เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


เทมเป้ (Tempeh) อาหารทางเลือกเพื่อสุขภาพ


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภญ.จิราพร เลื่อนผลเจริญชัย

ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 431 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 31/05/2567
อ่านล่าสุด 12 นาทีที่แล้ว
https://tinyurl.com/29waakhm
Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ https://tinyurl.com/29waakhm
 

เทมเป้ คือ ถั่วเหลืองหมัก เป็นอาหารพื้นเมืองเพื่อสุขภาพที่มีโปรตีนสูง สามารถกินทดแทนเนื้อสัตว์ได้ของชาวอินโดนีเซีย มาตั้งแต่ 200 ปีก่อน โดยเฉพาะในเขตชวากลางอย่างเมืองยอกยาการ์ตา (Yogyakarta) และสุราการ์ตา (Surakarta) แต่เดิมเรียกกันว่า “เตมเป” เกิดจากการหมักบ่มถั่วเหลืองทั้งเมล็ดด้วยเชื้อรา Rhizopus spp. ได้แก่ R. oligosporus, R. oryzae และ R. stolonifera ทำให้เกิดเส้นใยสีขาวช่วยยึดถั่วให้ติดกันแน่นจนเป็นก้อน โดยใช้เวลาในการหมักบ่มแค่ 2-3 วันเท่านั้น ในระหว่างการหมักบ่มเทมเป้ก็ยังมีเชื้อแบคทีเรียที่เป็นมิตรกับร่างกายเกิดขึ้นคือ lactic acid bacteria แบบเดียวกับที่เกิดขึ้นในขนมปังยีสต์ธรรมชาติ เป็นเชื้อโพรไบโอติกส์ที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและลดปัญหาท้องเสียจากเชื้อโรคต่างๆ และยังเป็นแหล่งของวิตามินบีหลายชนิด โดยเฉพาะวิตามินบี 12 ที่ปกติพบได้ในเนื้อสัตว์ ไม่ค่อยพบในอาหารจากพืช

คุณค่าทางโชนาการของเทมเป้

หากไปเดินในตลาดท้องถิ่นของอินโดนีเซีย จะพบเทมเป้วางขายอยู่เต็มไปหมด โดยสามารถทานเปล่าๆ หรือนำไปทอด ผัด ก็ได้ หรือจะนำไปประกอบอาหารต่างๆ โดยใช้ทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ จึงเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้นับถือศาสนาอิสลามที่ต้องการกินทดแทนเนื้อหมู โดยเมนูในร้านอาหารจะปรากฏคำว่าเทมเป้ในหลากหลายเมนู ไม่ว่าจะเป็น Tempeh Goreng (เทมเป้ชุบน้ำเกลือทอด) Tempeh Bacem (เทมเป้ทอดแบบปรุงรสเผ็ด) และ Tempeh Penyat (เทมเป้ชิ้นบางที่กินกับน้ำพริก) เป็นต้น ในเทมเป้ 100 กรัม ให้พลังงาน 192 กิโลแคลอรี่ ประกอบด้วยสารอาหาร คือ โปรตีน: 20.3 กรัม ไขมัน 10.8 กรัม คาร์โบไฮเดรต 7.64 กรัม โซเดียม 9 มิลลิกรัม เหล็ก 2.7 มิลลิกรัม แคลเซียม 111 มิลลิกรัม แมกนีเซียม 81 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 266 มิลลิกรัม โพแทสเซียม 412 มิลลิกรัม สังกะสี 1.14 มิลลิกรัม ทองแดง 0.56 มิลลิกรัม แมงกานีส 1.3 มิลลิกรัม วิตามินบี 1 0.078 มิลลิกรัม วิตามินบี 2 0.358 มิลลิกรัม วิตามินบี 3 2.64 มิลลิกรัม วิตามินบี 5 0.278 มิลลิกรัม วิตามินบี 6 0.215 มิลลิกรัม โฟเลต 24 ไมโครกรัม และวิตามินบี 12 0.08 ไมโครกรัม

จะเห็นได้ว่าเทมเป้เป็นอาหารสุขภาพที่มีพลังงานต่ำแต่กลับมีโปรตีนสูง พร้อมอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุมากมาย อีกทั้งยังมีโซเดียมและคาร์โบไฮเดรตต่ำอีกด้วย โดยธรรมชาติถั่วที่ผ่านการหมักจะมีคุณค่าทางโภชนาการดีกว่าถั่วที่ไม่ได้ผ่านการหมัก โปรตีนที่เกิดขึ้นในเทมเป้จะถูกย่อยเป็นโปรตีนที่มีขนาดเล็กลง และส่วนหนึ่งจะเปลี่ยนเป็นกรดอะมิโน ซึ่งเป็นโปรตีนหน่วยเล็กที่สุดที่ร่างกายดูดซึมไปใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ แม้แต่คนที่แพ้ถั่วเหลืองผ่านระบบภูมิคุ้มกันก็มีแนวโน้มทานได้ ในขณะที่พวกเขาดื่มนมถั่วเหลืองไม่ได้ เพราะนมถั่วเหลืองไม่ผ่านกระบวนการหมักบ่ม

ประโยชน์ของเทมเป้ต่อสุขภาพ

1. อุดมไปด้วยโปรตีน

ปริมาณโปรตีนที่แนะนำให้ผู้ใหญ่บริโภคต่อวันคือ 1 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม สำหรับผู้ที่รับประทานมังสวิรัติควรได้รับโปรตีนจากถั่วเหลืองในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อทดแทนการได้รับโปรตีนไม่เพียงพอจากการไม่รับประทานเนื้อสัตว์ โดยเทมเป้ให้โปรตีนสูงกว่าอาหารที่ทำจากถั่วชนิดอื่น เช่น เต้าหู้ปริมาณ 84 กรัม ให้โปรตีนประมาณ 6 กรัม ขณะที่เทมเป้ที่มีปริมาณเท่ากันให้โปรตีนสูงถึง 15 กรัม จึงเหมาะสำหรับผู้รับประทานมังสวิรัติ และผู้ที่ออกกำลังกายเพราะการรับประทานโปรตีนอย่างเพียงพอจะช่วยเสริมมวลกล้ามเนื้อที่เสียไปจากการออกกำลังกาย นอกจากนี้ เทมเป้ที่ทำจากถั่วเหลืองยังมีกรดอะมิโนจำเป็นที่ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นได้เอง และจะได้รับจากการรับประทานอาหารที่มีโปรตีนอย่างเพียงพอเท่านั้น ซึ่งอาหารที่ทำจากถั่วเหลืองจะให้ครบทั้ง 9 ชนิด ได้แก่ ฮิสติดีน ลิวซีน ไอโซลิวซีน วาลีน ทรีโอนีน ไลซีน เมไทโอนีน ฟีนิลอะลานีน และทริปโตเฟน ต่างจากธัญพืชอื่นๆ ที่อาจให้กรดอะมิโนจำเป็นได้ไม่ครบ

2. ดีต่อหัวใจและช่วยควบคุมน้ำหนัก

เทมเป้ 1 ถ้วย (166 กรัม) ประกอบด้วยไขมัน 18 กรัม โดยไขมันส่วนใหญ่ในเทมเป้จะเป็นไขมันไม่อิ่มตัวชนิดเชิงเดี่ยวและเชิงซ้อน ซึ่งเป็นไขมันดีที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย อันมีส่วนช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง นอกจากนี้ เทมเป้ 1 ถ้วยประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรตเพียง 13 กรัม และมีโปรตีนสูงที่ช่วยให้รู้สึกอิ่มท้องและยับยั้งความรู้สึกอยากอาหาร ซึ่งอาจเป็นตัวเลือกที่ดีเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักอีกด้วย

3. แหล่งของวิตามินและแร่ธาตุ

การรับประทานเทมเป้ให้สารอาหารจำพวกวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ได้แก่ วิตามินบี 2 ที่มีส่วนช่วยในการสร้างพลังงาน การมองเห็น และบำรุงผิวพรรณ วิตามินบี 3 ที่ช่วยเปลี่ยนสารอาหารให้เป็นพลังงาน เสริมการทำงานของสมอง ระบบย่อยอาหาร และผิวพรรณ และวิตามินบี 12 ที่มีบทบาทในการสร้างเม็ดเลือดแดง ซึ่งพบมากในเนื้อสัตว์และนม จึงเป็นทางเลือกของคนที่รับประทานมังสวิรัติ นอกจากนี้ยังมีแคลเซียมสูงจึงเป็นแหล่งของแคลเซียมที่เหมาะกับคนที่ไม่ดื่มนมวัว และยังมีแร่ธาตุต่างๆ เช่น สังกะสี ทองแดง เหล็ก แมงกานีส และฟอสฟอรัส ซึ่งมีความสำคัญต่อการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย

4. แหล่งของสารไอโซฟลาโวน

เทมเป้ประกอบด้วยสารไอโซฟลาโวน ซึ่งพบมากในถั่วเหลืองและอาหารที่ทำจากถั่วเหลือง โดยปกติบนห่อผลิตภัณฑ์เทมเป้จะระบุปริมาณไอโซฟลาโวนให้เห็นโดยมีปริมาณอยู่ที่ 40-50 กรัมต่อ 1 ชิ้น โดยไอโซฟลาโวนมีส่วนช่วยในการลดระดับคอเลสเตอรอลโดยรวม คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (low density lipoprotein หรือ LDL) และไตรกลีเซอไรด์ในเลือด ซึ่งไขมันชนิดไม่ดีเหล่านี้อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ นอกจากนี้ ไอโซฟลาโวนจัดเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจนจากพืช (phytoestrogen) ที่ช่วยบรรเทาอาการร้อนวูบวาบ ลดอาการวัยทองในหญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีระดับฮอร์โมนในร่างกายแปรปรวน นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติในการต้านการอักเสบ ชะลอความเสื่อมของเซลล์จากอนุมูลอิสระ และอาจช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น

5. เสริมการทำงานของระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายของร่างกาย

การรับประทานถั่วและธัญพืชบางชนิดอาจทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหารและมีอาการท้องอืด แต่การรับประทานเทมเป้มักไม่ทำให้เกิดอาการเหล่านี้ จึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร เช่น โรคลำไส้แปรปรวน เป็นต้น นอกจากนี้เทมเป้ได้จากการหมักถั่วกับเชื้อรา จึงมีโพรไบโอติกส์ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ช่วยเสริมสร้างการทำงานของระบบทางเดินอาหาร และมีพรีไบโอติกส์ซึ่งเป็นใยอาหารชนิดหนึ่งและเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของโพรไบโอติกส์ โดยเทมเป้ 85 กรัม มีใยอาหารสูงถึง 7 กรัม จึงมีส่วนช่วยให้การขับถ่ายเป็นปกติ

6. บำรุงสมองและระบบประสาท

เทมเป้ประกอบด้วยสารเลซิตินที่ช่วยบำรุงสมองและระบบประสาท เนื่องจากเป็นสารตั้งต้นของการสร้างสารสื่อประสาทในสมองคือ acetylcholine หากร่างกายได้รับเลซิตินในปริมาณที่เพียงพอก็จะช่วยป้องกันและรักษาอาการผิดปกติของระบบประสาทบางประเภทได้

7. บำรุงตับ ลดการเกิดนิ่วในถุงน้ำดี

สารเลซิตินในเทมเป้ยังช่วยบำรุงตับได้ดี เนื่องจากประกอบด้วยกรดไขมันคือฟอสเฟตและโคลีน ซึ่งโคลีนมีส่วนช่วยให้เซลล์ตับมีการเผาผลาญไขมันได้อย่างปกติ ลดการเกิดภาวะไขมันพอกตับ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคตับอักเสบและตับแข็ง นอกจากนี้ เลซิตินยังมีคุณสมบัติเป็นตัวทำละลายของน้ำดี ช่วยให้น้ำดีไม่จับตัวจนเป็นก้อนนิ่ว ลดการเกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้

8. เสริมสร้างการเจริญเติบโตและสร้างเม็ดเลือดให้เป็นปกติ

วิตามินบี 12 ถือว่าเป็นวิตามินที่สำคัญมาก โดยเฉพาะในวัยเด็ก เนื่องจากช่วยเพิ่มความอยากอาหาร ทำให้ทานอาหารได้มาก ในขณะที่ผู้สูงอายุการได้รับวิตามินบี 12 จะช่วยในเรื่องของการสร้างเม็ดเลือดให้เป็นปกติ และยังช่วยบำรุงระบบประสาท ทำให้เคลื่อนไหวได้ดี ลดอาการอ่อนแรง ซึ่งปกติแล้ว วิตามินบี 12 จะพบได้ในเนื้อสัตว์เท่านั้น แต่หากทานเทมเป้เข้าไปก็จะได้รับวิตามินชนิดนี้เช่นกัน

ข้อควรระวังในการรับประทานเทมเป้

คนทั่วไปสามารถรับประทานเทมเป้ได้อย่างปลอดภัยและไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ แต่คนที่มีภาวะสุขภาพบางอย่างไม่ควรรับประทานเทมเป้ เช่น (1) แพ้ถั่วเหลือง เนื่องจากเทมเป้มีส่วนประกอบหลักคือถั่วเหลือง การรับประทานเทมเป้อาจทำให้คนที่แพ้ถั่วเหลืองมีอาการคัน เกิดผื่นลมพิษ ใบหน้าและลำคอบวม หายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด ปวดท้อง ท้องร่วง คลื่นไส้ อาเจียน และบางคนอาจเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงที่เป็นอันตรายถึงชีวิต (2) ภาวะผิดปกติเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ เพราะเทมเป้มีสารกอยโตรเจน (goitrogen) ที่อาจยับยั้งการสังเคราะห์ไทรอยด์ฮอร์โมน และลดประสิทธิภาพการดูดซึมยารักษาไทรอยด์

ที่มารูปภาพ: Tempeh Stock photos by Vecteezy

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. U.S. Department of Agriculture. 2023. FoodData Central: Foundation foods (April).
  2. Teoh SQ, Chin NL, Chong CW, Ripen AM, How S, Lim JJL. A review on health benefits and processing of tempeh with outlines on its functional microbes. Future Foods. 2024; 9: 100330.
  3. Pobpad. เทมเป้ อาหารเพื่อสุขภาพและวิธีรับประทานให้ได้ประโยชน์.
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

งานประชุมวิชาการที่กำลังเปิดรับสมัคร


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


1 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้