หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Propranolol ลดอาการตื่นเต้นหรือวิตกกังวลได้จริงหรือไม่

โดย นศภ.กชนุช สุขศรีสังข์ ภายใต้คำแนะนำของ อาจารย์กชรัตน์ ชีวพฤกษ์ เผยแพร่ตั้งแต่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2567 -- 423 views
 

อาการตื่นเต้น วิตกกังวล

การต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่ได้คาดคิด สถานการณ์ที่ต้องทำสิ่งใหม่ ๆ ที่ไม่เคยทำ การอยู่ต่อหน้าคนจำนวนมาก หลายคนจะมีอาการตื่นเต้นอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ร่างกายจะตอบสนองต่อความตื่นเต้นโดยการกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติ (automatic nervous system) ทำให้เกิดการหลั่งอะดรีนาลีน (adrenaline) ส่งผลให้หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น เหงื่อออก มือเท้าเย็น เป็นต้น ผลจากความตื่นเต้นนี้อาจทำให้ไม่มีสมาธิจดจ่อต่อสิ่งที่กำลังจะทำหรือควบคุมตัวเองไม่ได้ หากอาการนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งหรือมีความรุนแรงมากขึ้น อาจเป็นสัญญาณของโรคแพนิค ซึ่งจะมีผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจของผู้ที่เป็นได้1

โรคแพนิค

โรคแพนิค (panic disorder) เป็นโรควิตกกังวลชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันและรุนแรง มีสาเหตุมาจากระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติ โดยผู้ป่วยจะรู้สึกวิตกกังวลเหมือนว่าจะมีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้น เกิดการแสดงออกของร่างกายออกมาเป็นความหวาดกลัวและตื่นตระหนก แม้ว่าในความเป็นจริงจะยังไม่ได้มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น เรียกความรู้สึกเช่นนี้ว่า “panic attacks” ซึ่งมักตรวจร่างกายแล้วไม่พบความผิดปกติใด ๆ แม้อาการของโรคแพนิคจะไม่ได้เป็นอันตรายต่อชีวิต แต่รบกวนชีวิตประจำวันอย่างมาก โดยทั่วไปโรคแพนิคมักพบในช่วงอายุวัยรุ่นและพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย2

อาการของโรคแพนิค ได้แก่ เหงื่อออกมาก หายใจถี่ หายใจไม่ออก หัวใจเต้นแรง ใจสั่น ตัวสั่น รู้สึกชา ไม่สบายท้อง คลื่นไส้ เจ็บแน่นหน้าอก รู้สึกหวาดกลัว สูญเสียการควบคุมตัวเอง เป็นต้น โดยอาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ ประมาณ 5-10 นาทีก่อนที่จะสงบลง แต่ในบางกรณีอาจมีอาการนานถึง 1 ชั่วโมง2,3

ปัจจัยกระตุ้นให้เกิดโรคแพนิค2

- พันธุกรรม มีประวัติครอบครัวเป็นโรควิตกกังวล (anxiety) โรคซึมเศร้า (depression) หรือโรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว (bipolar disorder)

- การใช้สารเสพติด

- ความเครียด ความวิตกกังวล

- ประสบการณ์เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ร้ายแรงในอดีต

- สภาพแวดล้อม

- ปัญหาเกี่ยวกับทางเดินหายใจ เช่น หอบหืด

ผลกระทบจากโรคแพนิค2

- การแยกตัวออกจากสังคม

- ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับคนรอบตัว

- เพิ่มความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย

- ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง

การรักษาโรคแพนิค

การปรับเปลี่ยนแนวคิดและพฤติกรรม เช่น การให้ผู้ป่วยทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวโรคว่าอาการที่เป็นอยู่ไม่ได้อันตรายและสามารถจัดการได้ โดยพฤติกรรมที่สามารถช่วยบรรเทาอาการแพนิค ได้แก่ การฝึกหายใจเข้าออกลึก ๆ เพื่อควบคุมการหายใจ การทำกิจกรรมที่ผ่อนคลาย เช่น ออกกำลังกาย ทำสมาธิ ทำงานอดิเรกที่ชอบ เป็นต้น4ซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้มักทำควบคู่กับการใช้ยาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา โดยยาที่มีใช้ ได้แก่4,5

- ยาต้านเศร้า (antidepressants) ได้แก่ ยากลุ่ม selective serotonin reuptake inhibitors (SSRIs) เช่น fluoxetine, paroxetine, sertraline, citalopram และ fluvoxamine เป็นต้น และยากลุ่ม serotonin-norepinephrine reuptake inhibitors (SNRIs) เช่น venlafaxine เป็นต้น ยาทั้งสองกลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ค่อนข้างช้า มักใช้สำหรับควบคุมโรคในระยะยาว ผู้ป่วยต้องรับประทานต่อเนื่องถึงจะเห็นผล

- ยาคลายกังวลกลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (benzodiazepines) เช่น alprazolam, clonazepam, diazepam เป็นต้น ยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์เร็ว แต่การกินติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจะทำให้มีผลข้างเคียงคือทำให้เกิดการติดยาได้ ดังนั้นจึงให้ใช้ในช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น

นอกจากการปรับเปลี่ยนแนวคิด พฤติกรรม และการใช้ยาควบคุมอาการดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังพบว่าในสถานการณ์ที่กระตุ้นให้เกิดความตื่นเต้น เช่น การสอบหรือการนำเสนองาน บางคนอาจเลือกใช้ยาที่ชื่อว่า propranolol เพื่อลดอาการจากความตื่นเต้นแทน แต่ propranolol สามารถช่วยลดอาการตื่นเต้น และอาการวิตกกังวลจากโรคแพนิคได้จริงหรือไม่?

Propranolol

Propranolol (โพรพราโนลอล) เป็นยายับยั้งตัวรับเบต้าอย่างไม่จำเพาะเจาะจง (nonselective beta-adrenoreceptor antagonist) หรือที่เรียกว่ายากลุ่มเบต้า-บล็อกเกอร์ (beta-blockers) ยาตัวนี้ออกฤทธิ์ยับยั้งตัวรับเบต้า-1 ซึ่งพบมากบริเวณกล้ามเนื้อหัวใจ มีผลลดอัตราการเต้นของหัวใจ ลดแรงบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ลดปริมาณเลือดที่ออกจากหัวใจ และลดความต้องการออกซิเจนของกล้ามเนื้อหัวใจ นอกจากนี้ยังสามารถยับยั้งตัวรับเบต้า-2 ซึ่งพบมากบริเวณหลอดเลือด กล้ามเนื้อเรียบบริเวณหลอดลม และอวัยวะต่าง ๆ เช่น มดลูก ทางเดินอาหาร ตับ เป็นต้น มีผลทำให้กล้ามเนื้อเรียบเกิดการหดตัว และหลอดลมหดเกร็งได้6ผลจากการยับยั้งตัวรับเบต้าดังที่กล่าวมาทำให้มีการนำ propranolol มาใช้ในข้อบ่งใช้ที่หลากหลาย รวมถึงรักษาอาการจากโรคแพนิค โดยยาจะเริ่มออกฤทธิ์หลังรับประทานไป 1-2 ชั่วโมง และมีระยะเวลาในการออกฤทธิ์ 6-12 ชั่วโมง7

Propranolol ในรูปแบบเม็ดที่มีจำหน่ายในประเทศไทยประกอบด้วยตัวยา propranolol hydrochloride ขนาด 10 มิลลิกรัม และ 40 มิลลิกรัม ขนาดยาแนะนำที่ใช้ในแต่ละข้อบ่งใช้มีดังนี้8

ข้อบ่งใช้

ขนาดยาต่อวัน (มิลลิกรัม)

รักษาโรคความดันโลหิตสูง

160 - 320

รักษาอาการเจ็บหน้าอก

120 - 240

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

30 - 160

ป้องกันโรคไมเกรน

80 - 160

รักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนา

30 - 160

รักษาอาการสั่น

80 - 160

รักษาอาการวิตกกังวล

40 - 120

รักษาอาการหัวใจเต้นเร็วในผู้ป่วยไทรอยด์ฮอร์โมนสูง

30 - 160

รักษาโรคเนื้องอกของต่อมหมวกไต ชนิด pheochromocytoma

30 - 60

การใช้ propranolol ในการรักษาอาการตื่นเต้นและอาการวิตกกังวลจากโรคแพนิคในปัจจุบันถือเป็นการใช้ยาแบบนอกข้อบ่งใช้ (off-label)6ซึ่งหมายถึงการใช้ยารักษาภาวะที่นอกเหนือจากที่ระบุในฉลากยา ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร จากการศึกษาแบบ meta-analysis ซึ่งรวบรวมผลของการใช้ยาในผู้ป่วยโรคแพนิคจำนวน 4 การศึกษา พบว่า propranolol สามารถลดจำนวนครั้งของการเกิด panic attacks ได้ไม่แตกต่างกับยากลุ่ม benzodiazepines9 แสดงให้เห็นว่า propranolol อาจมีประสิทธิภาพในการนำมาใช้รักษาอาการจากโรคแพนิค โดยขนาดยาเริ่มต้นของ propranolol สำหรับรักษาอาการจากโรคแพนิค คือ รับประทานครั้งละ 10 มิลลิกรัม ก่อนเวลาที่คาดว่าจะมีอาการตื่นเต้นหรืออาการวิตกกังวล 1 ชั่วโมง10 หากอาการไม่ดีขึ้นสามารถเพิ่มขนาดยาได้ถึง 120-320 มิลลิกรัมต่อวัน หากผู้ป่วยสามารถทนต่ออาการข้างเคียงของยาได้9,11

อาการข้างเคียงที่อาจพบ8 ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย อ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ ฝันร้าย หัวใจเต้นช้าลง มือเท้าเย็น หายใจติดขัด ซึม สับสน เป็นต้น

ข้อควรระวัง8

- หากกำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรให้แจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง

- หากมีการใช้ยาอื่นร่วมด้วย ให้แจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งเนื่องจากอาจเกิดปฏิกิริยากันระหว่างยา ซึ่งอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพของการรักษาได้

- หลีกเลี่ยงการรับประทานเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างรับประทานยานี้

ข้อห้ามใช้8

- ผู้ที่แพ้ยา propranolol หรือส่วนประกอบอื่น ๆ ของเม็ดยา

- ผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวที่ควบคุมไม่ได้

- ผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นช้าแบบรุนแรง

- ผู้ที่มีความดันต่ำมาก

- ผู้ที่เป็นโรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

- ผู้ที่มีภาวะเลือดเป็นกรด (metabolic acidosis)

- ผู้ที่มีอาการเจ็บหน้าอกแบบ Prinzmetal ซึ่งเป็นอาการเจ็บหน้าอกระดับรุนแรงจากการที่หลอดเลือดหัวใจหดเกร็งเฉียบพลัน

บทสรุป

Propranolol ถือเป็นทางเลือกหนึ่งในการใช้รักษาอาการของการตื่นเต้นและอาการวิตกกังวลจากโรคแพนิค แต่ควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร การใช้ propranolol นั้นเป็นเพียงการรักษาอาการจากโรคแพนิคชั่วคราวเท่านั้น จำเป็นต้องมีการรักษาทางจิตใจควบคู่ไปกับการใช้ยาเพื่อปรับสมดุลของสารเคมีในสมองภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางร่วมด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Personal synthesis. Excitement [Internet]. [cited 2024 August 3]. Available from: https://www.personalsynthesis.com/excitement/.
  2. Belmont Behavioral Health System. Causes, Signs, & Effects of Panic Disorder [Internet]. 2024 [cited 2024 August 3]. Available from: https://www.belmontbehavioral.com/ disorders/panic/causes-effects/.
  3. National Health Service. Panic disorder [Internet]. 2023 [cited 2024 August 3]. Available from: https://www.nhs.uk/mental-health/conditions/panic-disorder/.
  4. สุทธิพร เจณณวาสิน. แพนิค! รักษาได้ [อินเทอร์เน็ต]. 2564 [เข้าถึงเมื่อ 3 สิงหาคม 2567]. เข้าถึงได้จาก: https://www.si.mahidol.ac.th/Th/healthdetail.asp?aid=687.
  5. DeGeorge KC, Grover M, Streeter GS. Generalized anxiety disorder and panic disorder in adults. American family physician. 2022;106(2):157-64.
  6. National Institutes of Health. Propranolol [Internet]. 2023 [cited 2024 Aug 16]. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK557801/.
  7. MIMS Online Thailand. Propranolol [Internet]. 2024 [cited 2024 August 3]. Available from: https://www.mims.com/thailand/drug/info/propranolol?mtype=generic.
  8. Electronic Medicines Compendium. Propranolol hydrochloride [Internet]. 2022 [cited 2024 Aug 16]. Available from: https://www.medicines.org.uk/emc/files/pil.11811.pdf.
  9. Steenen SA, van Wijk AJ, van der Heijden GJ, van Westrhenen R, de Lange J, de Jongh A. Propranolol for the treatment of anxiety disorders: Systematic review and meta-analysis. J Psychopharmacol. 2016;30(2):128-39.
  10. Mealy K, Ngeh N, Gillen P, Fitzpatrick G, Keane FB, Tanner A. Propranolol reduces the anxiety associated with day case surgery. Eur J Surg. 1996;162(1):11-4.
  11. de Simone EM, Crimmins JM. Essential tremor: A common disorder with limited treatments. US Pharmacist. 2011;36.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
propranolol แพนิค ตื่นเต้น
 
คลิปความรู้เรื่องยา

EP.3 ยาชุด Non-prescribed polypharmacy

ดูคลิปทั้งหมด

ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้