ชีวประวัติอาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร

คณบดีท่านแรกของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ย้อนเวลาไปเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2465 ที่อำเภอขันเงิน จังหวัดหลังสวน (ปัจจุบัน คือ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร) ในครอบครัวของขุนสารธนพิทักษ์ (นายยุก้วน หุตางกูร) และนางเขียม (วิชัยดิษฐ์) หุตางกูร ได้ต้อนรับการเกิดของเด็กชายประดิษฐ์ หุตางกูร มาเป็นบุตรคนที่สี่ โดยมีน้องอีก 5 คน แต่ถึงแก่กรรมตั้งแต่เด็ก 2 คน ครอบครัวจึงคงมีบุตรเพียง 7 คน

เด็กชายประดิษฐ์ หุตางกูร เริ่มต้นเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนสวนศรีวิทยา จังหวัดชุมพร แล้วย้ายตามครอบครัวไปเรียนที่โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา ตั้งแต่ชั้นประถมปปีที่ 3 จนจบชั้นมัธยมปีที่ 5 จากนั้นจึงเข้ากรุงเทพมาเรียนต่อที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ ปากคลองตลาด จนจบชั้นมัธยมปีที่ 6 แล้วได้ผ่านการสอบคัดเลือกเข้าเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งขณะนั้นเรียกว่าเตรียมจุฬา ขณะเรียนอยู่เตรียมจุฬา ปีที่ 2 นายประดิษฐ์ หุตางกูร สอบได้ทุน ก.พ. เข้าเรียนแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลักสูตร 4 ปี รุ่นที่ 3
เมื่อศึกษาชั้นปีที่ 1 ช่วงปลายปี ก็เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่ 2 จนมหาวิทยาลัยต้องเปิดๆปิดๆ เพื่อให้นักศึกษาปลอดภัย อย่างไรก็ตามนักเรียนหมอยารุ่นสงครามโลก ก็เรียนจนจบหลักสูตร ได้รับปริญญาเภสัชศาสตร์บัณฑิตในปี พ.ศ. 2489 และเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีพิธีพระราชทานปริญญาบัตรนับตั้งแต่ได้สถาปนาคณะเภสัชศาสตร์ขึ้นมา บัณฑิตเภสัชศาสตร์รุ่นนี้มีจำนวน 42 คน และเภสัชกรประดิษฐ์ หุตางกูรสำเร็จการศึกษาด้วยผลการเรียนดีเยี่ยม ได้รับรางวัลเหรียญทอง

ภายหลังสำเร็จการศึกษาปริญญาเภสัชศาสตร์บัณฑิต เภสัชกรประดิษฐ์ หุตางกูร เริ่มทำงานที่ร้านขายยาของนายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล (บุญส่งฟาร์มาซี) ทำได้ 2 ปี จึงสมัครเข้ารับราชการเป็นอาจารย์ภาควิชาเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2495 สมรสกับเภสัชกรหญิง ขเสม (บำรุงสวัสดิ์) หุตางกูร มีบุตรชาย 1 คน คือ ดร. ปกขวัญ หุตางกูร ปัจจุบันรับราชการตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
ต่อมาในปี พ.ศ. 2498 อาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร สอบได้ทุน I.C.A. ไปเรียนวิชาเภสัชอุตสาหกรรม ที่ School of Pharmacy, Purdue University ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับปริญญา M.S. (Master of Science) ในปี พ.ศ. 2500 และได้ฝึกงานที่ NIH (National Institute of Health) ก่อนกลับประเทศไทย และในระหว่างเรียนที่ School of Pharmacy อาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูรได้เรียนวิชา Physics ที่ School of Physics ด้วย และได้กลับมาเป็นผู้เริ่มสอนวิชา Physical Pharmacy แก่นักศึกษาเภสัชศาสตร์ ในด้านการทำงาน อาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่รักษาการเลขานุการคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2507 และหนึ่งปีต่อมา ได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าภาควิชาเภสัชอุตสาหกรรม อีกตำแหน่งหนึ่ง พร้อมทั้งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ร่างโครงการก่อตั้งคณะเภสัชศาสตร์แห่งใหม่ขึ้นเป็นคณะที่สองในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เพื่อเพิ่มการผลิตเภสัชกรให้มีจำนวนมากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของกระทรวงสาธารณสุขที่ขาดแคลนเภสัชกรในขณะนั้นจนเป็นเหตุให้ปรากฏข่าวอันตรายจากการใช้ยาอยู่เนืองๆ โครงการฯได้รับการบรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะที่ 2 (พ.ศ. 2510-2514) และ มีพระราชกฤษฏีกาจัดตั้งคณะเภสัชศาสตร์ พญาไท ใน พ.ศ. 2511 โดยให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ดำรงตำแหน่งรักษาการคณบดี และอาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยคณบดี คณะเภสัชศาสตร์ พญาไท

อาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร ดำเนินการตามโครงการฯ ทันที ทั้งเรื่องบุคลากรและสถานที่ และสามารถเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกได้ในปี พ.ศ. 2512 ปีเดียวกับที่มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ได้รับพระราชทานนามเป็นมหาวิทยาลัยมหิดล ระหว่างปี พ.ศ. 2513-2515 อาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรักษาการคณบดี และดำรงตำแหน่งคณบดีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 จนเกษียณอายุราชการในปี พ.ศ. 2526 นับเป็นคณบดีคนแรกของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และในระหว่างปี พ.ศ. 2519-2522 ได้ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อีกตำแหน่งหนึ่ง

นอกจากการก่อตั้งและวางรากฐานของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แล้ว อาจารยประดิษฐ์ หุตางกูร ยังริเริ่มให้มีการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา โดยมีหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเภสัชศาสตร์ เป็นหลักสูตรแรกของคณะฯ ริเริ่มจัดฟื้นฟูวิชาการแก่เภสัชกรโดยจัดงานประชุมวิชาการด้านเภสัชกรรมคลินิก เป็นงานแรกของคณะฯ และริเริ่มงานบริการทางวิชาการหลายด้าน ได้แก่ โครงการคลังข้อมูลยา โครงการจัดทำมาตรฐานสมุนไพร โครงการพัฒนายาไทย โครงการศูนย์ข้อมูลสมุนไพร โครงการพัฒนาตำรับยาจากสมุนไพร จัดทำหนังสือ “ยาใหม่ในประเทศไทย” และเปิดร้านยาในคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นร้านยาแห่งแรกของสถานศึกษาด้านเภสัชกรรมของประเทศไทย ซึ่งในเวลาต่อมา กลายเป็นมาตรฐานของสภาเภสัชกรรมว่า มหาวิทยาลัยที่จะมีการจัดตั้งคณะเภสัชศาสตร์ขึ้น ต้องมีร้านยาเป็นของตนเองเพื่อใช้ในการเป็นแหล่งฝึกงานของนักศึกษาและให้คำปรึกษาเรื่องยาแก่ประชาชนผู้เข้ามาใช้บริการ
ในด้านเกียรติประวัติ อาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นประถมาภรณ์มงกุฏไทย (ป.ม.) เมื่อ พ.ศ. 2521 และปริญญาเภสัชศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เมื่อ พ.ศ. 2526 ล่าสุด อาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร ได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็น 1 ใน 131 ปูชนียบุคคล เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี วันพระราชทานนาม 131 ปี มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อ พ.ศ. 2562
อาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร เกษียณอายุราชการ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2526 แต่ท่านยังคงทำงานให้ราชการโดยเป็นประธานกรรมการ และกรรมการในคณะกรรมการหลายคณะ เช่น คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา คณะอนุกรรมการทำแผนสมุนไพรแห่งชาติ เป็นต้น และเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2528 ในระหว่างการประชุมคณะกรรมการแห่งชาติด้านยา อาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวกระทันหันและเสียชีวิตลงในเวลา 14.40 น.
 

