หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ยาน่ารู้ บุหรี่น่าเลิก

โดย นศภ.ภานุพงศ์ อัฐกุลชัย ภายใต้คำแนะนำของ รศ.ดร.ภญ.ปิยทิพย์ ขันตยาภรณ์ เผยแพร่ตั้งแต่ 3 มกราคม พ.ศ.2568 -- 1,076 views
 

ผลเสียจากการสูบบุหรี่

จากรายงานประจำปีของกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ได้กล่าวถึงสถานการณ์การบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2564 พบว่าในบรรดาผู้สูบบุหรี่รายใหม่ 155,813 คน ส่วนใหญ่ (94,723 คน) อยู่ในช่วงอายุ 15-19 ปี และมีคนไทยที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าถึง 78,742 คน เป็นกลุ่มอายุ 15-24 ปี ถึง 24,050 คน(1) อันตรายของการสูบบุหรี่เกิดจากสารในควันบุหรี่กว่า 4,000 ชนิด ทั้งสารที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของร่างกาย กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน เป็นพิษต่อเซลล์ และอีกหลายชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง สารเหล่านี้สามารถส่งผลกระทบได้ทั้งต่อผู้สูบ คนรอบข้าง และสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างสารในควันบุหรี่ เช่น นิโคติน ทาร์ ไซยาไนด์ ฟอร์มาลีน ปรอท สารหนู ตะกั่ว แคดเมียม นอกจากนี้ผู้ผลิตบางรายยังมีการเติมสารปรุงแต่งอื่นลงในบุหรี่(2-5) เมื่อมีสารที่ก่ออันตรายต่อร่างกายมากมายเช่นนี้ การสูบบุหรี่จึงสัมพันธ์กับการเกิดโรคต่าง ๆ ทั้งในระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบทางเดินหายใจ และมะเร็ง พบว่าผู้ป่วยโรคปอดอุดกันเรื้อรังส่วนใหญ่สัมพันธ์กับการสูบบุหรี่ โดยความเสี่ยงขึ้นอยู่กับระยะเวลาและปริมาณในการสูบ ดังนั้นการเลิกบุหรี่สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคและความรุนแรงของโรคลง(2,6)

บุหรี่และการเสพติด

สาเหตุที่ทำให้ผู้สูบติดบุหรี่นั้น โดยทั่วไปมี 3 สาเหตุ (2, 7, 8) ได้แก่

  1. สาเหตุทางสังคมหรือความเคยชิน เป็นการสูบบุหรี่ตามความเคยชินโดยที่ผู้สูบไม่รู้ตัว มักสูบระหว่างการทำกิจวัตรประจําวัน กิจกรรมที่รู้สึกผ่อนคลาย หรือสูบเมื่ออยู่กับเพื่อน
  2. สาเหตุทางจิตใจหรือความเครียด เป็นการสูบบุหรี่เมื่อรู้สึกเครียด กดดัน หรือมีปัญหาที่ทำให้คุมอารมณ์ไม่ได้ บางรายสูบบุหรี่เมื่อรู้สึกหวาดกลัว โศกเศร้า หรือโดดเดี่ยว
  3. สาเหตุทางร่างกายหรือการติดสารนิโคติน เป็นการสูบบุหรี่เพราะร่างกายต้องได้รับสารนิโคตินอย่างต่อเนื่อง ถ้าไม่ได้สูบบุหรี่เป็นเวลานานจะเกิดความกระวนกระวายและกดดัน

การเลิกบุหรี่

ทั้งนี้ไม่ว่าจะติดบุหรี่ด้วยสาเหตุใด บุคลากรทางการแพทย์จะต้องประเมินความพร้อมและให้ความช่วยเหลือในการเลิกสูบบุหรี่ โดยอาจใช้หลักการ 5As คือ 1) Ask ถามประวัติการสูบบุหรี่ รวมถึงบุหรี่ไฟฟ้า 2) Advice แนะนำให้ผู้สูบบุหรี่เลิกสูบบุหรี่อย่างเด็ดขาด 3) Assess ประเมินว่าผู้สูบมีความประสงค์ที่จะเลิกสูบบุหรี่หรือไม่ 4) Assist ให้คำแนะนำและบำบัดรักษาอย่างเหมาะสม เพื่อให้เลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จ และ 5) Arrange ติดตามผลการเลิกสูบบุหรี่ โดยเน้นการป้องกันการกลับมาสูบใหม่(2,9)

หลังประเมินความพร้อมในการเลิกสูบบุหรี่แล้ว การประเมินความรุนแรงของการติดบุหรี่หรือสารนิโคตินเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญสำหรับให้คำแนะนำและเลือกวิธีการบำบัดรักษาที่เหมาะสม โดยเครื่องมือในการประเมินที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย คือ แบบทดสอบวัดระดับการติดนิโคติน หรือ Fagerstorm Test for Nicotine Dependence (FTND) ซึ่งใช้คำถามที่เกี่ยวข้องกับจำนวนบุหรี่ที่สูบต่อวัน การสูบบุหรี่หลังตื่นนอน ความลำบากใจเมื่ออยู่ในสถานที่ห้ามสูบบุหรี่ และความต้องการสูบบุหรี่ขณะนอนพักในโรงพยาบาล ซึ่งแบบทดสอบทำให้แบ่งระดับการติดบุหรี่หรือสารนิโคตินออกเป็น 3 ระดับ คือ ติดเล็กน้อย ติดปานกลาง และติดรุนแรง(10,11) โดยการบำบัดผู้ติดบุหรี่ เริ่มต้นจากการได้รับคำแนะนำด้านการปรับพฤติกรรมซึ่งบางรายสามารถเลิกสูบบุหรี่สำเร็จเมื่อได้รับคำแนะนำอย่างต่อเนื่อง(2,12) สำหรับในรายที่มีการติดบุหรี่หรือสารนิโคตินจนเกิดอาการขาดนิโคตินเมื่อเลิกสูบบุหรี่ (ติดสารนิโคตินระดับปานกลางขึ้นไป) การให้คำแนะนำหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอาจไม่เพียงพอ และจำเป็นต้องใช้ยาร่วมด้วยเพื่อบรรเทาอาการขาดนิโคตินหรือลดความอยากสูบบุหรี่ลง

ยาที่ช่วยในการเลิกสูบบุหรี่แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มนิโคตินทดแทนและกลุ่มที่ไม่ใช่นิโคตินทดแทน(2,9)

ยากลุ่มนิโคตินทดแทน

นิโคตินทดแทนทั้งรูปแบบแผ่นแปะผิวหนัง หมากฝรั่ง และสเปรย์ เป็นยาหลักสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการถอนนิโคตินและต้องการเลิกสูบบุหรี่ทันที นิโคตินทดแทนเหล่านี้สามารถจำหน่ายได้ในร้านขายยาที่มีเภสัชกร ผู้ที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่สามารถขอคำปรึกษาในการใช้ยาได้

นิโคตินแบบแผ่นแปะผิวหนัง (nicotine patch) ในประเทศไทยมีแผ่นแปะนิโคตินขนาด 7, 14 และ 21 มก. ต่อวัน ผู้สูบบุหรี่สามารถหยุดสูบได้ทันทีเมื่อเริ่มใช้แผ่นแปะนิโคติน ในผู้ที่สูบไม่เกินวันละ 20 มวน อาจเริ่มยาขนาด 14 มก. ต่อวัน เป็นเวลา 8 สัปดาห์ จากนั้นลดลงเหลือ 7 มก. ต่อวัน ในสัปดาห์ที่ 9-12 ในผู้ที่สูบมากกว่าวันละ 20 มวน อาจเริ่มที่ขนาด 21 มก. ต่อวัน เป็นเวลา 4 สัปดาห์ จากนั้นลดลงเหลือ 14 มก. ต่อวัน ในสัปดาห์ที่ 5-8 แล้วรักษาต่อในขนาด 7 มก. ต่อวัน จนถึงสัปดาห์ที่ 12(13,14) การติดแผ่นแปะจะติดในบริเวณที่ไม่มีขน ไม่มัน เช่น สะโพกหรือต้นแขนด้านนอก แผ่นแปะ 1 แผ่นสามารถติดได้นาน 24 ชั่วโมง แล้วจึงเปลี่ยนใหม่ในเวลาเดียวกันของทุกวัน แผ่นแปะอาจทำให้ระคายเคืองผิวหนัง นอนไม่หลับ หรือฝันร้าย สามารถดึงแผ่นแปะออกก่อนนอนได้ ต้องระวังการใช้ในผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป และโรคเบาหวานชนิดที่ 1 แม้แผ่นแปะนิโคตินจะเป็นยาที่ใช้ง่าย ผลข้างเคียงน้อย แต่การปรับขนาดยาทำได้ยาก และการดูดซึมนิโคตินเข้ากระแสเลือดค่อนข้างช้า ทำให้อาจต้องใช้เวลานานเพื่อลดความอยากบุหรี่(9,14)

นิโคตินแบบหมากฝรั่ง (nicotine gum) หมากฝรั่งนิโคตินมีขนาดชิ้นละ 2 และ 4 มก. ใช้เคี้ยวเมื่อมีอาการอยากสูบบุหรี่ ครั้งละ 1 ชิ้นทุก 1-2 ชั่วโมง และต้องหยุดสูบบุหรี่อย่างเด็ดขาดเมื่อเริ่มใช้ยา ผู้สูบบุหรี่น้อยกว่า 20 มวนต่อวัน ควรเริ่มใช้ขนาด 2 มก. สามารถใช้ได้ไม่เกินวันละ 30 ชิ้น ผู้สูบตั้งแต่ 20 มวนต่อวันขึ้นไปควรเริ่มใช้ขนาด 4 มก. สามารถใช้ได้ไม่เกินวันละ 15 ชิ้น(13,14) การใช้หมากฝรั่งนิโคตินจะใช้วิธีที่เรียกว่า chew & park โดยเคี้ยวช้า ๆ จนมีรสเผ็ดซ่าออกมา แล้วนำหมากฝรั่งไปพักที่กระพุ้งแก้มจนเมื่อรสเผ็ดซ่าหายไปจึงนำมาเคี้ยวใหม่ สลับไปเรื่อย ๆ นาน 20-60 นาทีต่อชิ้น และต้องงดเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์เป็นกรด เช่น กาแฟ น้ำอัดลม น้ำส้ม อย่างน้อย 15 นาทีก่อนเริ่มใช้หมากฝรั่งนิโคติน มิฉะนั้นการดูดซึมยาจะลดลง ผลข้างเคียงที่สามารถพบได้ คือ ระคายเคืองทางเดินอาหาร ปวดกราม ปวดท้อง จึงควรเคี้ยวหมากฝรั่งนิโคตินด้วยวิธีการที่ถูกต้อง ไม่เคี้ยวเร็วเกินไป และงดการกลืนน้ำลายระหว่างใช้ยา ข้อดีของการใช้หมากฝรั่งนิโคติน คือ สามารถปรับขนาดยาได้เอง นิโคตินถูกดูดซึมได้เร็ว แต่มีข้อห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีปัญหาทางทันตกรรม หรือมีแผลในกระเพาะอาหาร(9,13,14)

นิโคตินแบบสเปรย์ (nicotine spray) สเปรย์นิโคตินมีขนาดยา 1 มก. ต่อสเปรย์ ใช้พ่นทางช่องปากเมื่อมีอาการอยากบุหรี่ โดยใช้ได้ไม่เกิน 2 สเปรย์ต่อครั้ง หรือ 4 สเปรย์ต่อชั่วโมง และห้ามใช้เกิน 64 สเปรย์ต่อวัน ระหว่างพ่นห้ามหายใจและห้ามกลืนน้ำลาย 2-3 วินาทีหลังพ่นเสร็จ ห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี และผู้ที่แพ้นิโคติน ควรใช้อย่างระวังในผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร หรือผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น รู้สึกแสบร้อนในช่องปาก ระคายเคืองกระเพาะอาหาร(15)

ยากลุ่มที่ไม่ใช่นิโคตินทดแทน

ในผู้ที่มีข้อห้ามใช้หรือเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงรุนแรงจากการใช้นิโคตินทดแทน สามารถใช้ยาทางเลือกกลุ่มที่ไม่ใช่สารนิโคตินได้ ยาบางชนิดในกลุ่มยาต้านเศร้า คือ bupropion และ nortriptyline สามารถใช้เป็นยาทางเลือกในผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าเมื่อหยุดสูบบุหรี่ ยาเหล่านี้สามารถจำหน่ายได้ในโรงพยาบาล และร้านขายยาที่มีเภสัชกร(16)

Bupropion HCl ชนิดออกฤทธิ์นาน (sustained release; SR) อยู่ในกลุ่มยาต้านเศร้า (antidepressant) มีฤทธิ์เพิ่มปริมาณสารสื่อประสาทในสมอง คือ norepinephrine และ dopamine ยานี้เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ยังไม่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ทันทีเมื่อเริ่มใช้ยา โดยให้เริ่มใช้ยาก่อนวันเลิกสูบบุหรี่ 1-2 สัปดาห์ เพื่อรอให้มีระดับยาเพียงพอต่อการรักษา การใช้ยาเริ่มที่ขนาด 150 มก. วันละ 1 ครั้งในสามวันแรก จากนั้นเพิ่มเป็นวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ห่างกันอย่างน้อย 8 ชั่วโมง และสามารถใช้ยาต่อเนื่องได้ถึง 12 สัปดาห์ การทานยาต้องกลืนทั้งเม็ด ห้ามหักแบ่งหรือเคี้ยวเม็ดยา ผลข้างเคียงที่พบได้ คือ นอนไม่หลับ ปากแห้ง มือสั่น ปวดศีรษะ หากใช้ยาแล้วนอนไม่หลับสามารถเปลี่ยนจากการทานตอนเย็นเป็นช่วงบ่าย หรือปรึกษาแพทย์เพื่อขอปรับขนาดยา และห้ามใช้ยาในผู้ป่วยโรคลมชัก(2,9)

Nortriptyline เป็นยาต้านเศร้าที่มีกลไกการออกฤทธิ์เพิ่มปริมาณสารสื่อประสาทในสมอง ได้แก่ norepinephrine และ serotonin เช่นกัน โดยต้องเริ่มทานยา 10-28 วันก่อนเลิกสูบบุหรี่ เริ่มใช้ยาขนาด 25 มก.ต่อวัน แล้วเพิ่มขนาดยาขึ้นช้า ๆ ทุก 3-5 วัน พร้อมกับติดตามผลข้างเคียงจากยาอย่างใกล้ชิด สามารถเพิ่มขนาดยาได้จนถึงวันละ 50-100 มก. แนะนำให้ทานยาหลังอาหารเย็นหรือก่อนนอน เพราะยาอาจทำให้ง่วงนอน ผลข้างเคียงอื่นที่พบได้ คือ ปากแห้ง ใจสั่น ห้ามใช้ในผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ และการหยุดยาต้องลดขนาดลงอย่างช้า ๆ ในเวลา 2-4 สัปดาห์ ห้ามหยุดใช้ยาทันที(9,16)

Varenicline เป็นยาช่วยเลิกบุหรี่ที่ออกฤทธิ์คล้ายนิโคตินในระบบประสาทส่วนกลาง จึงช่วยลดความอยากสูบบุหรี่ลง การใช้ยาจะเริ่มที่ 0.5 มก. วันละ 1 ครั้ง นาน 3 วัน จากนั้นเพิ่มเป็นวันละ 2 ครั้ง ต่อเนื่องถึงวันที่ 7 แล้วจึงเพิ่มยาเป็น 1 มก. วันละ 2 ครั้ง ให้เริ่มใช้ยาก่อนวันเลิกสูบบุหรี่ 1-2 สัปดาห์ การทานยาแนะนำให้กลืนทั้งเม็ดพร้อมอาหาร เพื่อป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียน ไม่แนะนำให้ทานก่อนนอน เพราะยาสามารถทำให้นอนไม่หลับและเกิดอาการฝันแปลกในบางราย และต้องระวังการใช้ในผู้ที่มีประวัติโรคลมชัก หรือโรคทางจิตเวช(9,16)

Cytisine เป็นยาช่วยเลิกบุหรี่ที่ออกฤทธิ์กระตุ้นการหลั่ง dopamine ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทชนิดหนึ่งในสมอง แต่จะไม่เกิดการเสพติดเหมือนการสูบบุหรี่ และมีกลไกที่ทำให้ผู้สูบบุหรี่รู้สึกว่าบุหรี่ไม่มีรสชาติเป็นอีกส่วนช่วยให้สามารถเลิกบุหรี่ได้ cytisine เป็นยาอันตรายที่สามารถจำหน่ายได้ในร้านขายยาที่มีเภสัชกร การใช้ยาใน 3 วันแรกจะใช้มากที่สุด คือ 1.5 มก. วันละ 6 ครั้ง ทุก 2 ชั่วโมง หลังจากนั้นจะค่อย ๆ ลดขนาดยาลง การสูบบุหรี่ควรเริ่มลดลงตั้งแต่ 3 วันแรก และเลิกสูบภายในวันที่ 5 ของการใช้ยา ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ระหว่างใช้ยา คือ คลื่นไส้ และการนอนหลับผิดปกติ ห้ามใช้ยา cytisine ในผู้ที่มีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดสมอง หัวใจเต้นผิดจังหวะ และห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน(17)

ตารางสรุปข้อมูลยาช่วยเลิกบุหรี่

ยาช่วยเลิกบุหรี่

การเลิกสูบบุหรี่เมื่อเริ่มใช้ยา

ขนาดและการใช้ยา

กลุ่มนิโคตินทดแทน

แผ่นแปะนิโคติน

เลิกสูบบุหรี่ทันที

20 มวน/วัน 14 มก./วัน สัปดาห์ที่ 1-8, 7 มก./วัน สัปดาห์ที่ 9-12

21 มวน/วัน 21 มก./วัน สัปดาห์ที่ 1-4, 14 มก./วัน สัปดาห์ที่ 5-8, 7 มก./วัน สัปดาห์ที่ 9-12

หมากฝรั่งนิโคติน

เลิกสูบบุหรี่ทันที

< 20 มวน/วัน ใช้ขนาด 2 มก./ชิ้น

20 มวน/วัน ใช้ขนาด 4 มก./ชิ้น

ทั้งสองขนาดใช้เหมือนกัน คือ 8-12 ชิ้น/วัน สัปดาห์ที่ 1-6, 4-6 ชิ้น/วัน สัปดาห์ที่ 7-9, 1-3 ชิ้น/วัน สัปดาห์ที่ 10-12

สเปรย์นิโคติน

เลิกสูบบุหรี่ทันที

พ่นทางช่องปากเมื่อมีอาการอยากบุหรี่

- ห้ามใช้เกิน 2 สเปรย์ต่อครั้ง หรือ 4 สเปรย์ต่อชั่วโมง

- ห้ามใช้เกิน 64 สเปรย์ต่อวัน

กลุ่มที่ไม่ใช่นิโคตินทดแทน

Bupropion HCl

เลิกสูบบุหรี่หลังใช้ยา 1-2 สัปดาห์

วันที่ 1-3 ใช้ยา 150 มก. วันละครั้ง, ตั้งแต่วันที่ 4 ใช้ยา 150 มก. วันละ 2 ครั้ง อาจใช้ต่อเนื่องถึง 12 สัปดาห์

ห้ามหักเม็ดยา

Nortriptyline

เลิกสูบบุหรี่หลังใช้ยา 10-28 วัน

เริ่มขนาด 25 มก./วัน เพิ่มยาทุก 3-5 วัน จนถึง 50-100 มก./วัน

การหยุดยาต้องค่อย ๆ ลดขนาดลง

Varenicline

เลิกสูบบุหรี่หลังใช้ยา 1-2 สัปดาห์

วันที่ 1-3 ใช้ยา 0.5 มก. วันละครั้ง, วันที่ 4-7 เพิ่มเป็น 0.5 มก. วันละ 2 ครั้ง, ตั้งแต่วันที่ 8 เพิ่มเป็น 1 มก. วันละ 2 ครั้ง

Cytisine

ใช้เสริมเพื่อลดการสูบบุหรี่ในวันแรก ๆ ต้องเลิกสูบบุหรี่ภายใน 5 วัน

วันที่ 1-3 ใช้ยา 1.5 มก. วันละ 6 ครั้ง จากนั้นค่อย ๆ ลดขนาดยาลงภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกร

บทสรุป

การสูบบุหรี่ แม้จะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย แต่ก็ตามมาด้วยผลเสียทางสุขภาพทั้งต่อตนเอง และผู้ที่อยู่รอบข้าง หากสูบบุหรี่ไม่หนักอาจใช้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อเลิกสูบได้ แต่ในรายที่สูบบุหรี่หนักอาจทำให้ร่างกายติดสารนิโคตินจนต้องใช้ยาร่วมด้วยเพื่อช่วยให้สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จ ยาที่ช่วยในการเลิกบุหรี่มีหลากหลายดังสรุปในตาราง ผู้สูบบุหรี่ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยา สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ คือ การให้คำแนะนำที่ถูกต้องควบคู่กับการใช้ยา รวมไปถึงกำลังใจจากคนรอบข้าง เพราะสาเหตุและปัจจัยกระตุ้นให้สูบบุหรี่มีมากมาย แม้จะได้รับยาที่มีประสิทธิภาพ แต่หากไม่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และขาดกำลังใจอย่างสม่ำเสมอ ก็อาจกลับไปสูบบุหรี่ใหม่ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ. รายงานประจำปี 2566 [อินเตอร์เน็ต]. 2566 [เข้าถึงเมื่อ 2567 ก.ย. 18]. เข้าถึงได้จาก: https://ddc.moph.go.th/uploads/publish/1528320240129105408.pdf.
  2. ประสิทธิ์ กี่สุขพันธ์. การเลิกสูบบุหรี่ (smoking cessation) [อินเตอร์เน็ต]. 2567 [เข้าถึงเมื่อ 2567 ก.ย. 18]. เข้าถึงได้จาก: http://www.thaiheart.org/images/column_1353671720/Smoking_2.pdf.
  3. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. ในบุหรี่มีสารพิษอะไรบ้าง [อินเตอร์เน็ต]. 2560 [เข้าถึงเมื่อ 2567 ก.ย. 20]. เข้าถึงได้จาก: https://www.thaihealth.or.th/ในบุหรี่มีสารพิษอะไรบ้-2/.
  4. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. สารพิษในบุหรี่ [อินเตอร์เน็ต]. 2567 [เข้าถึงเมื่อ 2567 ก.ย. 20]. เข้าถึงได้จาก: http://quitsmoking.pharmacy.psu.ac.th/index.php/quit-attempts/ precontemplation/89-precontemplation/124-toxic-tobacco.
  5. อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์. สารพิษจากควันบุหรี่ ที่ครอบครัวต้องรับมือ! [อินเตอร์เน็ต]. 2567 [เข้าถึงเมื่อ 2567 ก.ย. 20]. เข้าถึงได้จาก: https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/ article/โทษของบุหรี่-มีผลต่อสุข/.
  6. Godtfredsen NS, Prescott E. Benefits of smoking cessation with focus on cardiovascular and respiratory comorbidities. Clin Respir J. 2011 Oct;5(4):187-94.
  7. อารยา ศรีไพโรจน์. บุหรี่ …พิษภัยร้ายกับวัยรุ่น [อินเตอร์เน็ต]. 2567 [เข้าถึงเมื่อ 2567 ก.ย. 22]. เข้าถึงได้จาก: https://pharm.tu.ac.th/uploads/pharm/pdf/articles/20190328_03.pdf.
  8. เครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์. แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับการบำบัดภาวะติดนิโคตินในประเทศไทย ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2564. พิมพ์ครั้งที่ 2. นนทบุรี: ห้างหุ้นส่วนจำกัด สิินทวีกิจ พริ้นติ้ง; 2565.
  9. แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับการบำบัดรักษาโรคติดบุหรี่ในประเทศไทย สำหรับแพทย์และบุคลากรวิชาชีพสุขภาพ. 2552.
  10. ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี. Interesting topic เรื่อง nicotine dependence [อินเตอร์เน็ต]. 2554 [เข้าถึงเมื่อ 2567 ก.ย. 22]. เข้าถึงได้จาก: https://www.rama.mahidol.ac.th/ramamental/sites/default/files/public/pdf/Nicotine%20Dependence.pdf.
  11. พยอม สุขเอนกนันท์ โอล์สัน. การเสพติดนิโคติน (nicotine addiction) [อินเตอร์เน็ต]. 2563 [เข้าถึงเมื่อ 2567 ก.ย. 22]. เข้าถึงได้จาก: https://ccpe.pharmacycouncil.org/showfile. php?file=928.
  12. World Health Organization. WHO clinical treatment guideline for tobacco cessation in adults. 2024.
  13. สิรภัทร เกียรติศรีสินธพ. “นิโคติน” สารทดแทนช่วยเลิกบุหรี่ [อินเตอร์เน็ต]. 2563 [เข้าถึงเมื่อ 2567 ก.ย. 25]. เข้าถึงได้จาก: https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/ 510/เลิกบุหรี่/#.
  14. กระทรวงสาธารณสุข. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาอันตราย ฉบับที่ 30 [อินเตอร์เน็ต]. 2561 [เข้าถึงเมื่อ 2567 ก.ย. 25]. เข้าถึงได้จาก: https://drug.fda.moph.go.th/media.php?id= 523146281942654976&name=(30)%20Dangerous%20drugs.pdf.
  15. Johnson&Johnson Limited. nicorette QuickMist package leaflet [internet]. 2022 [cited 2024 Dec 2]. Available from: https://www.medicines.org.uk/emc/files/pil. 5956.pdf.
  16. พัชญา คชศิริพงศ์. กระบวนการบำบัดโรคเสพยาสูบในร้านยา [อินเตอร์เน็ต]. 2567 [เข้าถึงเมื่อ 2567 ธ.ค. 2]. เข้าถึงได้จาก: https://ccpe.pharmacycouncil.org/showfile.php?file=392.
  17. ปวรวรรธน์ เพ็ชรรัตน์, สุมาทวี สิงห์นิกร, นันทิชา รอดแล้ว, อดิณัฐ อำนวยพรเลิศ. ไซทิซีน ทางเลือกสำหรับผู้ป่วยที่ต้องการเลิกบุหรี่ [อินเตอร์เน็ต]. 2566 [เข้าถึงเมื่อ 2567 ก.ย. 23]. เข้าถึงได้จาก: https://www.pharmacy.up.ac.th/FileUpload/Journal/J1/s5.pdf.


คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
การเลิกบุหรี่ ยาช่วยเลิกบุหรี่ นิโคตินทดแทน
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.2 เกลือแร่สำหรับท้องเสีย ORS (Oral Rehydration Salts)

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้