ผลงานของ อ.ประดิษฐ์

ผลงานสำคัญที่ผ่านมาของอาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร
   

คุณูปการของครูประดิษฐ์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยาในประเทศไทย

คุณูปการของครูประดิษฐ์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยาในประเทศไทย

1141  Views  

ย้อนหลังไปในปี พ.ศ. 2501 ประเทศไทยเริ่มมีพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน ได้มีการเชิญชวนชาวต่างประเทศเข้ามาร่วมลงทุนเพื่อดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมหลายๆ ด้าน รวมทั้งอุตสาหกรรมผลิตยารักษาโรคด้วย ขณะนั้นเป็นเวลาเดียวกับที่ครูประดิษฐ์ หุตางกูร ได้เดินทางกลับจากการศึกษาต่อทางด้านเภสัชอุตสาหกรรมจากประเทศสหรัฐอเมริกาพอดี และได้เข้าเป็นอาจารย์ประจำสอนในภาควิชาเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์

ด้วยวุฒิการศึกษาปริญญาโทด้านเภสัชอุตสาหกรรมจาก Purdue University และเข้าฝึกงานที่ National Institute of Health ทำให้ ครูประดิษฐ์ เป็นบุคคลที่มีความรู้ เหมาะแก่ยุคสมัยของการเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมยาในประเทศไทย ครูประดิษฐ์เป็นเพียงไม่กี่คนในประเทศไทยในยุคนั้นที่ได้รับการศึกษาด้านเภสัชอุตสาหกรรมจากต่างประเทศ ครูจึงเป็นทรัพยากรบุคคลที่ล้ำค่ามากในด้านนี้ 

ในปี พ.ศ. 2502 ครูประดิษฐ์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอนุกรรมการยาของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เพื่อพิจารณาการส่งเสริมการลงทุนทางอุตสาหกรรมยา โรงงานอุตสาหกรรมยาต่างประเทศที่เข้ามาเป็นกลุ่มแรก คือ บริษัท Merck Sharp & Dohme และ บริษัท Dumex เนื่องจากรัฐบาลได้ให้สัญญาที่จะไม่ให้โรงงานอื่นผลิตยาที่คล้ายกับที่บริษัททั้งสองผลิตอยู่ จึงทำให้เกิดปัญหาขึ้น ครูประดิษฐ์ได้มีส่วนคลี่คลายข้อผูกมัดนี้ ทำให้โรงงานยาของบริษัท Lepetit ได้ถือกำเนิดขึ้นมาเป็นโรงงานที่สาม และต่อมาก็มีโรงงานอื่นเกิดขึ้นอีกหลายแห่ง ทำให้อุตสาหกรรมยาได้พัฒนาเจริญรุ่งเรืองมาจนทุกวันนี้

บริษัท เลอเปอตี้ จำกัด (บริษัทไทยในเครือบริษัท ดาวเคมิคอล ซึ่งปัจจุบันเป็นบริษัท โอลิค (ประเทศไทย) จำกัด

 

ในเวลานั้นผู้ที่จบการศึกษาทางด้านเภสัชอุตสาหกรรมจากต่างประเทศมีน้อยจนนับคนได้ ครูประดิษฐ์ซึ่งได้เคยสัมผัสกับการทำงานในระบบอุตสาหกรรมจากประเทศที่พัฒนาอย่างดียิ่งแล้วว่าเขาทำกันอย่างไร จึงเป็นบุคคลสำคัญยิ่งที่นักลงทุนทั้งหลาย ทั้งไทยและเทศต้องวิ่งมาหาเพื่อขอให้ท่านช่วยแนะนำ อาทิ โรงงานเภสัชกรรมแอตแลนติค ขอปรึกษาปัญหาต่างๆ ขณะดำเนินการอยู่เป็นประจำ ชาวต่างประเทศหลายคนชักชวนให้ท่านไปทำงานเป็นผู้จัดการฝ่ายผลิตในโรงงานยา แต่ก็ได้รับการปฏิเสธคำชวนทุกรายไป เนื่องด้วยครูมีความตั้งใจที่จะทำงานอิสระ ไม่ต้องอยู่ใต้อาณัติของใคร จึงนับเป็นโชคดีของวงการศึกษาที่ได้ครูที่มีความรู้ความสามารถไว้เป็นหลักสอนนักศึกษาต่อไป แม้ว่าครูจะปฏิเสธการไปทำงานในโรงงาน แต่อาจารย์ก็ได้กรุณาให้ความช่วยเหลือในด้านคำแนะนำปรึกษา จนเป็นที่กล่าวขวัญและยกย่องสรรเสริญจากบุคคลต่าง ๆ ในวงการธุรกิจอุตสาหกรรมยาเป็นอย่างมากในขณะนั้น เรียกว่าเป็นเซียนเลยทีเดียว ไม่มีปัญหาใดที่เกี่ยวกับการผลิตยาที่ครูแก้ไม่ได้ ความเก่งกาจนี้จึงเป็นอานิสงส์มายังลูกศิษย์ของครู ที่โรงงานอุตสาหกรรมยาทั้งของนักธุรกิจชาวไทยและที่ร่วมลงทุนกับชาวต่างประเทศต่างก็ต้องการตัวไปทำงาน ครูได้ช่วยคัดเลือกลูกศิษย์ส่งออกไปทำงานในโรงงานเหล่านั้นและประสบความสำเร็จในวงการอุตสาหกรรมยา อีกทั้งทำให้ธุรกิจอุตสาหกรรมยาเจริญก้าวหน้าเป็นอย่างมาก จากปี พ.ศ. 2504 ยอดขายในตลาดที่รวมกันทั้งนำเข้าและผลิตเองไม่ถึงพันล้านบาทต่อปี จำนวนตำรับยาสำเร็จรูปที่นำเข้าจากต่างประเทศกับจำนวนตำรับยาที่ผลิตในประเทศมีสัดส่วน 8 ต่อ 2 เพิ่มขึ้นเป็นหมื่นสองพันล้านบาทต่อปี และ จำนวนตำรับยาสำเร็จรูปที่นำเข้ากับจำนวนตำรับยาที่ผลิตในประเทศมีสัดส่วน 3 ต่อ 7 ในปี พ.ศ. 2526

โรงงานภัชกรรมแอตแลนติคแสดงความยินดีในโอกาสครูประดิษฐ์ได้รับพระราชทานปริญญาเภสัชศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยมหิดล

 

ผู้ผลิตยากลุ่มหนึ่งภายใต้การนำของ เภสัชกรเกษม ปังศรีวงศ์ (เจ้าของบริษัท บี. แอล. ฮั้ว และร่วมลงทุนกับบริษัทเมอร์ค ชาร์พ แอนด์ โดห์ม ผู้ผลิตยาแผนปัจจุบัน)  นายพิชัย รัตตกุล (เจ้าของบริษัท เยาวราช จำกัด ผู้ผลิตหมากหอมเยาวราช และยาแผนปัจจุบัน) และ ร.ต.อ.สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ (เจ้าของห้างขายยาโอสถสภา (เต็กเฮงหยู) ผู้ผลิตยาแผนปัจจุบัน) ได้รวมตัวกันดำเนินการจัดตั้งสมาคมเพื่อผดุงอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศขึ้น ครูประดิษฐ์ได้มีส่วนช่วยให้คำแนะนำปรึกษา จนในที่สุด สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน (Thai Pharmaceutical Manufacturers Association หรือ TPMA) ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นในวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2512 

 

เภสัชกรเกษม ปังศรีวงศ์

นายพิชัย รัตตกุล 

ร.ต.อ.สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์

เภสัชกรประดิษฐ์ หุตางกูร

ครูประดิษฐ์ได้นำความรู้และความสามารถมาพัฒนาการเรียนการสอนด้านเภสัชอุตสาหกรรมในระดับปริญญาตรีของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อีกทั้งยังมีส่วนช่วยในการวางแนวการสอนเภสัชอุตสาหกรรมให้แก่คณะเภสัชศาสตร์อื่น ๆ และรับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษไปสอนให้คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อผลิตเภสัชกรออกไปทำงานในสาขาเภสัชอุตสาหกรรมที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว

ครูยังเป็นผู้ผลักดันให้เกิดหลักสูตรเภสัชศาสตรมหาบัณฑิตสาขาเภสัชอุตสาหกรรมขึ้นที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยเป็นหลักสูตรแรกของสาขานี้ในประเทศไทย และเริ่มรับนักศึกษารุ่นแรกในปีการศึกษา 2519

ในปี พ.ศ. 2521 ครูประดิษฐ์ได้ทำงานวิจัย เรื่อง “เภสัชอุตสาหกรรมในประเทศไทย” โดยได้รับทุนจาก UNAPDI (United Nation Asian and Pacific Development Institute) เนื่องจากพบว่า ข้อมูลและสถิติต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติในด้านยา เช่น ปริมาณความต้องการยาของประเทศ ปริมาณการสั่งซื้อยาจากต่างประเทศ ปริมาณการผลิตยา ฯลฯ ยังไม่มีผู้ใดศึกษาและรวบรวมไว้อย่างเป็นระบบและละเอียดพอที่จะใช้สำหรับช่วยในการวางนโยบายสาธารณสุขของประเทศในระดับสูง