 
พ.ศ. 2465

15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2465 อ.ประดิษฐ์ ถือกำเนิดในครอบครัวของขุนสารธนพิทักษ์ (นายยุก้วน หุตางกูร) และนางเขียม (วิชัยดิษฐ์) หุตางกูร ในจังหวัดหลังสวน (ปัจจุบัน คือ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร)

พ.ศ. 2489

สำเร็จการศึกษาปริญญาเภสัชศาสตร์บัณฑิต ด้วยผลการเรียนดีเยี่ยม ได้รับรางวัลเหรียญทอง

พ.ศ. 2489-2491

ทำงานที่ร้านขายยาของนายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล (บุญส่งฟาร์มาซี)

พ.ศ. 2491

เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ภาควิชาเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์

พ.ศ. 2495

สมรสกับเภสัชกรหญิง ขเสม (บำรุงสวัสดิ์) หุตางกูร มีบุตรชาย 1 คน คือ ดร. ปกขวัญ หุตางกูร

พ.ศ. 2498-2500

สอบได้ทุน I.C.A. ไปเรียนวิชาเภสัชอุตสาหกรรม ที่ School of Pharmacy, Purdue University ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับปริญญา M.S. (Master of Science)

พ.ศ. 2507

ทำหน้าที่รักษาการเลขานุการคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์

พ.ศ. 2508

ได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าภาควิชาเภสัชอุตสาหกรรม

พ.ศ. 2511

ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยคณบดี คณะเภสัชศาสตร์ พญาไท

พ.ศ. 2515-2526

ดำรงตำแหน่งคณบดี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นับเป็นคณบดีคนแรกของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

พ.ศ. 2519-2522

ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อีกตำแหน่งหนึ่ง

พ.ศ. 2526-2528

เกษียณอายุราชการ แต่ยังคงทำงานเป็นประธานกรรมการ และกรรมการในคณะกรรมการหลายคณะ เช่น คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา คณะอนุกรรมการทำแผนสมุนไพรแห่งชาติ

พ.ศ. 2528

อ.ประดิษฐ์ หุงตางกูร เสียชีวิตในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2528

 

 
ที่มา:
  • ชมรมศิษย์เก่าเภสัชมหิดล (บรรณาธิการ). ที่ระลึกในงานเกษียณอายุราชการ อาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร 25 กันยายน 2526. กรุงเทพ:ชมรมศิษย์เก่าเภสัชมหิดล, พ.ศ. 2526.
  • สุคนธ์ พูนพัฒน์, สุทิน ศิริไพรวัน, เสริมสิริ วินิจฉัยกุล, นันทวัน บุญยะประภัศร, ธิดา นิงสานนท์, หนู สมจรรยากุล, สุวัฒนา จุฬาวัฒนทล, ราตรี ฆ้องประสูติ, อุดม สุขพิพัฒน์ (บรรณาธิการ). อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายประดิษฐ์ หุตางกูร 29 สิงหาคม 2528. กรุงเทพ:คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, พ.ศ. 2528.
  • บุญยงค์ ตันติสิระ, สุรพงษ์ เก็งทอง, ชัยชนะ เตชะวัชรเทพ, นฤพร สุตัณฑวิบูลย์, จิตติมา ศรีสมบูรณ์, กุลวรา เมฆสวรรค์, ณัฐสราจิรันดร,นิมิต คุ้มทอง, พัชรินทร์ ฮั่นพิพัฒน์, บุญเลิศ ฉายเหมือนวงศ์, วลัยศิริ ม่วงศิริ (บรรณาธิการ). 90 ปีการศึกษาเภสัชศาสตร์และคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. กรุงเทพ:คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พ.ศ. 2547.
  • ธิดา นิงสานนท์, ปรานี ภิญโญวัฒยากร, สุวัฒนา จุฬาวัฒนทล (บรรณาธิการ). รำลึกอาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร ชีวิตและผลงานของหมอยาใหญ่แห่งวงการเภสัชกรรมไทย. กรุงเทพ:มูลนิธิคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, พ.ศ. 2558.

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
Copyright © 2021 - 2024
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
การใช้และการจัดการคุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา