ผลงานของ อ.ประดิษฐ์

ผลงานสำคัญที่ผ่านมาของอาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร
   

คณะใหม่ หลักสูตรใหม่ เภสัชกรรมคลินิก

คณะใหม่ หลักสูตรใหม่ เภสัชกรรมคลินิก

1961  Views  

เมื่อครูประดิษฐ์ หุตางกูร ก่อตั้งคณะเภสัชศาสตร์ คณะที่สองของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2511 นั้น หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิตมีระยะเวลาศึกษา 5 ปี แต่ด้วยวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของครู ดังที่ครูเคยกล่าวไว้ว่า “เภสัชกรควรมีบทบาทในการดูแลผู้ป่วยร่วมกับแพทย์ และพยาบาล เภสัชกรควรมีความสามารถทบทวนและติดตามการใช้ยาของผู้ป่วย” ประกอบกับปณิธานที่จะดำเนินการสร้างบัณฑิตทางเภสัชศาสตร์ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการแก้ปัญหาการใช้ยาไม่ถูกต้องของประชาชน ครูจึงบรรจุ วิชาเภสัชกรรมคลินิก เป็นวิชาบังคับไว้ในหลักสูตร ซึ่งต่างจากคณะเภสัชศาสตร์คณะแรกที่อยู่ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม ครูประดิษฐ์ จึงขอทุน ก.พ. เพื่อส่ง อาจารย์เฉลิมศรี ภุมมางกูร (ตำแหน่งวิชาการในสมัยนั้น) ไปศึกษาวิชาการด้านเภสัชกรรมคลินิกจากประเทศสหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกันได้เริ่มติดต่ออาจารย์แพทย์จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้มาสอนนักศึกษาเภสัชศาสตร์ การจัดการเรียนการสอนวิชาเภสัชกรรมคลินิกเริ่มต้นขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2516 ซึ่งเป็นปีที่นักศึกษารุ่นแรกของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อยู่ในชั้นปีที่ 5 นักศึกษามีโอกาสไปดูผู้ป่วยในโรงพยาบาลทั้งสองแห่ง เรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่นักศึกษาเภสัชศาสตร์ได้ไปเรียนข้างเตียงผู้ป่วย และได้เรียนรู้การรักษาผู้ป่วยด้วยยา ตลอดจนการติดตามประสิทธิผลและอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย กล่าวได้ว่าหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต ของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหลักสูตรแรกที่เน้นผู้ป่วย (patient-oriented) และเป็นต้นแบบให้เกิดการพัฒนาหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิตในคณะต่าง ๆ ในทิศทางเดียวกันตามการพัฒนาของวิชาชีพ

 

หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต รุ่นที่ 1 (พ.ศ. 2512-2516) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

ครูประดิษฐ์ ยังเห็นว่าวิชาการทางเภสัชกรรมคลินิกต้องมีการพัฒนาต่อไป จึงได้เปิดหลักสูตรปริญญาโทสาขาเภสัชกรรมคลินิกขึ้นในปีการศึกษา 2519 นับเป็นหลักสูตรแรกของประเทศไทย และคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับเลือกจากทบวงมหาวิทยาลัย (ปัจจุบันคือ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม) ให้เป็นสถาบันการศึกษาหลักด้านเภสัชอุตสาหกรรมและเภสัชกรรมคลินิก ในการผลิตอาจารย์ให้แก่คณะเภสัชศาสตร์ที่เปิดขึ้นใหม่ ตามโครงการผลิตและพัฒนาอาจารย์ (UDC; University Development Commission) เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนอาจารย์เภสัชศาสตร์ ซึ่งจากการสำรวจของทบวงมหาวิทยาลัยใน พ.ศ. 2535 ในเวลานั้นมีคณะเภสัชศาสตร์ 8 คณะ และมีความต้องการอาจารย์ทั้งประเทศเพิ่มขึ้นถึง 530 คน 

จากการวางรากฐานของ ครูประดิษฐ์ หุตางกูร จะเห็นได้ว่า ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมา จากวิชาเภสัชกรรมคลินิก หลักสูตร 5 ปีที่เน้นผู้ป่วย และหลักสูตรปริญญาโทสาขาเภสัชกรรมคลินิก ณ เวลานั้น ก่อเกิดการพัฒนาต่อเนื่องจนมาเป็นหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต 6 ปี หลักสูตรเภสัชศาสตรมหาบัณฑิตสาขาเภสัชกรรมคลินิก หลักสูตรปรัชญาดุษฏีบัณฑิตสาขาเภสัชกรรมคลินิก และหลักสูตรวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม สาขาเภสัชบำบัด ในปัจจุบัน

 

ผู้สำเร็จปริญญาโทสาขาเภสัชกรรมคลินิก ปี พ.ศ. 2550

 

นอกจากการวางรากฐานการเรียนการสอนทางเภสัชกรรมคลินิกในมหาวิทยาลัยแล้ว ครูประดิษฐ์ได้เล็งเห็นความจำเป็นขององค์ความรู้ทางยาที่ถูกต้องและทันสมัย จึงได้จัดการประชุมวิชาการให้แก่เภสัชกรโรงพยาบาลเพื่อเป็นการฟื้นฟูวิชาการ ในยุคแรกเรียกว่า การฟื้นฟูวิชาการด้านเภสัชกรรมคลินิก และได้มีการจัดประชุมครั้งที่ 1 ขึ้นที่ห้องประชุมคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อ พ.ศ. 2518 และจัดต่อเนื่องเรื่อยมา นอกจากนี้ ครูประดิษฐ์ยังจัดอบรมความรู้ด้านยาและโรคที่พบในร้านยาให้แก่เภสัชกรร้านยาอีกด้วย และได้จัดให้มีการประชุมวิชาการด้านเภสัชกรรมชุมชนครั้งที่ 1 ขึ้นที่ห้องประชุมคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อ พ.ศ. 2525 การจัดประชุมเภสัชกรรมคลินิกและเภสัชกรรมชุมชนได้ดำเนินการต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี จนถึงปัจจุบัน และมีการปรับเปลี่ยนชื่อการประชุมให้เข้ากับยุคสมัย อาทิเช่น การประชุมวิชาการ Advances in Pharmacotherapy and Pharmacy Practice การประชุมวิชาการ Pharmacotherapy of Interesting Common Diseases การประชุมวิชาการ Drug Interactions: From PK/PD to Patient Safety & Optimal Outcomes (DI-P2) เป็นต้น ทำให้เภสัชกรโรงพยาบาลและร้านยาได้มีการเรียนรู้ภายหลังสำเร็จการศึกษาและมีองค์ความรู้ที่ทันสมัยและสามารนำไปปฏิบัติได้ นับเป็นต้นแบบของการให้การศึกษาต่อเนื่อง (Continuing Pharmaceutical Education; CPE) ที่สภาเภสัชกรรมกำหนดให้เภสัชกรทุกคนต้องเก็บหน่วยกิตให้ได้ 100 หน่วยกิตต่อ 5 ปีเพื่อที่จะต่ออายุใบประกอบวิชาชีพ ที่เดิมเรียกชื่อว่าใบประกอบโรคศิลป

 

ครูประดิษฐ์ หุตางกูร กล่าวเปิดงานและบรรยายในการฟื้นฟูวิชาการด้านเภสัชกรรมคลินิก ครั้งที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2518

 

หนังสือประกอบการประชุมวิชาการเภสัชกรรมคลินิก

 

หนังสือประกอบการประชุมวิชาการเภสัชกรรมชุมชน

 

ครูประดิษฐ์ยังมีดำริในการจัดตั้งคลังข้อมูลยาขึ้นในปี พ.ศ. 2526  เพื่อทำหน้าที่เป็นแหล่งข้อมูลยาให้แก่บุคลากรสาธารณสุข เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลยาที่ทันสมัย และนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยได้ อันเป็นรากฐานที่สำคัญของงานเภสัชกรรมคลินิก เฉกเช่นเดียวกับจุดเริ่มต้นของงานเภสัชกรรมคลินิกในต่างประเทศ  รวมถึงการให้ข้อมูลการใช้ยาที่ถูกต้องแก่ประชาชน การดำเนินการจัดตั้งคลังข้อมูลยา มีผู้ร่วมก่อตั้งหลายท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์ ฉวี บุนนาค ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ลิ้นจี่ หวังวีระ รองศาสตราจารย์ เฉลิมศรี ภุมมางกูร และ รองศาสตราจารย์ ธิดา นิงสานนท์ เมื่อแรกเริ่ม คลังข้อมูลยาจัดเป็นโครงการเฉพาะกิจที่สิ้นสุดภายใน 5 ปี ตามระเบียบราชการในยุคนั้น ต่อมาในสมัยที่ รองศาสตราจารย์ ปราณี ใจอาจ ดำรงตำแหน่งคณบดี (พ.ศ. 2530 ถึง 2534) รองศาสตราจารย์ เฉลิมศรี ภุมมางกูร ซึ่งดำรงตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายพัฒนาและวางแผนในขณะนั้นได้เสนอให้โครงการนี้เข้าเป็นหนึ่งในงานบริการวิชาการของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตามแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาระยะที่ 6 ทำให้คลังข้อมูลยาเปลี่ยนสถานภาพจากโครงการเฉพาะกิจเป็นหนึ่งในหน่วยงานบริการวิชาการของคณะเภสัชศาสตร์นับแต่นั้นเป็นต้นมา มีการจัดทำหนังสือยาใหม่ในประเทศไทยที่ใช้เป็นแหล่งข้อมูลอ้างอิงสำหรับโรงพยาบาลในการจัดซื้อยา  จนถึงปัจจุบัน คลังข้อมูลยายังคงยืนหยัดทำหน้าที่จัดทำข่าวยา สารคลังข้อมูลยา (ที่มีบทความการศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์) เกร็ดความรู้สู่ประชาชน และตอบปัญหาเรื่องยาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้บริการข้อมูลด้านยาที่ถูกต้องและมีคุณภาพ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและบุคลากรทางสาธารณสุขสาขาต่าง ๆ ให้มากที่สุด

 

หนังสือยาใหม่ในประเทศไทย เล่ม 1 

 

สารคลังข้อมูลยา

 

ผลงานอื่นๆของ อ.ประดิษฐ์

คุณูปการของครูประดิษฐ์ในการพัฒนาสมุนไพรไทย...

อ่านแล้ว 1628 ครั้ง

การก่อตั้งคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ...

อ่านแล้ว 2639 ครั้ง

คณะใหม่ หลักสูตรใหม่ เภสัชกรรมคลินิก...

อ่านแล้ว 1962 ครั้ง

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด

ความสำเร็จของวิชาชีพเภสัชกรรม เกิดจากความรู้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคยา มีการเสี่่ยงต่ออันตรายจากยาที่ใช้ให้น้อยที่สุด แต่ได้รับผลในการป้องกัน หรือบำบัดโรคมากที่สุด
ประดิษฐ์ หุตางกูร
Copyright © 2021 - 2025
งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
การใช้และการจัดการคุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา