Eng |
อาจารย์ ดร.ภญ.ชญานิน กีรติไพบูลย์
ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พลาสติกถูกใช้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์เพื่อการอุปโภคในชีวิตประวันของเราอย่างแพร่หลาย เช่น เสื้อผ้าที่ผลิตจากเส้นใยสังเคราะห์ ยางรถยนต์ บรรจุภัณฑ์ เครื่องสำอาง เครื่องใช้ไฟฟ้า และปุ๋ย เป็นต้น แม้ว่าพลาสติกจะมีความทนทาน แต่การได้รับแสงแดด ความร้อน หรือระยะเวลาที่ผ่านไปจะทำให้พลาสติกสลายตัว ได้เป็นไมโครพลาสติกซึ่งเป็นอนุภาคพลาสติกขนาดเล็กที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 5 มิลลิเมตร1
ข้อมูลจากงานวิจัยพบไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อมแทบทุกที่ เช่น อากาศ ดิน แหล่งน้ำในธรรมชาติและจากชุมชน เนื้อสัตว์จากธรรมชาติและจากฟาร์ม ผัก และผลไม้ เป็นต้น2,3 สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือปริมาณการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีสาเหตุจากปริมาณการใช้พลาสติกที่เพิ่มขึ้น4 และการสลายตัวของไมโครพลาสติกได้เป็นอนุภาคขนาดเล็ก หรือที่รู้จักกันในชื่อนาโนพลาสติก จึงทำให้ปัญหาการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อมทวีความรุนแรงขึ้นตามไปด้วย3 ไมโครพลาสติกจะเข้าสู่ร่างกายของเราผ่านการกินและการหายใจ1,2,3 งานวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ได้ตรวจพบไมโครพลาสติกในเลือด ปอด รก และน้ำนมของอาสาสมัคร รวมถึงในเลือดของทารกแรกเกิด5-9 ดังนั้นความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของไมโครพลาสติกต่อสุขภาพที่จะตามมาในอนาคตจึงเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอยู่ในขณะนี้
ผลกระทบต่อสุขภาพของไมโครพลาสติก
ข้อมูลในปัจจุบันได้จากการศึกษาในสัตว์ทดลอง และเซลล์เพาะเลี้ยงที่จำลองสภาวะใกล้เคียงกับอวัยวะภายในร่างกายมนุษย์ พบว่าไมโครพลาสติกส่งผลเสียต่อการทำงานหลายระบบ ได้แก่ ระบบทางเดินหายใจ ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบต่อมไร้ท่อ และระบบสืบพันธุ์ รวมถึงขัดขวางพัฒนาการของตัวอ่อนภายในครรภ์มารดาอีกด้วย ผลการวิจัยพบว่าไนลอน ไมโครไฟเบอร์ ซึ่งเป็นไม-โครพลาสติกชนิดหนึ่ง ทำให้เนื้อเยื่อปอดที่เพาะเลี้ยงมีจำนวน และขนาดของเซลล์ในทางเดินหายใจลดลงมากกว่า 50% โดยมีสาเหตุมาจากสารเคมีที่ปลดปล่อยจากไมโครไฟเบอร์10 สำหรับผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน พบว่าไมโครพลาสติกมักจะปนเปื้อนกับอนุภาคโปรตีนแปลกปลอม หรือจุลชีพที่พบในสิ่งแวดล้อม ทำให้เซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันจับกินอนุภาคไมโครพลาสติก และตายลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่นำไปสู่ปฏิกิริยาการอักเสบที่รุนแรง และทำให้โรคที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบของทางเดินหายใจ หรือทางเดินอาหารกำเริบได้11 นอกจากนี้สารเคมีที่เป็นส่วนประกอบของไมโครพลาสติกก็สามารถส่งผลเสียได้เช่นกัน Bisphenol A ที่ช่วยให้พลาสติกมีความแข็ง รบกวนการทำงานระบบต่อมไร้ท่อ ขัดขวางพัฒนาการเรียนรู้ในวัยเด็ก และยับยั้งการทำงานของระบบสืบพันธุ์12,13 Phthalates ที่ช่วยให้พลาสติกอ่อนและยืดหยุ่น ขัดขวางพัฒนาการของทารกในครรภ์ ลดการทำงานของระบบสืบพันธุ์ ทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน และโรคอ้วน14 อย่างไรก็ตามผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการเก็บข้อมูล และต้องใช้เวลาอีกหลายปีจึงจะให้คำตอบที่ชัดเจนได้15
ทิศทางของไมโครพลาสติกต่อสุขภาพของมนุษย์15
ปัจจุบันนักวิจัยกำลังศึกษาปริมาณของไมโครพลาสติกจากแหล่งต่าง ๆ ได้แก่ ชุมชน โรงงานอุตสาหกรรม และภายในที่อยู่อาศัย เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์หาปริมาณของไมโครพลาสติกที่เข้าสู่ร่างกายโดยการหายใจ ซึ่งจะนำไปสู่ข้อมูลเกี่ยวข้องกับปริมาณไมโครพลาสติกที่สร้างผลเสียต่อร่างกายมนุษย์ต่อไป อย่างไรก็ตามการวิจัยในขั้นนี้มีความท้าทายเป็นอย่างมาก เนื่องจากข้อจำกัดของวิธีวิเคราะห์อนุภาคที่มีขนาดเล็ก และคุณสมบัติทางกายภาพเคมีที่หลากหลายของอนุภาคไมโครพลาสติก ได้แก่ รูปร่าง ขนาด และสารเคมีที่เป็นส่วนประกอบ ซึ่งทำให้ความรุนแรงของอันตรายต่อร่างกายมนุษย์แตกต่างกันไปตามคุณสมบัติดังกล่าวอีกด้วย ปัจจุบันหลายประเทศห้ามใช้ไมโครพลาสติก ได้แก่ ไมโครบีด (microbeads) ในการผลิตเครื่องสำอาง และยาสีฟัน อย่างไรก็ตามยังไม่มีข้อกำหนดสำหรับปริมาณไมโครพลาสติกชนิดอื่น ๆ ในผลิตภัณฑ์อุปโภคที่จะปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม และมาตรการสำหรับการเฝ้าระวังอันตรายยังมีจำกัด
วิธีหลีกเลี่ยงไมโครพลาสติก15
คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ช่วยให้เราลดปริมาณไมโครพลาสติกที่จะเข้าสู่ร่างกาย และลดการปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม ได้แก่ การทำให้อากาศถ่ายเทโดยการเปิดหน้าต่าง ดูดฝุ่นเป็นประจำเพื่อกำจัดฝุ่นบนพื้นผิว ซึ่งมักจะมีไมโครพลาสติกปะปนอยู่ ดูแลเครื่องฟอกอากาศให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีไมโครบีดเป็นส่วนประกอบ เลือกใช้เสื้อผ้าจากเส้นใยธรรมชาติ เช่น ฝ้าย ลินิน กัญชง และหลีกเลี่ยงเสื้อผ้าที่ผลิตจากวัสดุสังเคราะห์ เช่น อะคริลิค และโพลีเอสเตอร์ เพื่อลดการปลดปล่อยไมโครพลาสติกระหว่างการใส่และการซัก ซึ่งจะทำให้ไมโครพลาสติกปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ และภาคการเกษตรได้ นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการนำภาชนะพลาสติกมาอุ่นอาหารด้วยไมโครเวฟ แม้ภาชนะนั้นจะสามารถใช้กับไมโครเวฟได้ และหลีกเลี่ยงการวางขวดน้ำพลาสติกบริเวณที่โดนแสงแดดโดยตรง เป็นต้น
Image by Freepik