 

 

เมื่อรายงานฉบับนี้ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ออกมา ส่งผลให้ภาครัฐบาลและภาคเอกชนเกิดความตื่นตัวในการกำหนดแผนงานการสาธารณสุขให้รัดกุมและตรงตามเป้าหมายมากยิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้จากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยาได้นำสถิติจากงานวิจัยนี้ไปอ้างอิงกันเป็นจำนวนมาก 

แม้ธุรกิจอุตสาหกรรมยาเจริญก้าวหน้าเป็นอย่างมาก แต่ ครูประดิษฐ์ยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมยายิ่งขึ้นไปอีก โดยนอกจากการพัฒนาตำรับยาที่ทำโดยใช้เครื่องมือขนาดเล็กในห้องทดลองของคณะฯ แล้ว ก็ควรที่จะได้ทดลองเพิ่มปริมาณการผลิต (scale-up) เพื่อให้สามารถผลิตในระดับอุตสาหกรรมได้จริง ครูจึงมองไปในอนาคตที่จะจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมยาขนาดเล็กขึ้นในคณะเภสัชฯ มหิดล และได้ส่งต่อแนวคิดนี้ให้อาจารย์ในภาควิชาเภสัชอุตสาหกรรมที่ขณะนั้นไปศึกษาระดับปริญญาเอกที่ต่างประเทศให้เก็บเกี่ยวประสบการณ์การตั้งโรงงานอุตสาหกรรมยาในคณะเภสัชศาสตร์ โดย ครูประดิษฐ์ มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนเพื่อให้อาจารย์และนักศึกษาได้มีประสบการณ์เพิ่มในเรื่องการผลิตยาในระดับอุตสาหกรรม และรับพัฒนาตำรับให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมยาด้วย โดยไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตยาขายแข่งกับโรงงานยา เพราะครูทราบดีว่าการตั้งโรงงานผลิตยาเพื่อขายนั้นต้องพร้อมทั้งด้านการผลิตและจำหน่าย แม้จะใกล้เกษียณอายุราชการแล้ว แต่ ครูประดิษฐ์ ก็เริ่มพูดคุยกับผู้บริหารมหาวิทยาลัย เตรียมบุคลากรและเครื่องมือ และเกิดการสานต่อโดย ศ.สุคนธ์ พูนพัฒน์ คณบดีท่านต่อมา ในที่สุดการตั้งโรงงานยาของคณะฯ ก็สำเร็จ จึงนับเป็นคณะเภสัชศาสตร์แห่งแรกในประเทศไทยที่นักศึกษาได้มีประสบการณ์การผลิตระดับอุตสาหกรรม และเป็นโรงงานผลิตยาในสถานศึกษาที่เป็นต้นแบบ ซึ่งคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอื่นๆ หลายแห่งได้เห็นความสำคัญ และได้มีการดำเนินการเช่นกันในเวลาต่อมา

 

โรงงานยาคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ยุคเริ่มต้น ตั้งอยู่ที่อาคาร 5 ชั้น 2 ซึ่งปัจจุบันเป็นห้องสมุด อาคารวิจัยประดิษฐ์ หุตางกูร และโรงงานยาอยู่ในระหว่างก่อสร้างที่ศาลายา

 

ปัจจุบันนี้อุตสาหกรรมยาในประเทศไทยได้พัฒนาก้าวหน้ามาไกลจากจุดเริ่มต้นที่ ครูประดิษฐ์เคยร่วมก่อร่างสร้างมา จนสามารถผลิตยาใช้ได้เองและลดการนำเข้ายาได้เป็นจำนวนมาก เบื้องหลังของความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้นกล่าวได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า ครูประดิษฐ์คือหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการทำงานด้านเภสัชอุตสาหกรรมในประเทศไทย บุคลากรที่ทำงานด้านอุตสาหกรรมยาเป็นจำนวนมาก ล้วนแล้วแต่เคยเป็นลูกศิษย์ของครูประดิษฐ์ผู้สมถะและมากความสามารถท่านนี้

 

เอกสารอ้างอิง

อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นาย ประดิษฐ์ หุตางกูร ป.ม., ท.ช.. (2528). อาจารย์ประดิษฐ์ กับงาน
        เภสัชอุตสาหกรรม. (หน้า 105 – 108). ม.ป.ท.

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
Copyright © 2021 - 2024
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
การใช้และการจัดการคุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา