้เกิดการระคายเคือง อาการหลักที่มักพบ ได้แก่ จุกแน่นหน้าอกหรือแสบร้อนกลางอก (heartburn) ซึ่งอาจจะรู้สึกเหมือนมีอาการของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โดยมีอาการเจ็บลึก ๆ หนัก ๆ หรือรู้สึกเหมือนถูกกดที่บริเวณหน้าอก และอาจมีร้าวไปที่บริเวณไหล่ แขน นอกจากนี้มักพบอาการเรอเปรี้ยวหรือมีอาหารไหลย้อนขึ้นมาที่ปากและลำคอ (regurgitation) รวมทั้งอาการอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ไอมากขึ้นช่วงหลังทานอาหารหรือในตอนกลางคืน เสียงแหบเนื่องจากมีการระคายเคืองบริเวณลำคอจากกรด บางครั้งอาจรู้สึกเหมือนมีก้อนที่ลำคอ หรือกลืนลำบากร่วมด้วย2,3 วิธีการรักษาโรคกรดไหลย้อนจะเน้นให้ผู้ป่วยเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิต (lifestyle modification) และใช้ยาเพื่อควบคุมอาการและรักษาโรค โดยยาบรรเทาอาการกรดไหลย้อนที่ใช้ได้ ได้แก่ ยาลดการไหลย้อนของกรด (anti-reflux agents) และยาลดกรด (antacids)4

โรคกระเพาะอาหารแปรปรวน (dyspepsia)…คืออะไร

โรคกระเพาะอาหารแปรปรวน เป็นความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับทางเดินอาหารส่วนบน (upper gastrointestinal tract) ประกอบด้วย หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น ซึ่งโรคกระเพาะอาหารแปรปรวนเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การรับประทานอาหารปริมาณมากเกินไป การรับประทานผิดเวลาบ่อย ๆ การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ความเครียด ความวิตกกังวล หรือจากการใช้ยาบางชนิด ไม่ว่าจะเป็นยาต้านอักเสบกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์หรือเอ็นเสด (NSAIDs) หรือยาฆ่าเชื้อบางชนิด และรวมไปถึงสาเหตุที่เกิดจากโรคในระบบทางเดินอาหาร เช่น กระเพาะอาหารอักเสบ (gastritis) แผลในทางเดินอาหาร (peptic ulcer disease) เป็นต้น5-7 อาการของโรคกระเพาะอาหารแปรปรวนมักเหมือนกับโรคในระบบทางเดินอาหารอื่น ๆ รวมถึงโรคกรดไหลย้อน และมักจะเป็นอาการเรื้อรัง โดยอาการที่พบได้ทั่วไป ได้แก่ ไม่สบายท้อง ปวดแสบท้อง แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย ท้องอืดหลังจากรับประทานอาหารเสร็จ หรือมีอาการอิ่มเร็วกว่าปกติ บางรายอาจมีอาการแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ หรือมีการอาเจียน8,9 หากมีการตรวจอย่างละเอียดโดยแพทย์แล้วพบว่าไม่ได้มีสาเหตุมาจากความผิดปกติใด ๆ และไม่สามารถจัดกลุ่มเป็นโรคระบบทางเดินอาหารอื่น ๆ ได้ จะเรียกอาการนี้ว่า ภาวะกระเพาะอาหารแปรปรวนชนิดไม่มีแผล (functional/non-ulcer dyspepsia) ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ตามลักษณะของอาการเด่น ได้แก่ กลุ่มที่มีอาการไม่สบายท้องที่สัมพันธ์กับมื้ออาหาร (postprandial distress syndrome; PDS) และกลุ่มที่มีอาการแสบท้องบริเวณลิ้นปี่ (epigastric pain syndrome; EPS) โดยทั้งสองกลุ่มอาจใช้ยาลดกรด ยาแก้ท้องอืด สำหรับบรรเทาอาการแสบท้อง แน่นท้องได้เหมือนกัน7

ยาบรรเทาอาการจากกรดเกินที่กระเพาะอาหาร

ยาเหล่านี้ใช้รับประทานเฉพาะเวลามีอาการเนื่องจากภาวะกรดเกินที่กระเพาะอาหาร ไม่จำเป็นต้องรับประทานต่อเนื่อง หากไม่มีอาการสามารถหยุดทานได้ทุกเมื่อ ตัวอย่างยาสำหรับบรรเทาอาการในโรคทางเดินอาหารจากภาวะกรดเกิน ได้แก่

ยาลดกรด (antacids)10 คือ กลุ่มยาที่เป็นด่างอ่อน ออกฤทธิ์โดยทำปฏิกิริยากับกรดไฮโดรคลอริกในกระเพาะอาหารได้เป็นเกลือกับน้ำ ทำให้เกิดการสะเทินและลดความเป็นกรดในกระเพาะอาหารลง จึงสามารถบรรเทาอาการแสบท้อง ปวดท้อง อาหารไม่ย่อยจากกรดเกินได้ ตัวยาที่มักพบในสูตรยาลดกรดประกอบด้วย โซเดียมไบคาร์บอเนต (sodium bicarbonate) โพแทสเซียมไบคาร์บอเนต (potassium bicarbonate) แคลเซียมคาร์บอเนต (calcium carbonate) แมกนีเซียมคาร์บอเนต (magnesium carbonate) อลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ (aluminium hydroxide) และแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ (magnesium hydroxide) ซึ่งแต่ละชนิดมีคุณสมบัติในการสะเทินกรดที่แตกต่างกัน ดังนี้

  • โซเดียมไบคาร์บอเนต และ โพแทสเซียมไบคาร์บอเนต อาจทำให้มีลมในกระเพาะ เรอบ่อย เนื่องจากการทำปฏิกิริยากับกรดทำให้เกิดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) นอกจากนี้ควรระมัดระวังการใช้ในผู้ที่มีโรคร่วมบางชนิด เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว โรคไตเรื้อรัง โรคความดันโลหิตสูง
  • แคลเซียมคาร์บอเนต อาจทำให้เกิดลมในกระเพาะและเรอบ่อยได้ จากปฏิกิริยากับกรดที่ทำให้เกิดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ผลข้างเคียงอื่น ๆ เช่น ท้องผูก ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง
  • อลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ อาจทำให้เกิดอาการท้องผูก
  • แมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ แมกนีเซียมคาร์บอเนต อาจทำให้เกิดอาการท้องเสีย

โดยยาลดกรดมักมีตัวยาเหล่านี้อย่างน้อย 2 ชนิดผสมอยู่ในตำรับเดียวกัน ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพและลดอาการข้างเคียง องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (USFDA) มีข้อกำหนดว่าขนาดยาที่สามารถใช้เป็นยาลดกรดได้ต้องมีความเข้มข้นของด่างอ่อนต่อปริมาณยาที่ให้ในหนึ่งครั้งมากกว่าหรือเท่ากับ 5 มิลลิอิควิวาเลนต์11 อีกทั้งมีการศึกษากล่าวว่าการรับประทานยาลดกรดประมาณ 156 มิลลิอิควิวาเลนต์ หลังอาหารภายใน
1 ชั่วโมง จะสามารถช่วยลดกรดในกระเพาะอาหารอย่างมีประสิทธิภาพนานถึง 2 ชั่วโมง12 แต่ในทางปฏิบัติหากรับประทานยาลดกรดที่มีจำหน่ายในท้องตลาดบางยี่ห้อหรือบางสูตร อาจต้องรับประทานในขนาดยาที่มากกว่าระบุไว้บนฉลากยา ดังนั้นการเลือกใช้ยาให้เหมาะสมจึงควรพิจารณาจากความเข้มข้นของด่างอ่อน เพื่อประสิทธิภาพในการสะเทินกรดที่ดีและช่วยบรรเทาอาการปวด แสบท้องได้ ตัวอย่างยาลดกรดที่มีจำหน่ายในท้องตลาดแสดงในตาราง

ชื่อยาและส่วนประกอบ

วิธีใช้ (ฉลากยา)

ตัวอย่างชื่อการค้า

Aluminium hydroxide 660 มก./15 มล. +

Magnesium hydroxide 360 มก./15 มล.

(38 มิลลิอิควิวาเลนต์/15 มล.)

ครั้งละ 10-20 มล. ก่อนอาหาร 30 นาที หรือหลังอาหาร หรือเมื่อมีอาการ

Antacil Gel HH,

Amogin-Gel

Dried aluminium hydroxide 250 มก./เม็ด +

Magnesium trisilicate 350 มก./เม็ด +

Kaolin (ยาเคลือบกระเพาะ) 50 มก./เม็ด

(15 มิลลิอิควิวาเลนต์/เม็ด)

ครั้งละ 1-2 เม็ด เคี้ยวก่อนทาน วันละ 3-4 ครั้ง ก่อนอาหาร 1-2 ชั่วโมง และก่อนนอน

Antacil

Sodium bicarbonate 1.96 ก./4.3 ก. +

Citric acid anhydrous 1.85 ก./4.3 ก. +

Sodium carbonate anhydrous 0.43 ก./4.3 ก.

(3 มิลลิอิควิวาเลนต์/4.3 ก., นิยมใช้เพื่อขับลม)

ครั้งละ 1 ซอง ละลายในน้ำ ไม่ควรทานเกินวันละ 6 ซอง

ENO

Magnesium hydroxide 400 มก./5 มล.

(14 มิลลิอิควิวาเลนต์/5 มล., นิยมใช้เป็นยาระบาย)

ครั้งละ 5-15 มล. วันละ 4 ครั้ง

Emulax milk of magnesia,

Maalox alum milk

หมายเหตุ: 1 มล. เท่ากับ 1 ซีซี, 5 มล. เท่ากับ 1 ช้อนชา, 15 มล. เท่ากับ 1 ช้อนโต๊ะ

ยาลดกรดที่มีตัวยาเสริม คือ สูตรยาที่ประกอบด้วยยาลดกรดและตัวยาเสริมเพื่อช่วยบรรเทาอาการอื่น ๆ นอกเหนือจากอาการปวด แสบท้อง เนื่องจากภาวะกรดเกินที่กระเพาะอาหาร เช่น อาการแสบร้อนกลางอก ท้องอืด ซึ่งในแต่ละชื่อการค้าจะมีความแตกต่างกันไปทั้งส่วนประกอบในสูตรตำรับและปริมาณตัวยา ดังนั้นจึงควรพิจารณาอาการร่วมที่พบ และเลือกตัวยาเสริมในสูตรยาลดกรดให้เหมาะสม ตัวอย่างยาเสริม ได้แก่

1. กรดอัลจินิก (alginic acid) หรือโซเดียมอัลจิเนต (sodium alginate) เป็นสารที่เมื่อสัมผัสกับกรดในกระเพาะอาหารจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นชั้นแพเจล (raft) ปกคลุมกรดไม่ให้่ไหลย้อนกลับสู่หลอดอาหาร13 จึงช่วยลดอาการแสบร้อนกลางอกจากภาวะกรดไหลย้อน ตัวอย่างยาที่มีจำหน่ายในท้องตลาดแสดงในตาราง

ชื่อยาและส่วนประกอบ

วิธีใช้ (ฉลากยา)

ตัวอย่างชื่อการค้า

Alginic acid 200 มก./เม็ด +

Dried aluminium hydroxide 30 มก./เม็ด +

Magnesium carbonate 40 มก./เม็ด

(2 มิลลิอิควิวาเลนต์/เม็ด)

ครั้งละ 1-3 เม็ด เคี้ยวก่อนทาน วันละ 4 ครั้ง หลังอาหาร และก่อนนอน

Algycon Chewable

Sodium alginate 500 มก./10 มล. +

Sodium bicarbonate 267 มก./10 มล. +

Calcium carbonate 160 มก./10 มล.

(6 มิลลิอิควิวาเลนต์/10 มล.)

ครั้งละ 10-20 มล. วันละ 4 ครั้ง หลังอาหาร และก่อนนอน

Gaviscon

Sodium alginate 500 มก./10 มล. +

Sodium bicarbonate 213 มก./10 มล. +

Calcium carbonate 325 มก./10 มล.

(9 มิลลิอิควิวาเลนต์/10 มล.)

ครั้งละ 10-20 มล. วันละ 4 ครั้ง หลังอาหาร และก่อนนอน

Belcid Gerd,

Gaviscon Dual action

Sodium alginate 1,000 มก./10 มล. +

Potassium bicarbonate 200 มก./10 มล.

(2 มิลลิอิควิวาเลนต์/10 มล.)

ครั้งละ 5-10 มล. วันละ 4 ครั้ง หลังอาหาร และก่อนนอน

Gaviscon Advance

หมายเหตุ: 1 มล. เท่ากับ 1 ซีซี, 5 มล. เท่ากับ 1 ช้อนชา, 15 มล. เท่ากับ 1 ช้อนโต๊ะ

2. ไซเมทิโคน (simethicone) เป็นสารลดแรงตึงผิว (surfactant) ช่วยให้ฟองแก๊สในทางเดินอาหารรวมตัวกันและกำจัดออกได้ง่ายขึ้น14 ช่วยบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ตัวอย่างยาที่มีจำหน่ายในท้องตลาดแสดงในตาราง

ชื่อยาและส่วนประกอบ

วิธีใช้ (ฉลากยา)

ตัวอย่างชื่อการค้า

Aluminium hydroxide 960 มก./15 มล. +

Magnesium hydroxide 330 มก./15 มล. +

Simethicone 60 มก./15 มล.

(61 มิลลิอิควิวาเลนต์/15 มล.)

ครั้งละ 15 มล. วันละ 4–6 ครั้ง หลังอาหาร และก่อนนอน

Antacil Gel,

Belcid Forte

Aluminium hydroxide 188.8 มก./เม็ด +

Magnesium carbonate 136.2 มก./เม็ด +

Simethicone 60 มก./เม็ด

(11 มิลลิอิควิวาเลนต์/เม็ด)

ครั้งละ 1-2 เม็ด หลังอาหาร

เมื่อมีอาการ

Kremil

หมายเหตุ: 1 มล. เท่ากับ 1 ซีซี, 5 มล. เท่ากับ 1 ช้อนชา, 15 มล. เท่ากับ 1 ช้อนโต๊ะ

3. ไดไซโคลมีน (diclyclomine) เป็นยาระงับการหดเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบ (antispasmodics)12 ช่วยลดอาการปวดเกร็งบริเวณทางเดินอาหาร ตัวอย่างยาที่มีจำหน่ายในท้องตลาดแสดงในตาราง

ชื่อยาและส่วนประกอบ

วิธีใช้ (ฉลากยา)

ตัวอย่างชื่อการค้า

Aluminium hydroxide 188.8 มก./เม็ด +

Magnesium carbonate 136.2 มก./เม็ด +

Simethicone 10 มก./เม็ด +

Dicyclomine HCl 2.5 มก./เม็ด

(11 มิลลิอิควิวาเลนต์/เม็ด)

ครั้งละ 1-2 เม็ด หลังอาหาร

เมื่อมีอาการ

Kremil-S

หมายเหตุ: 1 มล. เท่ากับ 1 ซีซี, 5 มล. เท่ากับ 1 ช้อนชา, 15 มล. เท่ากับ 1 ช้อนโต๊ะ

บทสรุป

ข้อมูลการวิเคราะห์สูตรของยาลดกรดและยาลดกรดที่มีตัวยาเสริมข้างต้นเป็นเพียงการแนะนำให้ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคกระเพาะอาหารแปรปรวนและโรคกรดไหลย้อนสามารถเลือกใช้ยาบรรเทาอาการได้เหมาะสมมากขึ้น อย่างไรก็ตามการใช้ยาลดกรดสูตรต่าง ๆ ควรใช้ในปริมาณที่พอเหมาะตามคำแนะนำบนฉลากยาหรือคำแนะนำของเภสัชกรเพื่อเป็นการบรรเทาอาการเท่านั้น หากมีอาการของโรคที่รุนแรงมากขึ้นควรเข้ารับการตรวจรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่อไป

เอกสารอ้างอิง

  1. John Wyeth. Managing dyspepsia and heartburn in general practice [Internet]. 2011 [cited 2024 Aug 4]. Available from: https://bpac.org.nz/BPJ/2011/february/dyspepsia.aspx.
  2. Jenette Restivo. 9 GERD symptoms to know [Internet]. 2023 [cited 2024 Aug 4]. Available from: https://www.health.harvard.edu/diseases-and-conditions/9-gerd-symptoms-to-know.
  3. Francis DO. Chronic Cough and Gastroesophageal Reflux Disease. Gastroenterol Hepatol (NY). 2016; 12(1):64-66.
  4. Maneerattanaporn M, Pittayanon R, Patcharatrakul T, et al. Thailand guideline 2020 for medical management of gastroesophageal reflux disease. J Gastroenterol Hepatol. 2022; 37(4):632-643.
  5. Sandy Rice. Why Do I Have Indigestion? [Internet]. 2023 [cited 2024 Aug 5]. Available from: https://www.healthline.com/health/indigestion.
  6. Kyle Bradford Jones. Indigestion (Dyspepsia) [Internet]. 2023 [cited 2024 Aug 5]. Available from: https://familydoctor.org/condition/indigestion-dyspepsia/.
  7. Francis P, Zavala SR. Functional Dyspepsia. StatPearls [Internet]. 2024 [cited 2024 Aug 6]. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK554563/.
  8. Cleveland clinic. Functional Dyspepsia [Internet]. 2022 [cited 2024 Aug 6]. Available from: https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/22248-functional-dyspepsia.
  9. Pittayanon R, Leelakusolvong S, Vilaichone RK, et al. Thailand Dyspepsia Guidelines: 2018. J Neurogastroenterol Motil. 2019; 25(1):15-26.
  10. Katzung BG, Vanderah TW. eds. Basic & Clinical Pharmacology, 15th Edition. McGraw-Hill; 2021.
  11. Garg V, Narang P, Taneja R. Antacids revisited: review on contemporary facts and relevance for self-management. J Int Med Res. 2022; 50(3):3000605221086457.
  12. Vanderah TW. eds. Basic & Clinical Pharmacology, 16th Edition. McGraw-Hill; 2024.
  13. Mandel KG, Daggy BP, Brodie DA, Jacoby HI. Review article: alginate-raft formulations in the treatment of heartburn and acid reflux. Aliment Pharmacol Ther. 2000; 14(6):669-90.
  14. Ronald IS, Angela BH, Nathan R. Drug for the Geriatric Patient. W.B. Saunders: 2007; p.1107-65.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
ยาลดกรด โรคกรดไหลย้อน โรคกระเพาะอาหารแปรปรวน กรดเกิน กรดไหลย้อน แสบท้อง
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.4 ยาอันตรายควบคุม (Controlled dangerous drugs)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้